"การให้ทานในแบบของพระพุทธศาสนา"
สามารถอ่านได้ที่ด้านล่างเว็บนะครับ

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การปฏิบัตินั้นขึ้นอยู่กับจริตและความถนัดของแต่ละท่าน



การปฏิบัติสมาธิไม่ให้สนใจในร่างกาย

ถาม : อย่างผม ถ้านั่งขัดสมาธิตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่จำความได้เลย ไม่เกิน ๑๕ นาที นี่แค่นั่งก็เจ็บแล้ว ไม่เกิน ๑๕ นาทีก็จะชา หรือแม้กระทั่งนั่งพับเพียบก็ตาม ถ้านั่งพิงหลังเสียหน่อย อย่างเก่ง ๓๐ นาทีนี่ก็ โอ้โห ! หนักแล้ว แต่พอนั่งที่มันสบายๆ บางทีมันก็หลับ เรามีวิธีหรืออุบายอะไรที่จะให้มันนั่งได้ดีที่สุด ?

ตอบ: เอาแบบหลวงปู่ฝั้น มั้ยล่ะ ? ของท่านนั่งทีไรหลับทุกที ท่านเองรำคาญขึ้นมา ก็เลยเอาปี๊บไปตั้งไว้ขอบเหว นั่งอยู่บนตูดปี๊บ กะว่าถ้ามันสัปหงกก็ให้หัวทิ่มลงเหวตายไปเลย อย่างนั้น ท่านบอก แหม ! กำลังใจมันรวมตัวดีเหลือเกินวันนั้น ภาวนาได้ดีเป็นพิเศษ (หัวเราะ)

แต่ว่าไอ้เรื่องของร่างกาย จริงๆ แล้วการปฏิบัติเขาไม่ให้สนใจในร่างกาย ถ้าเราไม่สนใจมัน พอเกินครึ่งชั่วโมงไปมันจะลืมความรู้สึกอันนั้น พอลืมความรู้สึกอันนั้น มันก็แปลก คราวนี้มันจะทรงตัวยาวเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าหากมันเลยไอ้ตัวเจ็บตัวปวดนั่นไป แล้วถ้าหากถอนกำลังใจมาเมื่อไหร่ มันลุกเดินได้เดี๋ยวนั้นเลย แต่ถ้าหากเรานั่งอยู่ในระดับครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงนี่ลุกขึ้นมากว่าจะขยับได้ เหน็บมันกินนานมาก

ถาม : มันทั้งเจ็บ ทั้งปวด ถึงขนาดนั้นเลย ?

ตอบ: ใช่ ถ้าหากว่าเป็นสายของหลวงปู่มั่น ท่านจะดูตัวเวทนา คือความรู้สึกเจ็บปวดที่มันเกิดขึ้น ท่านจะดูเวทนานี้เป็นของเราจริงหรือ ?

ถาม : แล้ววิธีอย่างนี้ ทางหลวงพ่อ... ?

ตอบ: ของหลวงพ่อท่านไม่แนะนำ ท่านบอกว่าถ้าเมื่อยก็ให้ขยับเปลี่ยนท่าได้ แต่ให้ประคองกำลังใจไว้ให้ดี ท่านบอกว่าร่างกายของมันเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมา ถ้าจิตบางคนไปกังวลอยู่กับมัน มันจะไม่ได้อะไรเลย มันจะไปกลุ้มอยู่กับอาการปวด การเมื่อย การชาของร่างกายแทน เพราะฉะนั้นหลวงพ่อท่าน ท่านบอกให้ขยับได้เลย แต่ว่าก่อนขยับนี่ ให้ตั้งกำลังใจให้ดี อย่าเผลอให้มันเคลื่อน ตั้งกำลังใจทรงตัว มั่นใจว่าไม่เคลื่อนแล้วเราค่อยๆ ขยับเปลี่ยนท่าของเราไป อาตมาทุกวันนี้ที่นั่งอยู่นี่ ก็อยู่ประมาณ ๑๕ นาทีจะขยับทีหนึ่ง จนกระทั่งบางทีลูกศิษย์เขาสงสงสัยว่า อาจารย์ทำไมขยับบ่อยจัง บอก เออ ! เดี๋ยวเอ็งแก่เท่าข้าก็รู้เอง

ถาม : ของผมเอง ตอนปฏิบัติไม่ถูกก็ไม่รู้ว่าสมาธิดีๆ มันคืออะไร แต่พอขยับมันก็มีความรู้สึกบอกตัวเองว่า เรายังไม่มีสมาธิสักที ?

ตอบ: เคยทำอยู่ ประเภทว่านั่ง ๓ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง อะไรอย่างนั้น ก็กล้ายืนยันได้เต็มปากเต็มคำว่า ถ้ามันเลยอาการเจ็บปวดนั้นไปแล้ว จะนั่งไปสัก ๓ วัน ๓ คืน มันก็อยู่ของมันได้ แล้วมันแปลกดีนะ ว่าถอนจิตออกมาปุ๊บนี่ มันลุกเดินได้เลย มันเหมือนกับร่างกายไม่ได้รับการกดทับอะไรมาก่อนเลย เป็นเรื่องประหลาดดีเหมือนกัน มันจะลุกเดินได้เดี๋ยวนั้นเลย แล้วจะรู้สึกตัวเบาเป็นพิเศษด้วย คล้ายๆ กับว่าถึงตอนนั้นแล้ว สภาพจิตมันสามารถคุมร่างกายได้หรือไง ก็บอกไม่ถูก แต่ว่าถ้าหากยังอยู่ในระดับครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงหนึ่งนี่ ถ้าลุกขึ้นนี่เหน็บกินนานเลย แต่ว่า แหม ! เจ้าประคุณเถอะ อีตอนที่มันทรมานมากๆ นี่มันเหมือนกระดูกจะแตกเป็นชิ้นๆ ก้นมันเหมือนกับบางลงๆ กระดูกจะทะลุออกมาข้างนอกก้นอย่างนั้นน่ะ โอ้โห ! มันทั้งเจ็บทั้งแสบ ทั้งร้อน บอกไม่ถูก คำพูดที่จะอธิบายเป็นภาษามนุษย์มันคงอธิบายไม่ได้หรอก แต่เคยลองดูแล้ว รสชาติมันเด็ดขาดดีมากเลย สารพัดความรู้สึกทรมาน มันจะมารวมอยู่ที่เดียว

ถาม : บางทีก็รู้สึกแปลกใจว่า ร่างกายเราก็ไม่ได้เป็นโรคอะไรร้ายแรง แต่ทำไมนั่งแล้วมันเป็นทุกข์ได้ขนาดนี้ ?

ตอบ: ถ้าเป็นสายของหลวงปู่มั่น ท่านจะดูทุกข์ ดูเวทนา ก็จำเป็นต้องบังคับให้นั่งนานๆ แต่ถ้าของหลวงพ่อนี่ท่านจะให้เปลี่ยนท่าไปเลย

ถาม : ของผมบางทีไม่มาที่นี่ก็มักจะไปที่อื่น คือก่อนจะรู้จักที่นี่ ก็ไปที่อื่นก็ถามไปเรื่อย บางทีไปก็ไม่ได้คุยกับหลวงปู่ หลวงพ่อ อะไรมากมาย เดินๆ อยู่ในวัด มันก็รู้สึกสบายใจ ?

ตอบ: อย่างน้อยๆ กระแสของสถานที่ มันไม่มากไปด้วยรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนอย่างกับทั่วๆ ไป ถึงมันจะมีอยู่บ้าง มันก็ไม่หนักเท่า ในเมื่อสถานที่ที่มีกระแสที่ดี มันก็เลยพาให้เราสงบไปได้เร็ว ยิ่งเป็นสถานที่สำคัญมีพระพุทธรูปสำคัญ มีหลวงปู่ หลวงพ่อที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กำลังใจมันรวมตัวปั๊บเลย ให้นั่งอยู่นานเท่าไหร่ก็อยู่ได้ สบายใจ สถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง ตามพระธาตุ ตามเจดีย์ หรือตามสถานที่มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ ไปเมื่อไหร่ก็สบายเมื่อนั้น


สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

การให้ทานในแบบของพุทธศาสนา

ในสเตตัสก่อนผมเขียนไว้ไม่ครบ
อาจทำให้หลายท่านเข้าใจผิดบางประเด็น
จึงขอแจกแจงให้ละเอียดขึ้นครับ

เมื่อพูดถึง ‘การให้ทานในแบบของพุทธ’
ต้องเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงการถวายสังฆทาน
แต่มุ่งเอา ‘จิตคิดให้ เพื่อสละความตระหนี่’ เป็นหลัก

แต่เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์แก่ผู้ให้และผู้รับ
นับเอาความสุข ความเจริญ
ที่ผลิดอกออกผลในปัจจุบันกาลและอนาคตกาล
พระพุทธเจ้าก็ตรัสจำแนกแจกแจงไว้ดังนี้

ทานอันดับหนึ่ง ไม่มีอะไรชนะได้ คือธรรมทาน
(สัพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ)
ธรรมทานคือการให้ความรู้ ให้มุมมอง ให้แรงบันดาลใจ
ที่จะนำไปสู่การมีที่พึ่งให้ตนเอง ทั้งในการใช้ชีวิตนี้
และการเวียนว่ายตายเกิดต่อๆไปในชีวิตหน้า
ยกเอาสิ่งที่จะทำให้เห็นชัดว่าทำไมธรรมทานจึงเป็นที่หนึ่ง
ต้องดูจากที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
การตอบแทนพ่อแม่อันสมน้ำสมเนื้อกับที่ท่านให้ชีวิตเรา
คือการทำให้พ่อแม่ (ซึ่งยังไม่เข้าใจธรรม)
ได้เกิดศรัทธาที่ตั้งมั่นในธรรม มีใจตั้งมั่นในทานและศีล
ถ้าทำได้ ก็เรียกว่าเป็นการให้ธรรมเป็นทานอันยิ่งใหญ่ที่สุด
เพราะช่วยผู้ให้กำเนิดชีวิตเรา ปลอดภัยในการเดินทางไกล
ต่อให้ลูกกตัญญู แบกพ่อแม่ไว้บนบ่าให้อึฉี่รดหัวเราตลอดอายุขัย
ก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนได้เท่าการให้ธรรมเป็นทานแก่พวกท่าน

ทานอันดับสอง คือการรักษาศีล
เพราะเมื่อรักษาศีลแล้ว
สัตว์ที่มีสิทธิ์ได้รับความเดือดร้อนจากการเบียดเบียนของเรา
หรือคู่เวรที่จำต้องถูกเราประหัตประหารหรือทำร้ายกัน
ก็จะได้รับการปลดปล่อยจากเขตอันตราย
หรือได้รับการปกป้องให้ปลอดภัยจากศีลของเรา
แม้เขาทำให้เราผูกใจเจ็บ ก็ได้รับอภัยทานจากเรา
ไม่ต้องตีกันไปตีกันให้เจ็บช้ำน้ำใจกันยืดเยื้อต่อไปอีก

ทานอันดับสาม คือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมอง
เมื่อให้สิ่งที่เรามีเป็นทาน ย่อมได้ชื่อว่าสละความหวงแหน
อันเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น
นับเป็นต้นทางหลุดพ้นจากการยึดติดผิดๆ

ประเด็นคือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมองนั้น
ถ้าจะดูว่าให้กับใครจัดว่าให้ผลใหญ่ที่สุด
ก็ต้องมองว่า ‘ผู้มีจิตบริสุทธิ์’ หรือ ‘ผู้พยายามทำจิตให้บริสุทธิ์’
คือผู้ที่ทำให้เรารู้สึกดีที่สุด
ลองเทียบดูระหว่างช่วยพระกับช่วยโจร
อย่างไหนทำให้ปลื้มมากกว่ากัน

การทำทานกับสมณะในพุทธศาสนานั้น ถือว่าเลิศสุด
(ย้ำว่าในมุมมองของพุทธเรา)
ดังเช่นที่ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้หลายแห่งว่า
เป็นเหตุให้มีจิตผูกพันกับพุทธศาสนา
เป็นปัจจัยให้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น การช่วยทุกอย่าง มีผลดีหมด
อย่างเช่น ช่วยกลับใจโจร
ก็ได้ผลเป็นความไม่เดือดร้อนของเราเองในปัจจุบัน
และในกาลข้างหน้าเมื่อเราหลงผิด
ก็ย่อมมีผู้มาช่วยเปลี่ยนความคิดให้เห็นถูกเห็นชอบได้ง่าย เป็นต้น ครับ

ที่มา Dungtrin