หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕
จิตเป็นของแปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์
การฝึกหัดเบื้องต้นก็ต้องมียากเป็นธรรมดา แม้ว่าท่านผู้ตั้งใจทำจริง ๆ มีหน้าที่แก้ไขกิเลสโดยถ่ายเดียว เช่นกับนักบวช เป็นต้น การฝึกฝนอบรมเบื้องต้นรู้สึกลำบาก บางทีถึงกับจะให้เกิดความท้อใจ ให้สงสัยตัวเองว่าจะไปรอดหรือไม่รอด พร้อมกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้าศึกต่อนิสัยของปุถุชนจะพึงปรารถนา สถานที่บางแห่ง เช่นในป่าในเขา เวลาเราไปอยู่ในที่เช่นนั้น สิ่งที่ทำความลำบากย่อมมีมาก เพราะสถานที่เราอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน บางแห่งถึง ๖-๗ กิโลเมตรก็มี ตื่นเช้าพอสว่างออกบิณฑบาต กว่าจะกลับไปถึงที่ก็จวนเที่ยง จากนั้นแล้วพยายามฝึกหัดรู้ความเคลื่อนไหวของใจ
ตามธรรมดาของใจย่อมมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มีความคิด ความเห็นมากอย่าง ต้องพยายามฝึกหัดติดตามความเคลื่อนไหวของเรา ความชำนาญและความมีสติจะเริ่มปรากฏตัวขึ้นมา ตามธรรมดาของใจย่อมเป็นนิสัยชอบกดขี่บังคับเสมอ ถ้าปล่อยตามอำเภอใจจะเป็นการลำบากทีเดียว เช่นเราอยู่ในวัด ซึ่งเป็นสถานที่ธรรมดา จิตก็ฝึกหัด จิตอบรมยาก จะหยั่งเข้าสู่ความสงบแต่ละครั้งรู้สึกลำบาก พอแยกย้ายออกจากสถานที่เช่นนั้นเข้าไปอยู่ที่เปลี่ยว ซึ่งเป็นสถานที่น่ากลัว ใจก็ไม่ค่อยจะได้ถูกบังคับเท่าไร ก้าวลงสู่ความสงบได้ง่าย ทั้งวันทั้งคืนเราอยู่ด้วยความมีสติ ใจในเมื่อมีสติเป็นเครื่องปกครองรักษาแล้ว ภัยที่จะเกิดขึ้นให้ได้รับความเดือดร้อน หรือฟุ้งซ่านรำคาญก็ไม่ค่อยมี จะมีแต่ความเงียบและความเย็นใจตลอดเวลา
ถ้าเราจะพิจารณาในทางปัญญา ตรองดูสภาวธรรมที่มีอยู่รอบตัวเราก็จะพิจารณาได้สะดวก เพราะจิตอยู่ในกรอบ มีสติเป็นรั้วกั้น ความเยือกเย็นเป็นไปทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อใจเรามีความสงบมากเท่าไร ความแน่นหนามั่นคงของใจก็ยิ่งเพิ่มกำลังขึ้น การรวมสงบจิตก็อยู่ได้นาน ความสงบของจิตไม่มีเพียงชั้นเดียว ยังมีหลายชั้น คือจิตรวมลงไปชั้นหนึ่ง ไม่สู้จะละเอียดเท่าไร ถึงชั้นที่สองละเอียดลงไปมาก ถึงชั้นที่สามกายก็ไม่เหลืออยู่ในความรู้สึกนั้น ไม่ปรากฏอันใดทั้งสิ้น เหลือแต่ธรรมชาติความสุขและมีสติกับความรู้เท่านั้น ขณะจิตได้รวมลงเช่นนั้น จะว่าเรารักษาจิตด้วยสติก็ไม่ถนัด สติกับความรู้เลยกลายเป็นอันเดียวกัน ไม่ทราบว่าใครจะพยายามรักษาใคร รู้อยู่เท่านั้น แม้อวัยวะจะมีอยู่ก็ไม่ปรากฏ
เมื่อรู้สึกว่ากายของเราไม่มีแล้ว เวทนาก็หมดไป ไม่มีอันใดเหลือ นี้เรียกว่าจิตลงอย่างละเอียดเต็มที่ และพักอยู่ได้นานๆ บางครั้งตั้งสามสี่ชั่วโมงก็ยังไม่ถอนขึ้นมา เมื่อถอนขึ้นมาแล้ว เราจะกำหนดย้อนคืนไปในอดีต และความเป็นอยู่ของเราในขณะรวมและพักสงบอยู่ รู้สึกว่าเป็นของที่แปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์มาก ความเห็นภัยในวัฏสงสารก็มีกำลังมากขึ้น ความเห็นคุณที่จะยกฐานะคือจิตใจของตนให้ก้าวขึ้นระดับสูงขึ้นไปกว่านั้น ก็มีกำลังกล้าอีกเช่นเดียวกัน เวลาจิตถอนออกมาแล้ว ถ้าจิตควรแก่การพิจารณาด้วยปัญญา ก็ต้องค้นคว้าในความเป็นอยู่ของกาย จนกระทั่งว่ากายของเราทุกส่วนได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยปัญญาจนเพียงพอ ไม่มีส่วนใดๆ จะยังเหลืออยู่ให้เป็นตัวอุปาทาน คือความยึดมั่นในส่วนกาย
เมื่อปัญญาได้พิจารณาส่วนร่างกายจนเพียงพอถึงกับได้ถอนอุปาทาน คือถือมั่นในกายจนไม่มีอะไรเหลือแล้ว ต่อจากนั้นจะเป็นสภาพที่ว่างเปล่า แม้จะปรุงขึ้นมาก็สักแต่ว่าปรากฏชั่วขณะเดียว เหมือนอย่างฟ้าแลบก็ดับไป เป็นความว่างประจำจิต คำว่า ความว่างประจำจิตนี้เป็นความว่างจากร่างกายอันนี้ และจะเหลือภาพอันหนึ่งขึ้นที่จิต แต่อาศัยภาพของกายอันหยาบนี้ไปปรากฏอยู่ภายใน ก็พิจารณาภาพนั้นให้เป็นไปลักษณะเช่นเดียวกับส่วนแห่งกายทั้งหลาย เมื่อปัญญาพอแล้ว ภาพภายในนี้ก็ดับไป ไม่มีอะไรเหลือ จะเหลือแต่ความว่างกับจิต แม้เราจะปรุงในส่วนรูปกาย หรือปรุงขึ้นเป็นต้นไม้ ภูเขา ตึกรามบ้านช่อง ก็จะปรากฏคล้ายกับสายฟ้าแลบเท่านั้น ก็ดับไปพร้อมกัน
ข้อนี้จะเป็นเพราะอำนาจปัญญา หรือเพราะเหตุไรก็สันนิษฐานยากอยู่ แต่ก่อนเราพิจารณาคล่องแคล่วในส่วนร่างกายนี้ จะให้ตั้งอยู่นาน หรือจะขยายแยกส่วนแบ่งส่วนให้เล็กให้โตก็ได้ เมื่อถึงปัญญาขั้นนี้ปรากฏการณ์จึงแปรรูปไปเป็นลำดับ เช่น รูปกายที่เราได้พิจารณาให้ตั้งอยู่ หรือขยายแยกส่วนแบ่งส่วนได้ตามต้องการ หรือให้ตั้งอยู่นานเท่าไรก็เท่านั้น มันก็ดับไปหมด เราจะยับยั้งไว้ไม่ได้เหมือนที่เคยเป็นมา พอตั้งขึ้นก็ดับไปพร้อม ๆ กัน กลายเป็นอากาศธาตุว่างไปหมด ไม่เพียงแต่ว่าส่วนแห่งกายและจิต แม้สภาวะทั่ว ๆ ไปทั้งด้านวัตถุ เช่น ต้นไม้ ภูเขา เวลาเรามองดูด้วยสายตาของเราก็เห็นชัด แต่เมื่อพลิกสายตากลับมาเท่านั้นแล้ว สภาพต้นไม้ ภูเขา ปรากฏขึ้นในจิตแทนกับสายตาของเราที่เคยเห็น จะปรากฏในมโนภาพเพียงขณะเดียวก็ดับ สิ่งที่คงเหลืออยู่ก็คือความว่างเท่านั้น ความว่างอันนี้เป็นอารมณ์ของจิต หากว่าปัญญาไม่รอบคอบจะต้องติดในความว่างอันนี้เหมือนกัน เพราะความว่างนี้เป็นอารมณ์ของจิต หรือสิ่งที่จะทำให้ติดได้
ความว่างกับจิตคล้ายกับว่าเป็นอันเดียวกัน แต่ไม่ใช่อันเดียวกัน เมื่อเราพิจารณาให้ชัดจะเห็นความว่าง และเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณปรากฏเด่นอยู่ในจิต ส่วนร่างกายเมื่อปัญญาพอแล้วต้องปล่อยวางจริง ๆ เราจะกำหนดขึ้นมาพิจารณาแยกส่วนแบ่งส่วนเหมือนอย่างที่ทำมานั้นเป็นไปไม่ได้ ยังเหลือแต่เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ต้องพิจารณาตามสภาพของส่วนนั้น ๆ เช่นเดียวกับร่างกาย มีไตรลักษณะเป็นต้น แต่ว่าการพิจารณาในอาการทั้ง ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เรามีความดูดดื่มหรือพอใจในส่วนใดก็ตาม เป็นเหตุที่จะให้เข้าใจในอาการนั้น ๆ ชัดเจนเช่นเดียวกัน การทดสอบ การพิสูจน์ในความเกิดขึ้นแห่งความคิด ความปรุง หรือความสำคัญใดๆ ที่เป็นขึ้นในจิต ก็จะเห็นในทุกขณะที่บังเกิดขึ้น ตั้งอยู่หรือดับไป
ถ้าปัญญาของเรารู้เท่าแล้ว นั่งอยู่ที่ไหน ธรรมกับใจจะสัมผัสกันอยู่ตลอดเวลา ความสัมผัสแห่งธรรมกับใจนั้น แสดงถึงเรื่องไตรลักษณะเป็นส่วนๆ แม้ไม่ต้องนึกคิดไปถึงส่วนภายนอกว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาก็ตาม เพราะส่วนภายนอกกับส่วนแห่งกายนี้เป็นประเภทเดียวกัน ส่วนที่ละเอียดคือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งเป็นภายในล้วนๆ เราพิจารณาเป็นไตรลักษณะ เฉพาะเป็นความสัมผัสซึ่งเกิดขึ้นจากใจ พอสัมผัสอะไรรู้ได้ในขณะนั้น เมื่อเราเห็นไตรลักษณะ หรือว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เพราะผ่านมาแล้ว จึงยังเหลืออยู่แต่ไตรลักษณะภายใน คืออาการของจิตกับจิตซึ่งเป็นตัวอุปาทานเท่านั้น ในเรื่องของสติกับปัญญา จักกำหนดก็ตามไม่กำหนดก็ตาม จะต้องไหวตัวไปตามสิ่งที่มาสัมผัส จะกลายเป็นสติอัตโนมัติไปในตัว คือไหวตัวอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถทั้งหลาย
คำว่า “ปัญญาอัตโนมัติ” นั้น หมายความว่า ปัญญาเป็นไปโดยลำพังตนเอง ไม่มีใครบังคับบัญชา ไม่เหมือนปัญญาในเบื้องต้นซึ่งเป็นไปโดยเชื่องช้า ถ้าจะเทียบก็เหมือนเมื่อเราเริ่มเรียนหนังสือ ทีแรกเรียนสระ เรียนพยัญชนะ แล้วก็มาฝึกหัดการผสมสระ พยัญชนะ อ่านเป็นเนื้อความ เช่น เด็กที่กำลังฝึกใหม่จะอ่านคำว่า “ท่าน” ต้องคิดถึงตัว “ท” คิดถึงสระอา คิดถึงตัว “น” คิดถึงไม้เอก แล้วนำมาผสมกันจึงจะอ่านว่า “ท่าน” ปัญญาในเบื้องต้นต้องเป็นอย่างนี้ พยายามค่อยฝึกหัดค้นคว้าไตร่ตรองอย่างนั้น เรียกว่าปัญญาที่อาศัยความบังคับเป็นพี่เลี้ยง ถ้าไม่อาศัยความบังคับปัญญาก็เดินไม่ได้ และอาศัยสัญญาหมายไว้ก่อน ปัญญาค่อยตรองตาม
ถ้าจะเทียบอุปมาแล้ว ส่วนแห่งร่างกายหรือสภาวธรรมนั้น เป็นเหมือนกับแผ่นกระดาษ สัญญาเป็นเหมือนเส้นบรรทัดซึ่งมีอยู่ในกระดาษนั้น ปัญญาเป็นเหมือนผู้เขียนหนังสือ ตรองไปตามสัญญาที่คาดเอาไว้ ถ้าปัญญามีความชำนาญแล้วในอิริยาบถทั้ง ๔ จะเป็นอิริยาบถที่เต็มไปด้วยความเพียร มีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน สิ่งที่มาสัมผัสก็แสดงว่าเริ่มเกิดภูมิรู้ ความสัมผัสจะต้องไปสัมผัสที่ผู้รู้และกระเทือนถึงผู้รู้ เรื่องสติปัญญาก็จะต้องวิ่ง หรือไหวตัวไปตามสิ่งที่มาสัมผัส เช่นเดียวกับแสงสว่างที่ปรากฏขึ้นกับดวงไฟฉะนั้น เพราะขณะที่เราพิจารณาอยู่ในสภาวธรรม หรือตัวของเรา ซึ่งเป็นอริยสัจอยู่แล้ว มรรคคือข้อปฏิบัติ ได้แก่สติกับปัญญาที่จะพิจารณาไปตามสภาวธรรมซึ่งมาสัมผัส จึงเป็นไปตลอดเวลา จิตจึงกลายเป็นปัจจุบันจิต นี่เรียกอย่างย่อๆ
ปัญญาเพียงพอในการพิจารณากายต้องปล่อยในกายฉันใด ปัญญาเพียงพอในเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ปล่อยได้ฉันนั้น เบื้องแรกใจของเราจะต้องเห็นดีเห็นชั่วนอกไปจากใจ เข้าใจว่าดีกับชั่วนี่อยู่ที่อื่น เช่น เราตำหนิติชมในรูป เสียง เป็นต้น เข้าใจว่าดีกับชั่วมีอยู่ในรูป เสียง จึงสำนึกเลยไปว่า ความคิดว่าดีว่าชั่ว หรือพอใจในความชั่วในสิ่งชั่วนั้น เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราเพ่งเล็ง เมื่อปัญญายังไม่สามารถจับจุดความผิดซึ่งเกิดจากตัวเองได้ จึงเห็นสิ่งที่มาสัมผัสว่าเป็นของควรยึดถือไปหมด ส่วนรูปหรือเสียงเป็นต้นนั้นเป็นสภาพอันหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ความรู้สึกไปสัมผัสเข้าไปแล้วก่อตัวขึ้นมา คือก่อเรื่องที่น่ารักน่าชังเป็นต้นให้เกิดขึ้น
การพิจารณาในสภาวธรรมทั้งหลายก่อนที่จะปล่อยวางได้ เช่น กาย ต้องเห็นความเป็นจริงของส่วนแห่งร่างกายนั้น จนหมดความตำหนิติชมในกาย จึงจะปล่อยวางได้ ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เห็นว่าเป็นสภาพความจริงอย่างหนึ่ง จึงจะปล่อยวางได้ ส่วนสำคัญที่สุดคือผู้รู้ซึ่งเป็นรากฐานแห่งอาการทั้ง ๕ รูปกายนี้ปรากฏขึ้นมาได้เพราะเหตุแห่งใจดวงนี้ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ แต่ละอย่างก็เหมือนกับกิ่งแขนงของต้นไม้ พิจารณาจนชำนาญประสานกันกับความรู้ และสิ่งที่เกิดขึ้นจากความรู้ เมื่อพอแล้วก็จะเห็นความรู้อันนั้นว่าสังสารจักรปฏิเสธสิ่งอื่น ว่าเป็นสังสารจักร เป็นตัวกิเลสตัณหาและอวิชชาใด ๆ
การพิจารณาต้องรู้รอบและปล่อยวางได้ เพราะถ้ายังไม่เห็นโทษในความรู้ของตนเองก็จะยกความรู้ขึ้นเหยียบย่ำในสิ่ง ทั้งหลายที่ตนเข้าใจว่าตนรู้ แท้จริงความรู้ชนิดนี้เป็นความรู้ภายใต้ของอวิชชาต่างหาก จนกว่าจะรู้รอบความรู้นี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะความรู้นี้เป็นตัวเหตุตัวการที่จะก่อความรัก ความชัง ความดี ความชั่ว หรือความสุข ความทุกข์ทั้งหมด มันก่อตัวขึ้นจากความรู้อันนี้ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ
ลืมเรียนให้ทราบตอนว่า เมื่อจิตได้ปรากฏเข้าสู่ความว่างเปล่าแล้ว ความรู้ที่ว่านี้เป็นความรู้แปลกมากเหมือนกัน คล้าย ๆ กับว่าเป็นความรู้ที่มีรสชาติ และอัศจรรย์ เลยเข้าใจว่านั้นเป็นนิพพานแล้วติดได้เหมือนกัน ที่จริงควรพิจารณาความว่างเปล่าและผู้รู้อันนั้น กับอาการที่เกิดขึ้นจากผู้รู้นั้นแล เป็นอารมณ์พิจารณาทวนไปทวนมาไม่หยุดยั้ง จนเห็นโทษแห่งความรู้เช่นเดียวกันกับสภาวะส่วนอื่นๆ ทั้งหยาบ กลาง ละเอียดแล้วนั่นแหละ จึงจะมีโอกาสปล่อยวางได้ แต่อาการปล่อยวางไม่ใช่ปล่อยเอาเฉย ๆ ตามที่เราคาดกัน จะต้องมีสภาพอันหนึ่งซึ่งจะให้นามก็ลำบากเหมือนกัน แต่พอเข้าใจได้ว่ามันตัดสินขึ้นมาเอง
ขณะนั้นเรียกว่าขณะถอดถอนตนเอง หรือกลับเข้ามารู้ตนเอง เมื่อเรากลับเข้ามารู้ตนเองและปล่อยวางตนเอง จะมีขณะอันหนึ่งซึ่งเป็นขณะที่ไม่เคยมี และไม่เหมือนกับขณะจิตที่รวม ขณะจิตที่สงบ แต่ขณะจิตที่ตัดภพ ตัดชาติ ตัดสมมุติ หรือทำลายความอัศจรรย์ของจิตดวงสมมุตินี้นั้น เป็นขณะอันหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่อัศจรรย์ ทั้งไม่เคยประสบมาแต่กาลไหนๆ ได้เกิดขึ้นมาเอง โดยที่ใคร ๆ ไม่ได้คาดหมายเอาไว้ เราจะว่าจิตของเรามีความเผลอไปในสิ่งใดก็ไม่ใช่ จะว่าจดจ่ออยู่กับอะไรก็ไม่เชิง คล้าย ๆ กับว่าขโมยมาสอยเอาสิ่งของเวลาเราเผลอฉะนั้น
ขณะจิตอันหนึ่งซึ่งเป็นธรรมชาติที่แปลกและอัศจรรย์ยิ่งกว่าธรรมชาติใด ๆ มาปรากฏขึ้นในขณะเดียวเท่านั้น เพราะขณะจิตนั้นได้ทำงาน หรือว่าลบล้างความหลงของตนเองสิ้นสุดลงไปแล้วนั้นแล เราจึงจะเห็นโทษแห่งความเป็นมา ผ่านมาเอง เราจะเห็นโทษแห่งปฏิปทาที่เป็นมาที่ลุ่มๆ ดอนๆ คือ มีทั้งผิดทั้งถูกสับสนระคนกันไป เหมือนข้าวสารกับแกลบรำฉะนั้น และคุณแห่งปฏิปทาของเราที่ได้ปฏิบัติมาแต่ต้นจนถึงจุดนี้ ว่าเป็นสวากขาตธรรม และเป็นนิยยานิกธรรมโดยแท้ ฉะนั้นเมื่อขณะจิตนั้นได้ทำงานสิ้นสุดลงไปแล้ว ไม่เห็นมีเรื่องอะไรที่จะเป็นปัญหาให้ขบคิดต่อไปอีก นอกจากใจดวงเดียวเท่านั้นไปก่อเรื่องราวทั้งหลาย แล้วนำมาเผาลนตนเองให้เดือดร้อนเท่านั้น จึงมีให้นามว่าปัญหาโลกแตก คือปัญหาหัวใจ
บาลีท่านว่า ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ รู้เห็นตามเป็นจริงตามสภาวะนั้นๆ จึงหมดการตำหนิติชมในสภาวธรรมทั่วๆ ไป พร้อมทั้งการตำหนิติชมในตัวเอง สมมุติภายในและภายนอกก็ยุติกันลงได้ สิ่งทั้งหลายภายในจิตก็ไม่มี จิตนั้นเป็นวิสุทธิจิตจึงพ้นจากสมมุติไป ท่านเรียกชื่ออีกว่าวิมุตติ ที่ให้ชื่อเช่นนั้นถ้าจะเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับชื่อของวัด จะเป็นวัดใดก็ตาม ยกตัวอย่าง เช่น วัดบวรนิเวศ ท่านติดป้ายไว้หน้าวัดบวรฯว่า วัดบวรนิเวศ การติดป้ายไว้นั้นติดไว้เพื่อใคร พระเณรในวัดบวรฯ รู้แล้ว ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องมาอ่านป้ายวัดนี้คือวัดบวรฯ ก่อนจะเข้าออกจากวัด หรือจะหลับนอน ที่ติดไว้ก็เพื่อคนที่ไม่รู้จักวัดบวรฯ เขาจะอ่านที่ป้ายและรู้ว่า อ้อ นี้คือวัดบวรฯ
ท่านให้ชื่อว่าวิมุตติก็เช่นเดียวกัน สำหรับท่านที่หลุดพ้นไปแล้วจะให้ชื่อว่า วิมุตติ หรือนิพพาน ไม่เห็นจำเป็นอะไร แต่ก็ตั้งชื่อเป็นกรุยเป็นหมายเพื่อให้โลกที่มีสมมุติให้รู้กัน และเพื่อท่านผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะได้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ และเพิ่มกำลังความเพียรเพื่อนิพพาน แต่เมื่อเข้าถึงธรรมคือนิพพานแล้ว มันก็หมดปัญหาไปตามๆ กัน ความสำคัญว่าตนโง่ตนฉลาดก็หมดไป ความสำคัญว่าตนเศร้าหมอง หรือผ่องใสก็หมดไป เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสมมุติทั้งนั้น ธรรมชาตินั้นไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ จึงเข้ากันไม่ได้
สิ่งใดที่จะมาสัมผัสในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็สักแต่ว่าเท่านั้น เพราะจิตหมดเรื่องแล้ว สิ่งทั้งหลายจึงไม่มีเรื่อง พลอยหมดไปตาม ๆ กัน เครื่องกังวลและภาระใดๆ ทั้งที่เป็นส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด หยุดการรักษา คำว่ารักษาหมายถึงจิตโดยเฉพาะ ไม่ได้หมายถึงมรรยาททางกาย วาจา เช่น มีแผลอยู่ในอวัยวะของเราส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งรักษายังไม่หายสนิท เราจะต้องพยายามรักษาและระวังสิ่งที่มากระทบ และพอกยา ทายาอยู่เสมอ จนกว่าจะหายสนิท
ที่มา http://board.palungjit.org