ลักษณะของการมองเห็นเมื่อฝึกมโนมยิทธิ
ถาม : ตอนเที่ยงผมไปฝึกมโนมยิทธิ ปรากฏว่าผมไม่เห็นอะไร เลยไม่แน่ใจว่าผมทำอารมณ์ไม่ถูกอย่างไร ?
ตอบ : ถ้าเห็นก็ประหลาด ต้องไม่เห็น ถ้าคุณคิดว่าเห็นก็บ้า...!
ถาม : แล้วต้องทำอย่างไร ?
ตอบ : การฝึกมโนมยิทธิ อย่าลืมคำว่า “มโน” คือห้วงนึกคือความคิดของเรา ไม่ใช่ตาเห็น ถ้าเราคิดว่าเป็นตาเห็นก็ผิดตั้งแต่ยกแรกแล้ว หลับตาอยู่จะไปเห็นอะไร
คราว นี้ถามว่าแล้วเราเห็นลักษณะไหน ? เราเห็นลักษณะนึกถึงคน นึกถึงของ นึกถึงบ้าน ชัดไหมล่ะ ? แล้วใช่ลูกตาเห็นไหมล่ะ ? ไม่ใช่หรอก นั่นแหละมโน เขาเห็นกันอย่างนั้น คราวนี้แรกๆ หากว่าสภาพจิตยังไม่สงบ ภาพจะไม่ปรากฎ ภาพไม่ปรากฎจะเป็นแค่ความรู้สึกในใจเท่านั้น รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น รู้สึกว่าเป็นอย่างนี้ รู้สึกว่าต้องอย่างนั้น รู้สึกว่าต้องอย่างนี้ ความรู้สึกอันแรกที่เกิดมามันใช่ จะถูกต้อง ขอให้น้อมใจเชื่อตามนั้น ถ้าเปรียบไปแล้วจะเหมือนคนๆ หนึ่งอยู่ในห้องมืดๆ แล้วเขาส่งของมาให้ชิ้นหนึ่ง เช่น เครื่องคิดเลข เราจับๆ คลำๆ ลูบๆ พักหนึ่ง เราก็ตอบได้ว่าเป็นเครื่องคิดเลข แต่ถ้าเราซ้อมบ่อยๆ จนกระทั่งเคยชิน พอแตะปุ๊บ ก็บอกได้เลยว่าเป็นเครื่องคิดเลข อย่างนี้เป็นต้น
คราวนี้พอเราซ้อมอยู่บ่อยๆ โดยยอมเชื่อความรู้สึกแรก จนกระทั่งจับจุดได้ว่าความรู้สึกอย่างไรถึงจะถูกต้อง พอเกิดความมั่นใจแล้วสภาพจิตจะนิ่ง คราวนี้ภาพจะเกิด พอภาพเกิดปุ๊บ โดยสัญชาตญาณเราก็ไปเพ่งมัน อยากจะเห็นให้ชัด บอกแล้วว่าไม่ใช่ตาเห็น จิตเราต้องไปถึงสถานที่นั้น เราถึงจะเห็นภาพได้ การที่เรานึกถึงตา คือนึกถึงตัว คือการดึงจิตกลับมา ภาพจะหายไป เพราะเราไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว จะไปเห็นอะไรอีก พอถึงเวลาภาพหายไป ตั้งใจภาวนา พอกำลังใจไปถึงจุดนั้นก็เห็นอีก จะเป็นๆ หายๆ อย่างนี้ บางคนเป็นอยู่ ๑๐ ปี ก็มี ประสาทจะกลับก็มี แค่เราทำใจว่า
ก่อนหน้านี้แค่ความรู้สึกก็ถูกต้องอยู่แล้ว การเห็นภาพไม่จำเป็นต้องมีสำหรับเราก็ได้ จะเห็นหรือไม่เห็นก็ช่าง เราจะไม่ใส่ใจอีก ถ้าทำกำลังใจอย่างนี้ได้ ภาพจะเกิดขึ้นและปรากฏอยู่นาน
หลักการที่สอง ทำให้ได้อย่างที่ครูฝึกเขาบอก จะต้องมีการพิจารณาตัดร่างกาย อย่าให้จิตเกาะร่างกายนี้ อย่าให้จิตเกาะโลกนี้ เพราะถ้าจิตเกาะยึดเกาะร่างกายนี้หรือโลกนี้ มันจะไม่ไปไหน มันห่วงร่างกาย มันห่วงโลก แต่ถ้าเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา โลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ เราไม่อยากได้จริงๆ จิตจะไม่ห่วง จะไปได้ง่าย แล้วจะเห็นภาพได้ชัดเจนแจ่มใสด้วย
ถาม : แล้วต้องนึกถึงพระ (ไม่ชัด)
ตอบ : สมควรที่สุดที่จะทำอย่างนั้น กำลังใจของเราไม่มีอะไรกั้นได้ นึกถึงบ้านตอนนี้ ถ้าคนได้อภิญญา เขาเห็นเราอยู่ที่บ้านแล้ว ไม่ต้องเปิดประตู ไม่ต้องลงบันได ไม่ต้องเรียกแท็กซี่ ไม่ต้องขับรถเอง แค่นึกก็ถึงแล้ว ระยะทางของโลกถึงดวงอาทิตย์ ๙๓ ล้านไมล์ แสงเดินทางด้วยความเร็ว ๑๘๖,๐๐๐ ไมล์/วินาที ใช้เวลาประมาณ ๘ นาทีมาถึงโลกเรา แต่ถ้าเรานึกถึงดวงอาทิตย์แค่ไม่ถึง ๑/๑๐ ของวินาที จิตเราอยู่ที่นั่นแล้ว
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเรานึกถึงจุดไหนก็ตาม จิตจะไปปรากฏอยู่ตรงจุดนั้น คราวนี้เรานึกถึงบ้าน จิตจะไปปรากฏอยู่ที่บ้าน เห็นบ้านสภาพบ้านชัดเจน ลักษณะบ้านเป็นอย่างไร ประตูอยู่ตรงไหน ห้องน้ำอยู่ตรงไหน ห้องนอนอยู่ตรงไหน รู้หมด อันนั้นเกิดจากเราเคยชินกับมัน คราวนี้ไปเทวดา ไปพรหม ไปนิพพาน เราจะไม่เคยชินกับสถานที่ละเอียดอย่างนั้น เพราะฉะนั้นขอให้เชื่อความรู้สึกแรก รู้สึกว่าอย่างไร ถ้าครูฝึกถามให้ตอบไปตามนั้น ไม่จำเป็นต้องเห็น ทำตามขั้นนี้ไปก่อน
ถาม : ถ้าทำเองที่บ้าน ?
ตอบ : ซ้อมบ่อยๆ คุณใช้วิธีอย่างนี้ พอถึงเวลาคุณกราบพระเสร็จ ก็ตั้งใจขอบารมีท่านว่าเราจะฝึกมโนมยิทธิ ขอให้ทำได้ชัดเจนแจ่มใส และคล่องตัวด้วย แล้วกำหนดความรู้สึกทั้งหมดของคุณให้อยู่ตรงหน้าคุณ เหมือนกับว่าเป็นคนๆ หนึ่งอยู่ตรงหน้า จะเล็กจะใหญ่อยู่ที่เราถนัด เอาตัวเล็กตัวใหญ่แค่ไหนก็ได้ แล้วก็บอกให้เดินหน้า บอกให้ถอยหลัง บอกให้หันซ้าย บอกให้หันขวา ทำอย่างกับหัดแถวทหารอย่างนั้นแหละ บังคับให้ชิน
พอหันขวาเราก็รู้สึกว่าหันตาม หันซ้ายเราก็หันตาม เดินหน้าเราก็เดินตาม ถอยหลังเราก็ถอยตาม ความรู้สึกของเราทั้งหมดให้อยู่กับตัวนี้ พอชินแล้ว ค่อยๆ ทำนะ เดินวนรอบตัวก็ได้ วนช้าๆ เพราะว่าถ้าความรู้สึกคล่อง แป๊บเดียวจะครบรอบเลย บอกให้เปิดประตู บอกให้ออกนอกบ้าน บอกให้ ค่อยๆ เดินวนรอบบ้าน ทำตัวเป็นยามไปเลย ค่อยๆ ดูไปทีละจุด เปิด ประตูใหญ่ เดินออกไปในซอย ค่อยๆ ไปปากซอย คราวนี้ความรู้สึกของ เราที่ค่อยๆ ไป แรกๆ จะชัดเจน เพราะว่าสถานที่ต่างๆ เราคุ้นเคยดี
แต่คราวนี้พอไกลออกไปๆ เป็นปากซอย ความคุ้นเคยน้อยแล้ว พอไปถึง จุดที่เราไม่คุ้นเคย แต่ความรู้สึกยังปรากฏชัดอยู่ อาจจะตรงนี้ร้านขายยา ตรงนี้วินมอเตอร์ไซค์ตรงนี้เป็นเซเว่น อีเลฟเว่น จดเอาไว้ แล้วถึงเวลา รุ่งเช้าเดินไปดูว่าตรงไหม? ซ้อมอย่างนี้ทุกวันๆ แล้วจะคล่องตัวมาก ต่อไปถ้าจะไปสวรรค์ ไปพรหม ไปนิพพานอย่างไร? ก็แค่นึกถึงสวรรค์ นึกถึง พรหม นึกถึงนิพพาน จะไปถึงเลย ทำอย่างนี้ทุกวัน ซ้อมบ่อยๆ ถ้าไม่ ซ้อมสนิมขึ้น
ถาม : เวลาซ้อมนั่งหลับตา นึกว่ามีตัวเรา?
ตอบ : ใช่ นั่นแหละ แล้วก็บังคับตัวนั่นแหละ ให้ค่อยๆ ไปเปิดประตู เปิดหน้าต่างทีละบาน เดินวนรอบบ้าน อะไรก็ได้ กวาดขยะ อะไรก็ได้ทำ ไปเลย ไม่มีใครว่า ทำอย่างนี้บ่อยๆ แล้วจะคล่องตัว พอคล่องตัวจากสิ่งที่เราเคยชิน ค่อยๆ ไปสู่สิ่งที่เราไม่เคยชิน แล้วก็พยายามจดจำ ไว้ว่าเป็นอย่างไร? ถึงเวลาเราก็ไปดูเพื่อเป็นการพิสูจน์ จะได้รู้ว่าเรารู้จริง ไหม? เห็นจริงไหม? อย่าลืมนะไม่ได้เห็นด้วยตา ใช้ตาเมื่อไหร่เจ๊งเมื่อนั้นเลย
ถาม : อย่างวันนี้ที่ผมฝึกนี่ ครูฝึกเขาบอกว่าทั้งหมดตอนนี้ไปอยู่ข้างบนแล้ว อยู่ในแดนพระนิพพาน แสดงว่าจริงๆ นี่ไปได้จริงๆ
ตอบ : ถ้าเราคิดถึงตรงไหน จะไปถึงตรงนั้นเลย เพียงแต่ว่าเราเองจะรับรู้ได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง บอกแล้วว่าไม่มีอะไรกั้นจิตได้ จิตคิดถึงตรงไหน จะไปถึงตรงนั้นเดี๋ยวนั้นเลย ขั้นตอนการใช้ร่างกายทำไม่เกี่ยวกับจิตเลย บอกแล้วไม่ต้องเปิดประตู ไม่ต้องลงบันได ไม่ต้องขับรถ ไม่ต้องขึ้นรถอะไร ทั้งนั้น แค่นึกก็ถึงแล้ว
ถาม : แต่ในความรู้สึกสัมผัสของเรา มันไม่ถึง
ตอบ : คราวนี้สำคัญตรงขยันซ้อม ต้องขยันซ้อม ทำบ่อยๆ ทำทุกวัน ซ้อมทุกวัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ก่อน จะไปทำงานกำหนดใจสบายๆ นึกเลย วันนี้เราไปถึงที่ทำงานจะเจอใครก่อน คนๆ นั้นผู้หญิงหรือผู้ชาย ใส่เสื้อผ้าสีอะไร แล้วก็จดไว้ พอถึงเวลาก็ไปดู ถ้า หากผิดก็ไม่ต้องสนใจ แต่ถ้าถูกพยายามนึกให้ได้ว่าเราทำกำลังใจอย่างไร? แล้วก็จำกำลังใจช่วงนั้น แล้วใช้ช่วงนั้นบ่อยๆ จะคล่องตัวมาก อาตมาเองซ้อมบ่อย จะออกบิณฑบาตนึกก่อนเลย วันนี้ใครจะใส่บาตรก่อน ผู้หญิงหรือผู้ชาย ใส่เสื้อผ้าสีอะไร มากลุ่มนี้กี่คนอย่างนี้ นี่ขนาดนี้แล้วยังต้องซ้อมอยู่นะ ไม่อย่างนั้นสนิมกิน
สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ
ที่มา board.palungjit.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น