"การให้ทานในแบบของพระพุทธศาสนา"
สามารถอ่านได้ที่ด้านล่างเว็บนะครับ

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สมาทาน


สมาทาน
เมื่อท่านศึกษาระเบียบการปฏิบัติครบถ้วนแล้ว ต่อแต่นี้ไปก็เตรียมการปฏิบัติจริงก่อน
การลงมือปฏิบัติ ท่านสอนให้ตัดกังวลต่างๆ เสียให้สิ้น คิดว่าเวลาเท่านี้เราจะปฏิบัติสมณธรรม
ต้องเตรียมทำการงานที่จำเป็นไว้ให้ครบถ้วน สั่งคนภายในไว้ว่าเวลาเท่านั้นเราจะปฏิบัติสมณธรรม
แขกไปใครมาขอให้รอพบกำหนดเวลาที่กำหนดให้ เมื่อพร้อมแล้วกังวลต่างๆ ไม่มีแล้วก็จัดแจง
อาบน้ำชำระกายให้สะอาด หาดอกไม้ธูปเทียนสำหรับบูชาพระรัตนตรัยตามแต่จะหาได้ขณะที่
ขอเรียนกรรมฐานใหม่ๆ ตามความนิยมในสมัยก่อนๆ มาจนถึงสมัยที่กำลัง เขียนหนังสือนี้
ท่านให้จัดเครื่องบูชาอย่างละ ๕ คือ ธูป ๕ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๕ เล่ม ดอกไม้ ๕ กระทง
ข้าวตอก ๕ กระทง  สำหรับนักศึกษาภาคปฏิบัติใหม่และใช้คราวเดียวในคราว เข้ามาศึกษาใหม่
เท่านั้น ต่อไปใช้ดอกไม้ธูปเทียนตามแต่จะหาได้ ถ้าไม่มีที่หาก็ไม่ต้องหา เมื่อเตรียมกาย
เตรียมใจ เตรียมเครื่องบูชาครบถ้วนแล้ว ก็เริ่มบูชาพระรัตนตรัยตามแต่จะบูชาได้ ไม่กะเกณฑ์
ว่าจะต้องบูชามากน้อยเพียงใด ท่านที่ว่าอะไรไม่ได้มาก ตั้งนโม ๓ จบ  แล้วว่า

          พุทธัง  สรณัง  คัจฉามิ 
          ธัมมัง  สรณัง  คัจฉามิ 
          สังฆัง  สรณัง  คัจฉามิ 

          แล้วว่า ทุติยัมปิ พุทธัง ฯลฯ ตติยัมปิ พุทธัง ฯลฯ  ครบสามจบแล้ว ถ้าสวดได้ก็
สวดอิติปิโส ฯลฯ สักจบ  ถ้าสวดไม่ได้ก็ไม่ต้อง ต่อไปก็ สมาทานศีล ๕ คือว่าศีล ๕ ว่าเอง
โดยไม่ต้องมีพระนำ แล้วตั้งใจว่าเราจะรักษาศีล ๕ นี้ให้บริสุทธิ์  บริบูรณ์ตลอดชีวิตเราจะไม่ยอม
ให้ศีลขาดด้วยเจตนา แล้วตั้งใจรักษาศีลด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยสังวรระวังใจ ควบคุมความ
ประพฤติ ไม่เผลอทำลายศีลด้วยเจตนา และไม่ยุให้ผู้อื่นทำลายศีล ไม่ยินดีที่เห็นผู้อื่นทำลายศีล
เมื่อสมาทานศีลเรียบร้อยแล้วก็เริ่มสมาทานกรรมฐาน การสมาทานกรรมฐานตามนัยวิสุทธิมรรค
ท่านเขียนไว้ดังนี้

dmc.tv

สมาทานตรงต่อพระพุทธเจ้า 

          อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจัชชามิ แปลว่า ข้าแต่สมเด็จ-
พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอเสียสละ คือมอบเวนซึ่งอัตภาพนี้ แด่สมเด็จพระสรรเพชญ-
สัมมาสัมพุทธเจ้า (แปลตามท่านแปลไว้ในแบบ)  อีกแบบหนึ่งท่านแปลเอาความ  มีใจความ
ที่ท่านแปลไว้ดังนี้ "ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบ
กายถวายชีวิตแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แบบหลังนี้ ท่านแปลศัพท์ว่า อัตตะภาวัง
ตุมหากัง ปะริจัชชามิ ที่แปลว่า สละรอบซึ่งอัตภาพของข้าพเจ้า ท่านแปลถือเอาความว่า
มอบกายถวายชีวิต ความจริงก็ได้ความดี การสละรอบกายก็ได้แก่สละชีวิตนั่นเอง ถ้าจะถือ
เอาความตามภาษาไทยให้ชัดกันแล้ว ของท่านที่แปลไว้ตอนหลังได้ความชัดกว่าผู้เขียนเองก็
สอนศิษย์ให้แปลตามนัยหลัง

thaibelieve.com

สมาทานต่อครูอาจารย์ 

          อิมาหัง ภันเต อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจัชชามิ  แปลว่า  ข้าแต่ท่านอาจารย์
ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่ท่าน

คำสมาทานที่ต่อเสริมกันใหม่ 

          คำสมาทานนี้  นอกจากจะมีมาตามแบบแผนในวิสุทธิมรรคแล้ว แต่ละสำนัก แต่ละ
อาจารย์ ต่างก็แต่งคำสมาทานขึ้นสอนศิษย์ให้สมาทานตามความที่เห็นว่าเหมาะสม การที่ใคร
จะมีคำสมาทานว่าอย่างไรนั้น  และไม่เกินพอดี  คือยังแสดงความเคารพนับถือพระรัตนตรัยอยู่
ก็เป็นอันว่าใช้ได้ทั้งนั้น ไม่เห็นว่าจะน่าตำหนิกันตรงไหน บางอาจารย์ท่านก็ประพันธ์สำนวน
ยืดยาวมาก บางอาจารย์ก็มีสำนวนสั้น ๆ พอได้ความ ข้อนี้ไม่ควรติชม เพราะขึ้นแก่ความ
เหมาะสมและจำเป็น อย่างไรเหมาะสม อย่างไรจำเป็น ไม่ขอออกความเห็น เพราะเป็นเรื่อง
ไม่น่าจะเก็บเอามาคิดให้เสียเวลา เรียนกับใครก็ควรจะเชื่อฟังท่านผู้สอนนั่นแหละเป็นการดีแล้ว
สำหรับผู้เขียนเคยผูกแบบให้ศิษย์สมาทานดังนี้  ที่นำมาเขียนก็เพราะศิษย์ส่วนมาก เมื่ออ่าน
หนังสืออุทุมพริกสูตรในหนังสือนั้นไม่มีคำสมาทาน ได้ขอร้องให้พิมพ์คำสมาทานแจก โอกาส
ที่จะพิมพ์ไม่มี เมื่อเขียนหนังสือนี้ ก็ขอเอามาลงไว้ในหนังสือนี้ แบบสมาทานที่ผู้เขียนต่อเสริม
ขึ้นนี้ ต่อไปท่านผู้ใดเห็นว่ายังแคบไปจะต่อเสริมก็ได้ ที่ท่านเห็นว่ากว้างขวางไปจะย่อให้สั้นเข้า
ก็ได้ หรือเห็นว่ารุงรังจะเลิก ไม่ใช้ ใช้เฉพาะแบบในวิสุทธิมรรคก็ตามใจ คำสมาทานที่ผู้เขียน
ผูกขึ้นนี้ ตอนต้นต้องใช้แบบวิสุทธิมรรคก่อน แล้วต่อด้วยคำสมาทานที่ผูกขึ้นเองดังนี้

คำสมาทานที่ผูกขึ้นเอง

          "ข้าพเจ้า ขออาราธนาบารมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจก-
พุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ บารมีพระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบๆ
กันมา มีหลวงพ่อปานวัดบางนมโคเป็นที่สุด ขอได้โปรดยกจิตของข้าพเจ้าขึ้นสู่ภาวะพระกรรมฐาน
๔๐ ทัศน์ พระปีติทั้ง ๕ และวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ขอพระกรรมฐานทั้ง ๔๐ ทัศน์ พระปีติทั้ง ๕
และวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ จงมาบังเกิดปรากฏในกายทวาร ในวจีทวาร ในมโนทวารของข้าพเจ้า
ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด"

          เสร็จแล้วก็กราบพระสามหน ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่นคง กำหนดลมหายใจเข้าออก
ไว้ในฐานทั้งสาม แล้วกำหนดพิจารณาโทษของนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ จนจิตสงบสงัดสงัดจากนิวรณ์
มีกามฉันทะเป็นต้น ไม่มีนิวรณ์อย่างใดมารบกวนจิตแล้วก็เริ่มพิจารณาหรือภาวนา กรรมฐานที่พึง
ปฏิบัติ ถ้าเป็นกรรมฐานภาวนา เมื่อนิวรณ์ระงับจากจิต จิตว่างจากนิวรณ์แล้ว สมาธิที่ได้ในขณะนั้น
จะเข้าถึงปฐมฌานทันที ถ้าเป็นกรรมฐานพิจารณาจิตก็จะตั้งอยู่ในระดับอุปจารฌานละเอียดอารมณ์
จะแจ่มใส เห็นเหตุเห็นผลชัดเจน หลายท่านที่ชำระจิตแจ่มใสจากนิวรณ์แล้ว เข้าภาวนาจิตเข้าไป
หยุดอยู่ในสมาธิสูง คือฌาน ๔ อย่างนี้ก็มีมาก ฉะนั้น นักปฏิบัติก่อนที่จะภาวนาหรือพิจารณาอย่างอื่น
ให้ชำระจิตจากนิวรณ์เสียก่อน  คือใคร่ครวญพิจารณานิวรณ์ ๕ ประการ ให้เห็นเหตุเห็นผลชัดเจน
เห็นโทษของนิวรณ์ จนจิตเอือมระอาจากนิวรณ์ มีความเบื่อหน่ายในนิวรณ์แล้ว จึงค่อย ๆ ภาวนา
หรือพิจารณากรรมฐานที่ฝึก ถ้าจิตยังไม่ว่างจากนิวรณ์ก็อย่าเพ่อภาวนา ขืนทำไปก็เหนื่อยเปล่า
อย่ารีบร้อนเร่งรัดเกินไป ค่อย ๆ ขับไล่นิวรณ์ให้สลายตัวไปเสียก่อน จะช้าเร็วอย่างไรไม่ต้องคำนึง
ถ้านิวรณ์ระงับ ท่านก็จะถึงฌานทันที อย่างน้อยก็ได้ปฐมฌาน และอาจถึงฌาน ๔ ภายในระยะเวลา
อันสั้น จงจำไว้ว่าช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม  ตามภาษิตโบราณท่านว่าอย่างนี้  (แต่ช้านานเกินกาล เกิน
ควรก็เละไม่เป็นเรื่อง ภาษิตของผู้เขียน)

มัชฌิมาปฏิปทา 
       
           คำว่า มัชฌิมาปฏิปทา คำนี้เป็นถ้อยคำที่พระพุทธสาวกจำกันจนขึ้นใจ เป็นพระพุทธพจน์
ที่ยืนยันถึงผลของการปฏิบัติ  เพราะการปฏิบัตินั้นมีแนวอยู่สามแนวคือ

          ๑. อัตตกิลมถานุโยค การดำรงความเพียรอย่างเคร่งเครียด กินน้อยนอนน้อยว่ากันหามรุ่ง
หามค่ำ บางรายถึงกับอดมื้อกินมื้อ บางรายพยายามกินน้อยๆ  ลดลงไปทุกวันจนร่างกายผอม และ
มีการกลั้นลมหายใจ กลั้นกันนานๆ เพื่อให้มรรคผลนิพพานเกิดขึ้น แต่มันก็ไม่เกิด เพราะมันไม่ใช่
ทางของผลที่ฌานและมรรคผลจะเกิด พระพุทธเจ้าเองท่านยืนยันว่า วิธีนี้พระองค์ทำมาแล้ว สิ้นเวลา
หกปีเต็ม อดข้าวจนมีร่างกายผอมเกือบเดินไม่ไหว ขนที่พระกายเวลาเอามือลูบถึงกับหลุดติดมือ
ออกมา กลั้นลมโดยเอาลิ้นกดเพดานจนลมออกหูอู้ ทำอย่างนี้พระองค์ตรัสว่า เป็นการทรมานตน
ให้ลำบากเปล่าไม่เกิดมรรคผลเลย นอกจากจะเพิ่มทุกขเวทนาให้มากขึ้น สมัยนี้เห็นจะได้แก่การ
อัดขันธ์ของอาจารย์บางคณะ เคยไปพบเขาที่สนามแจง จังหวัดลพบุรี เห็นอุบาสิกาสองคนนั่งคราง
เสียงกระหึ่ม ได้เข้าไปถามว่า โยมเป็นอะไร เพราะคิดว่าแกป่วย ได้รับคำตอบว่า

          " อาจารย์ท่านสั่งให้อัดขันธ์ค่ะ "
          ถามว่า " อัดขันธ์เป็นอย่างไร "
          ได้รับคำตอบว่า " อาจารย์ให้กลั้นใจ "

          ฟังแล้วก็สลดใจ คิดว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนมาแล้ว ท่านทำมาแล้วยิ่งกว่านี้ ท่านทราบว่า
ไม่เป็นทางสำเร็จ ไม่คิดเลยว่าสมัยนี้ยังมีคนเอามาสอนกันอีก แบบนี้จงอย่าแตะต้องเลย ผู้เขียนเอง
ก็ลองฝืนและได้รับผล คือ ของเก่าที่ได้มาแล้วพลอยสูญไปด้วย ที่เป็นโรคเส้นประสาท และถูก
ประสาทหลอน ก็เพราะทำนอกรีตนอกรอยอย่างนี้แหละ

          ๒. กามสุขัลลิกานุโยค มีอารมณ์จิตพัวพันกับกามารมณ์ ไม่ถอนจิตจากกามารมณ์  ยิ่ง
เอากายเข้าไปใกล้ชิดเพศตรงข้ามด้วย ยิ่งเป็นผลร้ายเต็มที่ เป็นทางกั้นมรรคผลโดยตรงทีเดียว
จงระมัดระวังให้มาก อยากได้ดีต้องหลีกเลี่ยงได้ ถ้าอดใจหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เป็นกรรมของสัตว์
ไม่มีใครช่วยได้

         ๓. มัชฌิมาปฏิปทา ทำพอสบายๆ ไม่เกียจคร้านเกินไป ไม่ขยันเกินไป นั่งนาน เมื่อย
ก็นอน ยืน หรือเดิน ตามแต่จะเห็นว่าสบาย กำหนดอารมณ์ภาวนา หรือพิจารณาไปด้วย จงถือว่า
สมาธิจะตั้งมั่น หรืออารมณ์จะผ่องใสจากกิเลสนั้น มีความสำคัญที่จิตใจไม่ใช่ที่กาย กินอาหารให้อิ่ม
อิ่มพอดีนะ ระวังอย่ารับประทานอาหารที่เป็นโทษแก่ร่างกาย อะไรเคยกินแล้วเป็นพิษเป็นภัยแก่
ร่างกาย ควรเว้นไม่กินต่อไปเด็ดขาด ตัดสังคมที่มีความเห็นไม่เสมอกันเสียให้เด็ดขาด อยู่ใน
สถานที่เงียบสงัด อย่าให้วันเวลาล่วงเลยไปโดยที่มิได้พิจารณาเห็นโทษของสังขาร ทำอย่างนี้น่าจะ
พูดรับรองผล  แต่ท่านห้ามพูดก็เลยเฉยไว้เพียงนี้ อย่างน้อย ฌานสมาบัติเป็นของท่านแน่นอน
อย่างดีก็ถึงจุดหมายปลายทาง พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้อย่างนี้  ก็จงใคร่ครวญและปฏิบัติตามเถิด
ไม่เสียเวลาเปล่าแน่

ที่มา  board.palungjit.com

อิทธิบาท ๔


อิทธิบาท ๔ 
ได้พูดถึงวิธีการต่างๆ  มามาก ต่อแต่นี้ไปจะพูดถึงกฎบังคับตายตัวในพระพุทธศาสนา
อีกอย่างหนึ่ง ที่นักปฏิบัติไม่ว่าระดับใดต้องยึดถือเป็นกฎบังคับสำหรับการปฏิบัติ ถ้าทิ้งอิทธิบาท ๔ นี้
เสียแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่มีทางสำเร็จผลสมความปรารถนา แต่ถ้าท่านผู้ใดทรงการปฏิบัติตาม
ในอิทธิบาท ๔ นี้แล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสรับรองผลว่า ต้องสำเร็จสมความมุ่งหมาย
ทุกประการ แม้ท่านหวังพระนิพพานในชาตินี้ ก็หวังได้แน่นอน ใจความในอิทธิบาท ๔ มีดังนี้

          ๑. ฉันทะ  มีความพอใจในปฏิปทาที่ปฏิบัติโดยสม่ำเสมอ
          ๒. วิริยะ   มีความพากเพียรพยายามไม่ท้อถอย
          ๓. จิตตะ   สนใจในข้อวัตรปฏิบัตินั้นเนืองนิจ
          ๔. วิมังสา ใคร่ครวญพิจารณา ในข้อวัตรปฏิบัตินั้นโดยถูกต้อง

          กฎ ๔ อย่างนี้ท่านเรียกว่า อิทธิบาท แปลว่า เข้าถึงความสำเร็จ หมายความว่าท่าน
นักปฏิบัติท่านใดจะปฏิบัติในสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม ถ้าท่านมีแนวความคิดรักใคร่สนใจในข้อวัตร-
ปฏิบัติ มีความพากเพียรไม่ท้อถอย สนใจใคร่อยู่เป็นปกติ พิจารณาสอบสวนทบทวนปฏิปทาทปฏิบัติ
แล้ว ว่าเหมาะสมถูกต้องประการใด หรือไม่เพียงใด ต่อไปควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเหมาะสมถูกต้อง
ปฏิบัติได้อย่างนี้ สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่า ไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้ไม่สำเร็จ อิทธิบาท ๔ ประการนี้
นักปฏิบัติต้องยึดไว้เป็นหลักปฏิบัติประจำใจ ไม่มีพระอรหันต์องค์ใดที่จะละเลย ไม่ยึดถืออิทธิบาท ๔นี้
เป็นหลักปฏิบัติประจำใจ  แม้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเองก็ทรงยึดอิทธิบาทนี้เป็นกฏในการปฏิบัติ
เช่นเดียวกัน ขอท่านนักปฏิบัติทุกท่านจงยึดถืออิทธิบาทนี้เป็นหลักชัยประจำใจไว้เสมอ


อิริยาบท
นักปฏิบัติผู้หวังผล  ส่วนมากมักจะหนักใจอิริยาบท คิดว่านั่งอย่างไร นอนได้ไหม? เดิน ยืน
ได้หรือเปล่า? ขอบอกไว้ให้ทราบว่า วิธีปฏิบัติในอิริยาบทนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคไม่ทรงจำกัดไว้
ท่านว่าได้ทั้ง ๔ อิริยาบท คือ นั่ง นอน ยืน เดิน

การนั่ง 
การนี้ท่านไม่จำกัดไว้ ท่านว่านั่งตามสบาย ชอบขัดสมาธิ หรือพับเพียบ หรือท่าใดท่าหนึ่ง
ที่พอเห็นว่าเหมาะสม หรือพอสบาย ท่านว่าทำได้ แต่ตามแบบท่านพูดเป็นกลาง ๆ ไว้ว่า เข้าสู่ที่สงัด
นั่งขัดสมาธิ  ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น ท่านว่าอย่างนี้ การตั้งกายให้ตรง เอากันเพียงแค่เท่าที่
จะตรงได้ สังเกตดูด้วยการทดลองสูดลมหายใจเข้าออก เอาพอหายใจสบายๆ ถ้าคนหลังงอหลังโกง
บังคับให้ตรงเป๋งย่อมไม่ได้ ต้องให้เหยียดพอดีเท่าที่จะเหยียดได้

นอน
ท่านว่าควรนอนตะแคงขวา แบบสีหไสยาสน์ แต่ทว่าถ้านอนตะแคงขวาไม่ได้เพราะเหตุใด
ก็ตาม ท่านจะนอนท่าใดก็ได้ ตามแต่ที่ท่านจะเห็นว่าสบาย

การยืน 
แบบยืนนี้เห็นจะไม่ต้องอธิบาย ก็การยืนไม่มีหลายท่า เอากันแค่ยืนได้ ใครขืนเล่นพิเรนทร์
ยืนนอกแบบฉบับก็เห็นจะลำบาก

การเดิน
การเดินนี้มีความสำคัญมาก ต้องขออธิบายสักหน่อย เดินท่านเรียกว่า "จงกรม" ทำกัน
อย่างไร ท่านไม่ได้อธิบายไว้ แต่ตามที่ปฏิบัติกันมา ท่านสอนให้เดินหลายอย่าง คือ

          ๑. เดินนับก้าว ที่เท้าก้าวไป 

          ๒. เดินกำหนดรู้การก้าวไปและถอยกลับ รู้พร้อมทั้งการแกว่งแขน และยกขาว่า ก้าวเท้าซ้าย
หรือเท้าขวา แกว่งแขนซ้ายหรือแขนขวา ก้าวไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ดังนี้เป็นต้น 

          ๓. เดินกำหนดอารมณ์สมาธิ คือกำหนดนิมิตสมาธิตามอารมณ์กรรมฐานที่เจริญอยู่ โดยเดิน
ไปตามปกติธรรมดา

          ขอสรุปเอาว่า การเดินปฏิบัติ ท่านเรียกว่าเดินจงกรม คือเดินควบคุมสติให้รู้ว่า ก้าวไปหรือ
ถอยกลับใหม่ ๆ  ท่านให้ฝึกนับก้าวว่า เดินไปได้กี่ก้าวจึงถึงที่หมาย ต่อมาให้กำหนดรู้ว่า เราเดินด้วย
เท้าซ้ายหรือเท้าขวาให้กำหนดรู้ไว้ เพื่อรักษาสมาธิ ต่อไปก็เดินกำหนดอารมณ์กรรมฐาน ถ้าเป็น
กรรมฐานที่มีรูป ก็กำหนดรูปกรรมฐานไปพร้อมกัน กรรมฐานกองใดได้สมาธิในขณะเดิน กรรมฐาน
กองนั้นสมาธิไม่มีเสื่อม

          วิธีเดิน ตอนแรกๆ ควรเดินช้าๆ เพราะจิตยังไม่ชิน ต่อเมื่อจิตชินแล้ว ให้เดินตามปกติ
แล้วกำหนดรู้ไปด้วย เมื่อใดถ้าเดินเป็นปกติ รู้การก้าวไปและถอยกลับได้จิตไม่เคลื่อนและรักษา
อารมณ์สมาธิ หรือนิมิตกรรมฐานได้เป็นปกติ ทั้งเดินในที่ฝึกหรือเดินในธุรกิจแล้ว ก็ชื่อว่าท่าน
เป็นนักปฏิบัติที่เข้าระดับแล้ว พอจะเอาตัวรอด

บังคับหยุด
การเดินควรฝึกทั้งหลับตาและลืมตา ตอนแรกๆ ฝึกลืมตา พอชำนาญเข้าให้ฝึกหลับตา
แล้วกำหนดที่หยุดโดยกำหนดใจไว้ว่า ถึงตรงนั้นจงหยุด หรือ บังคับการแยกทางว่า ถึงตรงนั้นจง
แยกทาง หรือขณะเดินอยู่นั้นอธิษฐานให้กายเดินย้อนไปย้อนมาตามแนวเส้นทางให้ถูกต้อง ส่วน
จิตถอดท่องเที่ยวไปในภพต่างๆ บังคับให้กายเดินให้ตรงทางที่มีส่วนตรงและโค้ง เลี้ยวไปเลี้ยวมา
ตามเส้นทาง

หรือบังคับให้หยุดตรงที่กำหนด ให้หยุดกี่นาที แล้วเดินต่อไปตามกำหนดอย่างนี้ เป็นวิธี
เดินจงกรมฝึกกรรมฐาน การเดินควรฝึกให้ถึงขั้นปกติ

อานิสงส์เดินจงกรม
การเดินจงกรมเป็นการเปลี่ยนอิริยาบท ไม่ให้เส้นสายยึดจนกลายเป็นคนง่อยเปลี้ยและ
ยังทำให้ท้องไม่ผูกอีกด้วย

ที่มา  board.palungjit.com

จริต ๖

จริต แปลว่า จิตท่องเที่ยว สถานที่จิตท่องเที่ยวหรืออารมณ์เป็นที่ชอบท่องเที่ยวของ
จิตนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงประมวลไว้เป็น ๖ ประการด้วยกัน คือ

          ๑. ราคจริต จิตท่องเที่ยวไปไปในอารมณ์ที่รักสวยรักงาม คือพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ
กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล รวมความว่าอารมณ์ที่ท่องเที่ยวไปในราคะ คือ ความกำหนัด
ยินดีนี้ บุคคลผู้เป็นเจ้าของจริต มีอารมณ์หนักไปในทางรักสวยรักงาม ชอบการมีระเบียบ สะอาด
ประณีต มีกิริยาท่าทางละมุนละไมนิ่มนวล เครื่องของใช้สะอาดเรียบร้อย บ้านเรือนจัดไว้อย่างมี
ระเบียบ พูดจาอ่อนหวาน เกลียดความเลอะเทอะสกปรก การแต่งกายก็ประณีต ไม่มีของใหม่ก็
ไม่เป็นไร แม้จะเก่าก็ต้องสะอาดเรียบร้อย ราคจริต มีอารมณ์จิตรักสวยรักงามเป็นสำคัญ อย่าตี
ความหมายว่า ราคจริต มีจิตมักมากในกามารมณ์ ถ้าเข้าใจอย่างนั้นพลาดถนัด

          ๒. โทสจริต มีอารมณ์มักโกรธเป็นเจ้าเรือน เป็นคนขี้โมโหโทโส อะไรนิดก็โกรธ อะไร
หน่อยก็โมโห เป็นคนบูชาความโกรธว่าเป็นของวิเศษ วันหนึ่งๆ ถ้าไม่ได้โกรธเคือง โมโหโทโส
ใครเสียบ้างแล้ว วันนั้นจะหาความสบายใจได้ยาก คนที่มีจริตหนักไปในโทสจริตนี้ แก่เร็ว พูด
เสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ ไม่ใคร่ละเอียดถี่ถ้วน แต่งตัวไม่พิถีพิถัน เป็นคนใจเร็ว

          ๓. โมหจริต มีอารมณ์จิตลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ชอบสะสมมากกว่าการจ่ายออก ไม่ว่า
อะไรเก็บดะ ผ้าขาดกระดาษเก่า ข้าวของตั้งแต่ใดก็ตาม มีค่าควรเก็บหรือไม่ก็ตามเก็บดะไม่เลือก
มีนิสัยเห็นแก่ตัว อยากได้ของของคนอื่น แต่ของตนไม่อยากให้ใคร ชอบเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน
ไม่ชอบบริจาคทานการกุศล รวมความว่าเป็นคนชอบได้ ไม่ชอบให้

          ๔. วิตกจริต มีอารมณ์ชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด มีเรื่องที่จะต้องพิจารณานิดหน่อย
ก็ต้องคิดตรองอยู่อย่างนั้น ไม่กล้าตัดสิน คนประเภทนี้เป็นโรคประสาทมาก มีหน้าตาไม่ใคร่สดชื่น
ร่างกายแก่เกินวัย หาความสุขสบายใจได้ยาก

          ๕. สัทธาจริต มีจิตน้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ  เชื่อโดยไร้เหตุไร้ผล พวกที่
ถูกหลอกลวงก็คนประเภทนี้ มีใครแนะนำอะไรตัดสินใจเชื่อโดยไม่ได้พิจารณา

          ๖. พุทธจริต เป็นคนเจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาดเฉลียว มีปฏิภาณไหวพริบดี
การคิดอ่านหรือการทรงจำก็ดีทุกอย่าง



         อารมณ์ของชาวโลกทั่วไป สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประมวลอารมณ์ว่า อยู่ในกฎ ๖
ประการตามที่กล่าวมาแล้วนี้ บางคนมีอารมณ์ทั้ง ๖ อย่างนี้ครบถ้วน บางรายก็มีไม่ครบ มีมากน้อย
ยิ่งหย่อนกว่ากันตามอำนาจวาสนาบารมีที่อบรมมาในการละในชาติที่เป็นอดีต อารมณ์ที่มีอยู่คล้าย
คลึงกัน แต่ความเข้มข้นรุนแรงไม่เสมอกัน ทั้งนี้ก็เพราะบารมีที่อบรมมาไม่เสมอกัน ใครมีบารมี
ที่มีอบรมมามาก บารมีในการละมีสูงอารมณ์จริตก็มีกำลังต่ำไม่รุนแรง ถ้าเป็นคนที่อบรมในการละ
มีน้อย อารมณ์จริตก็รุนแรง จริตมีอารมณ์อย่างเดียวกันแต่อาการไม่สม่ำเสมอกันดังกล่าวแล้ว

ประโยชน์ของการรู้อารมณ์จริต 

          นักปฏิบัติเพื่อฌานโลกีย์ หรือเพื่อมรรคผลนิพพานก็ตาม ควรรู้อาการของจริตที่จิต
ของตนคบหาสมาคมอยู่ เพราะการรู้อารมณ์จิตเป็นผลกำไรในการปฏิบัติเพื่อการละด้วยการ
เจริญสมาธิก็ตาม พิจารณาวิปัสสนาญาณก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่การควบคุมความรู้สึกของ
อารมณ์  ถ้าขณะที่กำลังตั้งใจกำหนดจิตเพื่อเป็นสมาธิ หรือพิจารณาวิปัสสนาญาณอารมณ์จิต
เกิดฟุ้งซ่าน ไปปรารถนาความรักบ้าง ความโกรธบ้าง ผูกพันในทรัพย์สมบัติบ้าง วิตกกังวลถึง
เหตุการณ์ต่างๆ บ้าง เกิดอารมณ์สัทธาหวังในการสงเคราะห์ หรือมุ่งบำเพ็ญธรรมบ้าง เกิด
อารมณ์แจ่มใส น้อมไปในความเฉลียวฉลาดบ้าง เมื่อรู้ในอารมณ์อย่างนี้ ก็จะได้น้อมนำเอา
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มาประคับประคองใจให้เหมาะสมเพื่อผลในสมาธิ หรือ
หักล้างด้วยอารมณ์วิปัสสนาญาณเพื่อผลให้ได้ญาณสมาบัติ หรือมรรคผลนิพพาน พระธรรมที่
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อผลของสมาบัติ ท่านเรียกว่า "สมถกรรมฐาน" มีรวมทั้งหมด
๔๐ อย่างด้วยกัน ท่านแยกไว้เป็นหมวดเป็นกองดังนี้

          อสุภกรรมฐาน ๑๐ อนุสสติกรรมฐาน ๑๐ กสิณ ๑๐ อาหาเรฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑
พรหมวิหาร ๔ อรูป ๔ รวมเป็น ๔๐ กองพอดี


แบ่งกรรมฐาน ๔๐ ให้เหมาะแก่จริต 
       
           เพราะอาศัยที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี มีมาเพื่อเป็นศาสดาทรงสั่งสอนบรรดา
สรรพสัตว์เพื่อให้บรรลุมรรคผล ด้วยหวังจะให้พ้นจากทุกข์อันเกิดจากการเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ
ความเป็นสัพพัญญูของสมเด็จผู้ทรงสวัสดิ์ พระองค์ทรงทราบถึงความเหมาะสมในกรรมฐานต่าง ๆ
ที่เหมาะสมกับอารมณ์จิตที่มีความข้องอยู่ในขณะนั้น ด้วยตรัสเป็นพระพุทธฎีกาไว้ว่า เมื่อใดอารมณ์
จิตของท่านผู้ใดข้องอยู่ในอารมณ์ชนิดใดก็ให้เอากรรมฐานที่พระองค์ทรงประทานไว้ว่าเหมาะสมกัน
เข้าพิจารณา หรือภาวนาแก้ไขเพื่อความผ่องใสของอารมณ์จิต เพื่อการพิจารณาวิปัสสนาญาณ เพื่อ
มรรคผลนิพพานต่อไป ฉะนั้น ขอนักปฏิบัติทั้งหลายจงสนใจเรียนรู้กรรมฐาน ๔๐ กอง และจริต ๖
ประการ  ตลอดจนกรรมฐานที่ท่านทรงจัดสรรไว้เพื่อความเหมาะสมแก่จริตนั้นๆ ท่องให้ขึ้นใจไว้
และอ่านวิธีปฏิบัติให้เข้าใจ เพื่อสะดวก เมื่อเห็นว่าอารมณ์เช่นใดปรากฏ จะได้จัดสรรกรรมฐานที่
พระพุทธองค์ทรงกำหนดว่าเหมาะสมมาหักล้างอารมณ์นั้นๆ ให้สงบระงับ ถ้านักปฏิบัติทุกท่านปฏิบัติ
ตามพระพุทธฎีกาตามนี้ได้ ท่านจะเห็นว่า การเจริญสมถะเพื่อทรงฌานก็ดี การพิจารณาวิปัสสนาญาณ
เพื่อมรรคผลนิพพานก็ดี ไม่มีอะไรหนักเกินไปเลย ตามที่ท่านคิดว่าหนักหรืออาจเป็นเหตุสุดวิสัยนั้น
ถ้าท่านปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านจะเห็นว่าไม่หนักเกินวิสัยของคนเอาจริงเลย
กับจะคิดว่าเบาเกินไปสำหรับท่านผู้มีความเพียรกล้าเสียอีก กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ท่านจำแนกแยก
เป็นหมวดไว้ เพื่อเหมาะสมกับจริตนั้นๆ  มีดังนี้  คือ

๑. ราคจริต 

          ราคจริตนี้ ท่านจัดกรรมฐานที่เหมาะสมไว้ ๑๑ อย่างคือ อสุภกรรมฐาน ๑๐ กับกายคตานุสสติ
กรรมฐาน อีก ๑ รวมเป็น ๑๑ อย่างในเมื่ออารมณ์รักสวยรักงามปรากฏขึ้นแก่อารมณ์จิตจงนำกรรมฐาน
นี้มาพิจารณา โดยนำมาพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งจากกรรมฐาน ๑๑ อย่างนี้ ตามแต่ท่านจะชอบใจ
จิตใจท่านก็จะคลายความกำหนัดยินดีในกามารมณ์ลงได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นอะไรเลย ถ้าจิตข้อง
อยู่ในกามารมณ์เป็นปกติ ก็เอากรรมฐานนี้พิจารณาเป็นปกติ จนกว่าอารมณ์จะสงัดจากกามารมณ์
เห็นคนและสัตว์และสรรพวัตถุทั้งหลายที่เคยนิยมชมชอบว่าสวยสดงดงาม กลายเป็นของ น่าเกลียด
โสโครกโดยกฎของธรรมดา จนเห็นว่าจิตใจไม่มั่วสุมสังคมกับความงามแล้วก็พิจารณาวิปัสสนาญาณ
โดยยกเอาขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเราโดย
เอาอสุภกรรมฐานหรือกายคตานุสสติกรรมฐานเป็นหลักชัยทำอย่างนี้ไม่นานเท่าใดก็จะเข้าถึงมรรคผล
นิพพาน การทำถูกไม่เสียเวลานานอย่างนี้

๒. โทสจริต 
     
          คนมักโกรธ  หรือขณะนั้นเกิดมีอารมณ์โกรธพยาบาทเกิดขึ้นขวางอารมณ์ไม่สะดวกแก่
การเจริญฌาน ท่านให้เอากรรมฐาน ๘ อย่าง คือ พรหมวิหาร ๔ และ วัณณกสิณ ๔ วัณณกสิณ ๔
ได้แก่  นีลกสิณ เพ่งสีเขียว โลหิตกสิณ  เพ่งสีแดง  ปีตกสิณ  เพ่งสีเหลือง  โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว
กรรมฐานทั้งแปดอย่างนี้  เป็นกรรมฐานระงับดับโทสะ ท่านจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสม
แก่ท่าน คือตามแต่ท่านจะพอใจเอามาเพ่งและใคร่ครวญพิจารณา อารมณ์โทสะก็จะค่อยๆ คลายตัว
ระงับไป

๓. โมหะ และ วิตกจริต 

          อารมณ์ที่ตกอยู่ในอำนาจของความหลงและครุ่นคิดตัดสินใจอะไรไม่เด็ดขาด ท่านให้เจริญ
อานาปานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว  อารมณ์ความลุ่มหลงและความคิดฟุ้งซ่านจะสงบระงับไป

4. สัทธาจริต

          ท่านที่เกิดสัทธาความเชื่อ เชื่อโดยปกติ หรืออารมณ์แห่งความเชื่อเริ่มเข้าสิงใจก็ตาม
ท่านให้เจริญกรรมฐาน ๖ อย่าง  คือ  อนุสสติ ๖ ประการ ดังต่อไปนี้ (๑) พุทธานุสสติกรรมฐาน
(๒) ธัมมานุสสติกรรมฐาน  (๓) สังฆานุสสติกรรมฐาน  (๔) สีลานุสสติกรรมฐาน  (๕) จาคา-
นุสสติกรรมฐาน  (๖) เทวตานุสสติกรรมฐาน  อนุสสติทั้ง ๖ อย่างนี้  จะทำให้จิตใจของท่านที่
ดำรงสัทธาผ่องใส

๕. พุทธิจริต 
          คนเฉลียวฉลาดรู้เท่าทันเหตุการณ์  และมีปฎิภาณไหวพริบดี  ท่านให้เจริญกรรมฐาน ๔
อย่าง ดังต่อไปนี้ (๑) มรณานุสสติกรรมฐาน (๒) อุปสมานุสสติกรรมฐาน (๓) อาหาเรปฏิกูลสัญญา
(๔) จตุธาตุววัฏฐาน  รวม ๔ อย่างด้วยกัน

          กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตทั้ง ๖ ท่านจัดเป็นหมวดไว้ ๕ หมวด รวมกรรมฐานที่เหมาะ
แก่จริต โดยเฉพาะจริตนั้นๆ รวม ๓๐ อย่าง หรือในที่บางแห่งท่านเรียกว่า ๓๐ กอง กรรมฐาน
ทั้งหมดด้วยกันมี ๔๐ กอง ที่เหลืออีก ๑๐ กอง คือ อรูป ๔ ภูตกสิณ ได้แก่ ปฐวีกสิณ  เตโชกสิณ
วาโยกสิณ อาโปกสิณ  ๔ อย่างนี้เรียกภูตกสิณ  อาโลกสิณ  ๑  และอากาศกสิณอีก ๑  รวมเป็น
๑๐ พอดี  กรรมฐานทั้ง ๑๐ อย่างนี้  ท่านตรัสไว้เป็นกรรมฐานกลางเหมาะแก่จริตทุกอย่าง  รวม
ความว่าใครต้องการเจริญก็ได้เหมาะสมแก่คนทุกคน  แต่สำหรับอรูปนั้นถ้าใครต้องการเจริญ
ท่านให้เจริญฌานในกสิณให้ได้ฌาน  ๔  เสียก่อน  แล้วจึงเจริญในอรูปได้  มิฉะนั้นถ้าเจริญอรูป
เลยทีเดียวจะไม่มีอะไรเป็นผล เพราะอรูปละเอียดเกินไปสำหรับนักฝึกสมาธิใหม่

ที่มา  board.palungjit.com

นิมิต


นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย คือรูปเป็นเครื่องกำหนดจิต จับเป็นอารมณ์ นิมิตนี้ส่วนใหญ่เป็น
เครื่องหมายของกสิณ แต่ทว่ากรรมฐานหมวดอื่นๆ ก็มีเหมือนกัน เช่น อสุภกรรมฐานก็มีรูปอสุภเป็น
นิมิต อาหาเรปฏิกูลสัญญา ก็มีรูปอาหารเป็นนิมิต อย่างนี้เป็นต้น รวมความว่านิมิตนั้นแยกออกเป็น
สองอย่าง คือ นิมิตที่เป็นเครื่องหมายกำหนดจิต เป็นนิมิตจำเป็นที่นักปฏิบัติจำเป็นต้องกำหนดอย่างหนึ่ง
นิมิตเลื่อนลอย เป็นนิมิตตัดรอนความดีที่นักปฏิบัติควรละประการหนึ่ง จะขออธิบายในนิมิตทั้งสอง
พอเข้าใจไว้ดังต่อไปนี้

นิมิตจำเป็นต้องรักษา

          นิมิตที่จำเป็นต้องรักษาคือ  กรรมฐานหมวดใดที่มีนิมิตเป็นอารมณ์ เช่น กสิณ  เป็นต้น
เมื่อเริ่มปฏิบัติในกรรมฐานกองนั้น ท่านให้ถือนิมิตอะไรเป็นสำคัญต้องรักษานิมิตนั้นให้มั่นคง คือกำหนด
จดจำภาพนั้นให้ติดใจ จะกำหนดรู้เมื่อไรให้เห็นได้ชัดเจนแจ่มใสตามสภาพเดิมที่กำหนดจดจำไว้
อย่างนี้ท่านเรียกว่า "บริกรรมนิมิต" จัดเป็นสมาธิได้ในสมาธิเล็กน้อยที่เรียกว่า "ขณิกสมาธิ"

          นิมิตใดที่ท่านนักปฏิบัติเพ่งกำหนดจดจำไว้ มีความชำนาญมากขึ้น จนภาพนิมิตนั้น
ชัดเจนแจ่มใส สามารถบังคับให้สูง ต่ำ ใหญ่ เล็ก ได้ตามความประสงค์ แล้วต่อไปนิมิตนั้นค่อยเปลี่ยนสี
จากสีเดิมไปทีละน้อย ๆ จนกลายเป็นสีใสสะอาด อย่างนี้ท่านเรียกว่า" อุคคหนิมิต " ถ้าเรียกเป็น
สมาธิก็เรียกว่า " อุปจารสมาธิ " ถ้าเรียกเป็นฌานก็เรียกว่า " อุปจารฌาน "

          นิมิตใดที่นักปฏิบัติเพ่งพิจารณากำหนดอยู่จนติดตาติดใจ จนนิมิตนั้นกลายจากสีเดิม
มีสีขาวใสสวยสดงดงาม มีประกายคล้ายดาวประกายพรึก อารมณ์จิตแนบสนิทไม่เคลื่อนไหว ลมหายใจ
อ่อนระรวย ภาพนิมิตที่สดสวยนั้นหนาทึบเป็นแท่ง อารมณ์จิตไม่กวัดแกว่งไปตามเสียงที่เข้ามากระทบ
โสตประสาท แม้เสียงจะดังกังวานเพียงใด จิตใจก็ไม่หวั่นไหว คงมีอารมณ์สงบเงียบ กำหนดจดจำนิมิต
ไว้ได้ด้วยดี อาการอย่างนี้เรียกเป็นนิมิต ท่านเรียกว่า " ปฏิภาคนิมิต " ถ้าเรียกเป็นสมาธิท่านเรียกว่า
" อัปปนาสมาธิ " ถ้าเรียกเป็นฌาน ท่านเรียกว่า " ปฐมฌาน "

          นิมิตตามที่ท่านกำหนดให้ยึดถือตามกฎของปฏิบัติกรรมฐานกองนั้น ๆ อย่างนี้เป็นนิมิตที่
จำเป็นต้องกำหนดจดจำและทำให้ถึงขั้นถึงระดับ

นิมิต dmc.tv

นิมิตที่จำต้องละ

          นิมิตที่จำต้องละก็คือ นิมิตเลื่อนลอย เมื่อจิตมีสมาธิเล็กน้อย เช่น ขณิกสมาธิ ตอนปลายใกล้
จะถึงอุปจารสมาธิก็ดี หรือจิตเข้าสู่สมาธิก็ดี ตอนนี้จิตเริ่มจะเห็นสิ่งที่เป็นทิพย์ เพราะอารมณ์นิวรณ์เริ่ม
สงัดจากจิต จิตก็จะเริ่มเห็นภาพบ้าง แสงสีต่างๆ บ้าง ความสว่างไสวบ้าง ซึ่งเป็นของใหม่ของจิต เพราะ
เป็นของใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนั่นเอง ความปลาบปลื้มลิงโลดจึงปรากฏมีแก่นักปฏิบัติที่ประสบพบ
เห็น พากันละอารมณ์ภาวนา หรือการพิจารณาเสีย ปล่อยใจให้เลื่อยลอยไปตามภาพหรือแสงสีที่เห็น จน
ภาพนั้นเลือนรางหายไป วันต่อไปถ้าทำไม่เห็น เพราะมีความติดอกติดใจในภาพและแสงสีนั้น นั่งคิดนอนมองใคร่จะได้เห็นภาพและแสงสีอีก เมื่อความใคร่เกิดขึ้นแทนที่จะได้เห็นอีกกลับไม่ได้ประสบพบเห็น บางรายเมื่อไม่ได้เห็นภาพอีก ถึงกับเสียอกเสียใจ ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ กลายเป็นโรคประสาท - หลอนไปก็มี จัดว่าเป็นความเสียหายหนักของนักปฏิบัติ

          ทางที่ถูกแล้ว สำหรับภาพนอกองค์กรรมฐานที่กำหนดเดิมนั้น ท่านสอนไม่ให้สนใจ เพราะถ้า
กรรมฐานกองที่ปฏิบัติอยู่นั้น เป็นกรรมฐานที่มีนิมิตอะไรเป็นอารมณ์ก็ต้องยึดถือนิมิตเดิมเป็นสำคัญ
ถ้ามีนิมิตอื่นแปลกปลอมเข้ามาก็ต้องกำจัดไปเสีย วิธีกำจัดก็ไม่สนใจไยดีในภาพนั้นๆ นั่นเอง เพราะถ้า
สนใจเข้า จักให้สมาธิฟั่นเฟือน ควรถือว่าเป็นนิมิตทำลายความดี ไม่ควรคบหาสมาคม ให้ยึดถือนิมิตที่กำหนดเดิมเป็นสำคัญ

         ถ้ากรรมฐานที่กำลังปฏิบัติอยู่  เป็นกรรมฐานไม่มีนิมิตเป็นอารมณ์ ถ้ามีนิมิตเกิดแทรกขึ้นมา
ก็จงตัดทิ้งไปเสียอย่าสนใจ เพราะกรรมฐานใดที่ไม่มีนิมิตเป็นอารมณ์ เมื่อปรากฏนิมิตแทรกขึ้นมา
ต้องถือว่านิมิตนั้นเป็นศัตรูของกรรมฐานที่กำลังปฏิบัติอยู่

          นักปฏิบัติที่เอาดีถึงระดับฌานไม่ได้ ก็เพราะมาติดอกติดใจหลงใหลใฝ่ฝันในนิมิตเป็นสำคัญ
ความจริงจิตที่จะเห็นนิมิตได้นั้น ก็เป็นจิตที่เริ่มเข้าระดับดีบ้างแล้ว คือเริ่มมีสมาธิเล็ก ๆ น้อยๆ การเห็น
ภาพก็เพราะจิตเริ่มมีสมาธิ แต่ที่เห็นนิมิตแล้วทิ้งคาถาภาวนาหรือทิ้งการกำหนดลมหายใจเข้าออก
ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปตามภาพนิมิตนั้น  เป็นการบ่อนทำลายนิมิตและสมาธิโดยตรง การเห็นจะทรง
อยู่ได้นานก็เพราะสมาธิทรงตัวนาน ถ้าเห็นแวบเดียวหายไป ก็แสดงว่าจิตเรามีสมาธินิดเดียว ที่ภาพนั้น
หายไป ไม่ใช่ภาพนั้นหนีไป ความจริงภาพไม่ได้หนี สมาธิเราไม่ทรงตัวต่างหาก เมื่อสมาธิหมด การ
ทรงตัว เพราะปล่อยจิตลอยไปตามภาพ สมาธิก็สลายตัว เมื่อสมาธิสลายตัวจิตก็มีอารมณ์มืด เพราะ
ไม่มีสมาธิ จิตที่มีอารมณ์สว่างสามารถเห็นภาพได้ก็เพราะจิตมีสมาธิ  ถ้านักปฏิบัติรู้เท่าทันแล้วเมื่อ
เห็นภาพแทนที่จะมั่นใจในภาพ กลับกำหนดอารมณ์ ในสมาธิให้มากขึ้น โดยไม่สนใจในภาพเลยอย่างนี้
ภาพนั้นจะชัดเจนแจ่มใสอยู่ได้นานจนกว่าสมาธิจะเคลื่อน ขอสรุปย่อเข้าเพื่อเข้าใจง่ายว่า ภาพนิมิตใด
ที่นอกเหนือไปจากภาพนิมิตที่กรรมฐานนั้นๆ มีกฎให้กำหนดแล้ว ถ้าปรากฏมีขึ้นในขณะเจริญสมาธิ
ท่านไม่ให้สนใจกับภาพนั้น ๆ เลย มุ่งหน้ากำหนดภาวนาไปตามปกติ ภาพนั้นจะทรงอยู่หรือหายไป
อย่างไรก็ช่าง อย่างนี้จึงจะถูกต้อง และเข้าถึงฌานได้รวดเร็ว ตรงตามความประสงค์ในการปฏิบัติสมาธิ
เพื่อดำรงฌาน

อารมณ์จิตที่ไม่แน่นอน

          นักปฏิบัติกรรมฐานใหม่ๆ  มักจะปวดเศียรเวียนเกล้าด้วยอารมณ์จิตที่ไม่แน่นอน บางคราวทำ
กรรมฐานมีอารมณ์แนบสนิท ลมละเอียด จิตใจเป็นสมาธิแน่วแน่ดี แต่พอเลิกแล้ว รุ่งขึ้นวันใหม่ หรือ
คราวต่อไป กลับมีอารมณ์ส่ายออกภายนอกจนบังคับไม่อยู่ สร้างความกลัดกลุ้มให้แก่นักปฏิบัติทุกท่าน
มาแล้ว อาการอย่างนี้ ไม่มีนักปฏิบัติท่านใดจะไม่ประสบ ต่างก็พบปะกันมาจนเป็นธรรมดาแก่นักปฏิบัติ
ทุกคน วิธีแก้อารมณ์ซ่านไม่ตั้งอยู่ในสมาธิ ๒ อย่าง คือ
          ๑. นักเจริญกรรมฐาน ควรมีแนวปฏิบัติเป็นสองแนว คือแนวภาวนาและพิจารณา
          ๒. ปล่อยอารมณ์ให้ล่องลอยไปก่อนเมื่อบังคับไม่ไหว แล้วค่อยกำหนดจับเอาเมื่ออารมณ์กลับ
เข้าแนวสมาธิ วิธีแก้อารมณ์ซ่านในสมองแบบนั้น  มีคำอธิบายดังต่อไปนี้

 ก. ภาวนาและพิจารณา

          ภาวนา หมายถึง ภาวนาตามแบบที่ครูบาอาจารย์สอน ภาวนาเพื่อให้อารมณ์หยุดจาก
อารมณ์ภายนอก ให้จิตจดจ่ออยู่ที่คำภาวนา เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ คำว่าจิตเป็นสมาธินั้น หมายถึงจิต
ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จิตหยุดโดยไม่รับอารมณ์ใดเลยทั้งสิ้น นักปฏิบัติใหม่
หรือท่านที่ไม่เคยปฏิบัติสมาธิเลยมักเข้าใจอย่างนั้น ความจริงการเข้าใจอย่างนั้นเป็นการเข้าใจที่ไม่
ตรงต่อความเป็นจริงธรรมดาของนักปฏิบัติใหม่จิตที่ว่างจากอารมณ์ โดยไม่รับรู้อารมณ์เลย สำหรับ
การปฏิบัติเบื้องต้นไม่มีอาการอย่างนั้นเป็นอาการของสัญญาเวทยิตนิโรธ พระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทา-
ญาณ หรือ พระอนาคามีระดับปฏิสัมภิทาญาณเท่านั้นที่จะเข้าได้ พระอริยะนอกนั้น แม้จะเป็นพระอรหันต์
ระดับเตวิชโช หรือฉฬภิญโญก็ไม่สามารถทำได้ ปกติของจิตเป็นอย่างนี้  เมื่อทราบแล้วว่าจิตไม่ว่าง
จากอารมณ์ เพื่อฝึกฝนจิตให้มีกำลังที่ควรแก่การเจริญวิปัสสนาญาณในขั้นต่อไปท่านจึงสอนให้ภาวนา
เพื่อโยงจิตให้อยู่ในอารมณ์ภาวนา คือ หาทางให้จิตนึกคิด แต่นึกคิดในขอบเขตที่มอบหมายให้ ไม่ใช่
จะนึกคิดเพ่นพ่านไป การภาวนาคาถาบทใดบทหนึ่งนี้ เป็นการระงับการฟุ้งซ่านของจิต แต่ทว่าในกาล
บางคราว การภาวนาอยู่อย่างนี้จิตเกิดมีอารมณ์ฟุ้งซ่านเกิดที่จะภาวนาได้ ทั้งนี้จะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม
เมื่ออารมณ์จิตเกิดฟุ้งซ่านห้ามปรามไม่ไหว

นักปฏิบัติมักจะเกิดความกลัดกลุ้มใจ เพราะบังคับใจไม่อยู่เมื่อเห็นว่าจิตจะบังคับให้อยู่ในวงแคบ คือ คิดเฉพาะคำภาวนาไม่อยู่แล้ว ท่านให้หาทางพิจารณาแทนเพราะการพิจารณาก็เป็นอารมณ์คิดเหมือนกันแต่ว่าคิดในทางละทางปลง จะพิจารณาตามกรรมฐานกองใดก็ได้ เช่น พิจารณาว่า เราต้องตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ต้องป่วยไข้เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความป่วยไข้ไปได้ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงกฎธรรมดานี้ไปได้ หรือ จะพิจารณาตามอสุภกรรมฐานให้เห็นว่าอะไรๆ ก็ไม่มีความสวยสดงดงามคงสภาพตามที่กล่าวไว้ในอสุภ ๑๐ ประการ หรือจะพิจารณากายตามในกายคตานุสสติก็ได้ กรรมฐานที่ท่านสอนให้พิจารณามีมากมาย ท่านสนใจก็อ่านต่อไปตอนท้ายเล่มหนังสือนี้จะพบ แล้วเลือกเอากรรม-ฐานประเภทพิจารณามาพิจารณาแก้อารมณ์ซ่านกรรมฐานที่เป็นบทภาวนา มีกำลังเป็นสมาธิ ส่วนใหญ่เป็นฌานกรรมฐานประเภทพิจารณา มีกำลังในขั้นอุปจารฌานได้ผลเหมือนกัน กรรมฐานภาวนา สร้างจิตให้มีกำลังเข้มแข็ง กรรมฐานพิจารณา ทำจิตให้เกิดความฉลาดรู้ตามความเป็นจริง  เป็นผลให้เกิดนิพพิทาญาณเป็นเหตุให้ได้มรรคผลรวดเร็วต่างฝ่ายก็ดีด้วยกัน เราไม่ได้อย่างโน้นก็ได้อย่างนี้ ดีกว่าปล่อยให้จิตใจกลัดกลุ้ม

ข. ปล่อยอารมณ์

          อารมณ์ของจิตบางคราวมันไม่เอาถ่านจริงๆ จะภาวนาหรือพิจารณามันก็ไม่เอาเรื่องด้วยทั้งนั้น
มันคอยจะออกนอกลู่นอกทางไปตามอารมณ์ของมัน ที่เป็นอย่างนี้เพราะ
          ๑. อาจเป็นเพราะเหน็ดเหนื่อยเกินไป
          ๒. ความป่วยไข้เบียดเบียน
          ๓. ตั้งใจเกินไป โดยคิดว่าวันวานนี้ เรามีอารมณ์แช่มชื่นดี วันนี้ทำให้ดีกว่านั้น ถ้าตั้งใจเกินไป
อย่างนี้ รายไหนก็รายนั้น เป็นเตลิดเปิดเปิงออกนอกลู่นอกทางไปทุกราย
          รวมความว่าจิตไม่อยู่ในเกณฑ์จะบังคับได้ ท่านให้ปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อเห็นว่าบังคับไม่ไหวจริงๆ
แล้วท่านให้ปล่อยให้คิดไปตามเรื่อง จะคิดอะไรก็ช่าง แต่คอยเอาสติควบคุมไว้ ไม่นานนัก อย่างมากก็
ไม่เกิน ๒๐ นาที จิตจะหยุดคิด ตอนนี้ท่านสอนว่าให้เริ่มจับอารมณ์ฝึกทันที จิตจะหมดพยศ และจะมี
อารมณ์เรียบเป็นอารมณ์ฌานแนบสนิทอย่างคาดไม่ถึง และจะทรงอยู่ได้นานเกินคาด วิธีนี้จดจำไว้ให้ดี
เป็นวิธีที่ได้ผลมาก

ที่มา  board.palungjit.com

สมาธิและฌานสมาบัติขั้นต่างๆ


คำว่า สมาบัติ แปลว่าถึงพร้อม แปลเหมือนกันกับคำว่า สมบัติ ศัพท์เดิมว่า สัมปัตติ
แปลว่าถึงพร้อม มาแปลงเป็นบาลีไทย หมายความว่าศัพท์นั้นเป็นศัพท์บาลี แต่เรียกกันเป็นไทย ๆ
เสีย ก็เลยเพี้ยนไปหน่อย เล่นเอาผู้รับฟังปวดเศียรเวียนเกล้าไปตามๆ กัน
          สมาบัติ แปลว่าเข้าถึงนั้น หมายเอาว่าเข้าถึงอะไร ข้อนี้น่าจะบอกไว้เสียด้วย ขอบอก
ให้รู้ไว้เลยว่า ถึงจุดของอารมณ์ที่เป็นสมาธิหรือที่เรียกว่า ฌาน นั่นเอง เมื่ออารมณ์ของสมาธิ
ที่ยังไม่เข้าระดับฌาน ท่านยังไม่เรียกว่า สมาบัติ เช่น

ขณิกสมาธิ 

          ขณิกสมาธิ แปลว่า ตั้งใจมั่นได้เล็กน้อย หรือนิดๆ หน่อยๆ คำว่า สมาธิ แปลว่า
ตั้งใจมั่น ต้องมั่นได้นิดหน่อย เช่น กำหนดจิตคิดตามคำภาวนา ภาวนาได้ประเดี่ยวประด๋าว
จิตก็ไปคว้าเอาความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ภายนอกคำภาวนามาคิด ทิ้งองค์ภาวนาเสียแล้ว กว่าจะรู้ตัวว่า
จิตซ่าน ก็คิดตั้งบ้านสร้างเรือนเสียพอใจ อารมณ์ตั้งอยู่ในองค์ภาวนาไม่ได้นานอย่างนี้ ตั้งอยู่ได้
ประเดี๋ยวประด๋าว อารมณ์จิตก็ยังไม่สว่างแจ่มใส ภาวนาไปตามอาจารย์สั่งขาดๆ เกินๆ อย่างนี้แหละ
ที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ ท่านยังไม่เรียก ฌาน เพราะอารมณ์ยังไม่เป็นฌาน ท่านจึงไม่เรียกว่า
สมาบัติ เพราะยังไม่เข้าถึงกฎที่ท่านกำหนดไว้

ฌาน 

          ขอแปลคำว่าฌานสักนิด ขอคั่นเวลาสักหน่อย ประเดี๋ยวเลยไปจะยุ่ง จะไม่รู้ว่า ฌาน
แปลว่าอะไร คำว่า ฌาน นี้ แปลว่า เพ่ง หมายถึงการเพ่งอารมณ์ตามกฎแห่งการเจริญกรรมฐาน
ถึงอันดับที่ ๑ เรียกว่าปฐมฌาน คือ ฌาน ๑ ถึงอันดับที่ ๒ เรียกว่าทุติยฌาน แปลว่า ฌาน ๒
ถึงอันดับที่ ๓ เรียกว่า ตติยฌาน แปลว่าฌาน ๓ ถึงอันดับที่ ๔ เรียกว่า จตุตถฌาน แปลว่า ฌาน ๔
ถึงอันดับที่แปด คือ ได้อรูปฌานถึงฌาน ๔ ครบทั้ง ๔ อย่าง เรียกว่า ฌาน  ๘
           ถ้าจะเรียกเป็นสมาบัติก็เรียกเหมือนฌาน ฌาน ๑ ท่านก็เรียกว่า ปฐมสมาบัติ ฌานที่ ๒
ท่านก็เรียกว่า ทุติยสมาบัติ ฌาน ๓ ท่านก็เรียก ตติยสมาบัติ ฌาน ๔ ท่านก็เรียกจตุตถสมาบัติ
ฌาน ๘ ท่านเรียก อัฎฐสมาบัติ หรือสมาบัติแปดนั่นเอง


อุปจารสมาธิ

          อุปจารสมาธินี้เรียกอุปจารฌานก็เรียก เป็นสมาธิที่มีความตั้งมั่นใกล้จะถึงปฐมฌานหรือ
ปฐมสมาบัตินั่นเอง อุปจารสมาธิคุมอารมณ์สมาธิไว้ได้นานพอสมควร มีอารมณ์ใสสว่างพอใช้ได้
เป็นพื้นฐานเดิมที่จะฝึกทิพยจักษุญาณได้ อารมณ์ที่อุปจารสมาธิเข้าถึงนั้นมีอาการดังนี้

          ๑. วิตก คือความกำหนดจิตนึกคิดองค์ภาวนาหรือกำหนดรูปกสิณ จิตกำหนดอยู่ได้
ไม่คลาดเคลื่อน ในเวลานานพอสมควร

          ๒. วิจาร การใคร่ครวญในรูปกสิณนิมิต ที่จิตถือเอาเป็นนิมิตที่กำหนด มีอาการเคลื่อนไหว
หรือคงที่ มีสีสันวรรณะเป็นอย่างไร เล็กหรือใหญ่ สูงหรือต่ำ จิตกำหนดรู้ไว้ได้ ถ้าเป็นองค์ภาวนา
ภาวนาครบถ้วนไหม ผิดถูกอย่างไร กำหนดรู้เสมอ ถ้ากำหนดลมหายใจ ก็กำหนดรู้ว่า หายใจเข้า
ออกยาวหรือสั้น เบาหรือแรง รู้อยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ เรียกว่าวิจาร

          ๓. ปีติ ความปลาบปลื้มเอิบอิ่มใจ มีจิตใจชุ่มชื่นเบิกบาน ไม่อิ่มไม่เบื่อในการเจริญภาวนา
อารมณ์ผ่องใส ปรากฏว่าเมื่อหลับตาภาวนานั้นไม่มืดเหมือนเดิม มีความสว่างปรากฏคล้ายใคร
นำแสงสว่างมาวางไว้ใกล้ๆ บางคราวก็เห็นภาพและแสงสีปรากฏเป็นครั้งคราว แต่ปรากฏอยู่ไม่นาน
ก็หายไป อาการของปีติมีห้าอย่างคือ
          ๓.๑ มีการขนลุกขนชัน ท่านเรียกว่าขนพองสยองเกล้า
          ๓.๒ มีน้ำตาไหลจากตาโดยไม่มีอะไรไปทำให้ตาระคายเคือง
          ๓.๓ ร่างกายโยกโคลง คล้ายเรือกระทบคลื่น
          ๓.๔ ร่างกายลอยขึ้นเหนือพื้นที่นั่ง บางรายลอยไปได้ไกลๆ และลอยสูงมาก
          ๓.๕ อาการกายซู่ซ่า คล้ายร่างกายโปร่ง และใหญ่โตสูงขึ้นอย่างผิดปกติ

          อาการทั้งห้าอย่างนี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอาการของปีติ ข้อที่ควรสังเกตก็คือ
อารมณ์จิตชุ่มชื่นเบิกบานแม้ร่างกายจะสั่นหวั่นไหว บางรายตัวหมุนเหมือนลูกข่างแต่จิตใจก็เป็นสมาธิ
แนบแน่นไม่หวั่นไหว มีสมาธิตั้งมั่นอยู่เสมอ การกำหนดจิตเข้าสมาธิก็ง่าย คล่อง ทำเมื่อไร เข้าสมาธิได้
ทันที อาการของสมาธิเป็นอย่างนี้

          ๔. สุข ความสุขชื่นบาน เป็นความสุขที่ละเอียดอ่อน ไม่เคยปรากฏการณ์มาก่อนเลยในชีวิต
จะนั่งสมาธินานแสนนานก็ไม่รู้สึกปวดเมื่อย อาการปวดเมื่อยจะมีก็ต่อเมื่อคลายสมาธิแล้ว ส่วนจิตใจ
มีความสุขสำราญตลอดเวลา สมาธิก็ตั้งมั่นมากขึ้น อารมณ์วิตกคือการกำหนดภาวนา ก็ภาวนาได้ตลอด
เวลา การกำหนดรู้ความภาวนาว่าจะถูกต้องครบถ้วนหรือไม่เป็นต้น ก็เป็นไปด้วยดี มีธรรมปีติชุ่มชื่น
ผ่องใส ความสุขใจมีตลอดเวลา สมาธิตั้งมั่น ความสว่างทางใจปรากฏขึ้นในขณะหลับตาภาวนา อาการ
ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แหละ ที่เรียกว่า อุปจารสมาธิ หรือเรียกว่า อุปจารฌาน คือเฉียดๆ จะถึง
ปฐมฌานอยู่แล้ว ห่างปฐมฌานเพียงเส้นยาแดงผ่า ๓๒ เท่านั้นเอง ตอนนี้ท่านยังไม่เรียกฌานโดยตรง
เพราะอารมณ์ยังไม่ครบองค์ฌาน ท่านจึงยังไม่ยอมเรียกว่าสมาบัติ เพราะยังไม่ถึงฌาน

ปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัติ

          ปฐมฌาน หรือปฐมสมาบัตินี้ ท่านกำหนดองค์ของปฐมฌาน หรือปฐมสมาบัติไว้ ๕ อย่าง
ดังต่อไปนี้
          ๑. วิตก จิตกำหนดนึกคิด โดยกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ว่าหายใจเข้าหรือออก ถ้าใช้คำ
ภาวนา ก็รู้ว่าเราภาวนาอยู่ คือภาวนาไว้มิให้ขาดสาย ถ้าเพ่งกสิณ ก็กำหนดจับภาพกสิณอยู่ตลอดเวลา
อย่างนี้เรียกว่าวิตก
           ๒. วิจาร ถ้ากำหนดลมหายใจ ก็ใคร่ครวญกำหนดรู้ไว้เสมอว่า เราหายใจเข้าหรือหายใจออก
หายใจเข้าออกยาวหรือสั้น หายใจเบาหรือแรง ในวิสุทธิมรรคท่านให้รู้กำหนดลมสามฐานคือ หายใจเข้า
ลมกระทบจมูก กระทบอก กระทบศูนย์เหนือสะดือนิดหน่อย หายใจออกลมกระทบศูนย์ กระทบอก
กระทบจมูกหรือริมฝีปาก
           ถ้าภาวนา ก็กำหนดรู้ไว้เสมอว่า เราภาวนาถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ประการใด
           ถ้าเพ่งภาพกสิณ ก็กำหนดหมายภาพกสิณว่า เราเพ่งกสิณอะไร มีสีสันวรรณะเป็นอย่างไร
ภาพกสิณเคลื่อนหรือคงสภาพ สีของกสิณเปลี่ยนแปลงไปหรือคงเดิม ภาพที่เห็นอยู่นั้นเป็นภาพกสิณ
ที่เราต้องการ หรือภาพหลอนสอดแทรกเข้ามา ภาพกสิณเล็กหรือใหญ่ สูงหรือต่ำ ดังนี้เป็นต้น อย่างนี้
เรียกว่า วิจาร
          ๓. ปีติ ความชุ่มชื่นเบิกบานใจ มีเป็นปกติ
          ๔. ความสุขเยือกเย็น เป็นความสุขทางกายอย่างประณีต ซึ่งไม่เคยมีมาในกาลก่อน
          ๕. เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ ตั้งมั่นอยู่ในองค์ทั้ง ๔ ประการนั้นไม่คลาดเคลื่อน
          ข้อที่ควรสังเกตก็คือ ปฐมฌานหรือปฐมสมาบัตินี้ เมื่อขณะทรงสมาธิอยู่นั้นหูยังได้ยินเสียง
ภายนอกทุกอย่าง แต่ว่าอารมณ์ภาวนาหรือรักษาอารมณ์ไม่คลาดเคลื่อน ไม่รำคาญในเสียง เสียงก็ได้ยินแต่จิตก็ทำงานเป็นปกติ อย่างนี้ท่านเรียกว่า ปฐมฌาน คือ อารมณ์เพ่งอยู่ โดยไม่รำคาญในเสียง
ทรงความเป็นหนึ่งไว้ได้ ท่านกล่าวว่า กายกับจิตเริ่มแยกตัวกันเล็กน้อยแล้ว ตามปกติจิตย่อมสนใจ
ในเรื่องของกาย  เช่นหูได้ยินเสียง จิตก็คิดอะไรไม่ออกเพราะรำคาญในเสียง แต่พอจิตเข้าระดับ
ปฐมฌาน กลับเฉยเมยต่อเสียง คิดคำนึงถึงอารมณ์กรรมฐานได้เป็นปกติ ที่ท่านเรียกว่าปฐมสมาบัติ
ก็เพราะอารมณ์สมาธิเข้าถึงเกณฑ์ของปฐมฌาน ที่จิตกับกายเริ่มแยกทางกันบ้างเล็กน้อยแล้วนั่นเอง

อารมณ์ปฐมฌาน และปฐมสมาบัติ 

          เพื่อให้จำง่ายเข้า จะขอนำอารมณ์ปฐมฌานมากล่าวโดยย่อเพื่อทราบไว้ อารมณ์ปฐมฌาน
โดยย่อมีดังนี้
          ๑. วิตก ความตรึกนึกคิดถึงอารมณ์ภาวนา
          ๒. วิจาร ความใคร่ครวญทบทวนถึงองค์ภาวนานั้นๆ ครบถ้วนถูกต้องหรือไม่เพียงใด
          ๓. ปีติ ความเอิบอิ่มใจ มีความชุ่มชื่นเบิกบานหรรษา
          ๔. สุข มีความสุขสันต์ทางกายและจิตใจอย่างไม่เคยมีมาในกาลก่อน เป็นความสุขอย่าง
ประณีต
          ๕. เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ ทรงวิตก วิจาร ปีติ สุข ไว้ได้โดยไม่มีอารมณ์อื่นเข้ามา
แทรกแซง
          องค์ปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัติ ๕ อย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ ต้องปรากฏพร้อมๆ กันไป คือนึก
คิดถึงองค์ภาวนา ใคร่ครวญในองค์ภาวนานั้น ๆ ว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ประการใด มีความชุ่มชื่น
เบิกบานใจ มีอารมณ์ผ่องใสสว่างไสวในขณะภาวนา มีความสุขสันต์หรรษา มีอารมณ์จับอยู่ในองค์ -
ภาวนา ไม่สนใจต่ออารมณ์ภายนอก แม้แต่เสียงที่ได้ยินสอดแทรกเข้ามาทำให้ได้ยินชัดเจน แต่จิตใจ
ก็ไม่หวั่นไหว ไปตามเสียงนั้น จิตใจคงมั่นคงอยู่กับอารมณ์ภาวนาเป็นปกติ

เสี้ยนหนามของปฐมฌาน

          เสี้ยนหนามหรือศัตรูตัวสำคัญของปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัตินี้ ก็ได้แก่เสียง เสียงเป็นศัตรู
ที่คอยทำลายอารมณ์ปฐมฌาน ถ้านักปฏิบัติทรงสมาธิอยู่ได้ โดยไม่ต้องระแวงหวั่นไหวในเสียง คือ
ไม่รำคาญเสียงที่รบกวนได้ก็แสดงว่าท่านเข้าถึงปฐมฌานแล้ว ข้อที่ไม่ควรลืมก็คือ ฌานโลกีย์นี้
เป็นฌานระดับต่ำ เป็นฌานที่ปุถุชนคนธรรมดาสามารถจะทำให้ได้ถึงทุกคน เป็นฌานที่เสื่อมโทรมง่าย
หากจิตใจของท่านไปมั่วสุมกับนิวรณ์ห้าประการอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า แม้แต่อย่างเดียว ฌานของท่าน
ก็จะเสื่อมทันที ต่อว่าเมื่อไร ท่านขับไล่นิวรณ์ไม่ให้เข้ามารบกวนจิตใจได้ ฌานก็เกิดขึ้นแก่จิตใจของ
ท่านต่อไป ฌานจะเสื่อม หรือ เจริญก็อยู่ที่นิวรณ์ ด้านนิวรณ์ไม่ปรากฏ จิตว่างจากนิวรณ์ จิตก็เข้าถึงฌาน
ถ้านิวรณ์มารบกวนจิตได้ ฌานก็จะสลายตัวไป ฌานตั้งแต่ฌานที่ ๑ ถึง ฌานที่ ๘ มีสภาพเช่นเดียวกัน
คือต้องระมัดระวังนิวรณ์ไม่ให้เข้ามายุ่งแทรกแซงเหมือนกัน ก่อนที่จะพูดถึงฌานที่ ๒ จะขอนำเอานิวรณ์
ศัตรูร้ายผู้คอยทำลายฌานมาให้ท่านรู้จักหน้าตาไว้เสียก่อน


นิวรณ์ ๕ 

          อกุศลธรรมที่คอยทำลายล้างความดีที่เป็นกุศล คือ ฌาน ท่านเรียกว่า นิวรณ์ มี ๕ อย่าง คือ
          ๑. กามฉันทะ ความพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส  อันเป็นวิสัยของกามารมณ์
          ๒. พยาบาท ความผูกโกรธ จองล้างจองผลาญ
          ๓. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ในขณะเจริญสมณธรรม
          ๔.อุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดฟุ้งซ่าน และความรำคาญหงุดหงิดใจ
          ๕.วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าจะมีผลจริงตามที่คิดไว้หรือไม่
เพียงใด

          อารมณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นเพื่อนสนิทกับจิตใจมานับจำนวนปีไม่ถ้วน ควรจะพูดว่าจิตใจ
ของเราคบกับนิวรณ์มานานหลายร้อยหลายพันชาติ เมื่อจิตใจเราสนิทสนมกับอารมณ์ของนิวรณ์
มานานอย่างนี้ เป็นธรรมดาอยู่เองที่จิตใจจะต้องอดคบหาสมาคมกับนิวรณ์ไม่ได้ เมื่อเรามาแนะนำ
ให้คบหาสมาคมกับฌาน ซึ่งเป็นเพื่อนหน้าใหม่ มีนิสัยตรงข้ามกับเพื่อนเก่าก็เป็นการฝืนอารมณ์
อยู่ไม่น้อย ฉะนั้น ในฐานะที่นิวรณ์กับจิตเป็นเพื่อนสนิทกันมานาน ก็อดที่จะแอบไปคบหาสมาคม
กันไม่ได้ อารมณ์ที่จะคอยหักล้างนิวรณ์ คืออกุศลห้าประการนี้ได้ ก็อารมณ์ ๕ ประการของปฐมฌาน
นั่นเอง เมื่อจิตกับนิวรณ์เป็นมิตรสนิทกันมานาน ฉะนั้น การดำรงจิตอยู่ในอารมณ์ฌานจึงทรงอยู่ได้
ไม่นาน ทรงอยู่ได้ชั่วครู่ชั่วขณะ จิตก็เลื่อนเคลื่อนออกจากอารมณ์ฌานคลานเข้าไปหานิวรณ์ อาการ
อย่างนี้เป็นกฎธรรมดาของท่านที่เข้าถึงฌานในระยะต้น หรือที่มีความช่ำชองชำนาญในฌานยังน้อยอยู่
ต่อเมื่อไรได้ฝึกการดำรงฌาน กำหนดเวลาตามความต้องการได้แล้ว เมื่อนั้นแหละความเข้มข้น
เข้มแข็งของกำลังจิตที่จะทรงฌานอยู่ได้นานตามความต้องการจึงจะปรากฏมีขึ้น ขอนักปฏิบัติจงเข้าใจ
ไว้ด้วยว่าจิตที่เข้าสู่ระดับฌาน คือ ปฐมฌาน หรือฌานอื่นใดก็ตาม ถ้ายังไม่ฝึกฝนจนชำนาญ เข้าฌาน
ออกฌานตามกำหนดเวลาได้แล้ว จิตก็จะยังทรงสมาธิไว้ได้ไม่นาน จิตจะค่อยถอยหลังเข้าหานิวรณ์ ๕
ประการอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่ออารมณ์ฌานย่อหย่อน เมื่อมีอาการอย่างนั้นบังเกิดขึ้นก็จงอย่าท้อใจ
หมั่นฝึกฝนเข้าฌานโดยการกำหนดเวลาว่า ต่อแต่นี้ไปเราจะดำรงอยู่ในฌาน ตั้งแต่เวลานี้ถึงเวลา
เท่านั้น แล้วเริ่มทำสมาธิเข้าสู่ระดับฌาน ทรงฌานไว้ตามเวลา จนกว่าเมื่อถึงเวลาแล้วจิตจะเคลื่อน
จากฌาน มีความรู้สึกตามปกติเอง เมื่อทำได้แล้วหัดทำบ่อย ๆ จากเวลาน้อย ไปหาเวลามาก คือ
๑ ชั่วโมง ไปหา ๒-๓-๔-๕-๖ จนถึง ๑ วัน ๒-๓-๔-๕-๖-๗ พอครบกำหนด จิตก็จะคลายตัวออกเอง
โดยไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุกหรือคนเรียก เมื่อชำนาญอย่างนี้ ชื่อว่าท่านเอาชนะนิวรณ์ได้ แต่ก็อย่าประมาทเพราะฌานโลกีย์ ถึงอย่างไรก็ดี ยังไม่พ้นอำนาจนิวรณ์อยู่นั่นเอง นิวรณ์ที่ไม่มารบกวนนั้น
ไม่ใช่นิวรณ์สูญไปหรือสลายตัวเพียงแต่เพลียไปเท่านั้นเอง ต่อเมื่อไรท่านได้โลกุตตรฌาน คือ บรรลุ
พระอริยะตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนั่นแหละท่านพอจะไว้ใจตัวได้ว่า ท่านไม่มีวันที่จะต้องตกมาอยู่
ใต้อำนาจนิวรณ์ คืออกุศลธรรมต่อไปอีก เพราะโลกุตตรฌานคือได้ฌานโลกีย์แล้วเจริญวิปัสสนาญาณ
จนบรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระอริยบุคคลแล้ว อกุศลคือนิวรณ์ ๕ ประการเข้าครองจิตไม่ได้สนิทนัก
สำหรับพระอริยะต้น พอจะกวนบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็จักจูงใจให้ทำตามนิวรณ์สั่งไม่ได้ นิวรณ์บางอย่าง
เช่น กามฉันทะ ความพอใจในความสวยงามของ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ความโกรธ ความขัด -
เคือง พระโสดาบัน พระสกิทาคามียังมี แต่ก็มีเพียงคิดนึกไม่ถึงกับลงมือทำ เรียกว่าอกุศลกวนใจนิด -
หน่อย พอทำได้ แต่จะบังคับให้ทำไม่ได้ สำหรับพระอนาคามี ยังตกอยู่ใต้อำนาจของอุทธัจจะ คือความคิดฟุ้งซ่าน แต่ก็คิดไปในส่วนที่เป็นกุศลใหญ่มากกว่า ความคิดฟุ้งเลอะเลือนเล็กๆ น้อย ๆ พอมีบ้าง
แต่ไม่มีอะไรเป็นภัย เพราะพระอนาคามีหมดความโกรธ ความพยาบาทเสียแล้ว

          อำนาจของนิวรณ์มีอย่างนี้ บอกให้รู้ไว้ จะได้คอยยับยั้งชั่งใจคอยระมัดระวังไว้ไม่ปล่อยให้ใจ
ระเริงหลงไปกับนิวรณ์ ที่ชวนให้จิตมีความรู้สึกนึกคิดไปในส่วนที่เป็นอกุศลยับยั้งตนไว้ในอารมณ์ของ
ฌานเป็นปกติ ท่านที่มีอารมณ์จิตเข้าถึงอารมณ์ฌานและเข้าฌานไว้เป็นปกติ ท่านผู้นั้นมีหน้าตาแช่มชื่น
เอิบอิ่มอยู่เสมอ มีอารมณ์เบิกบานไม่หดหู่ เห็นน่ารักอยู่ตลอดเวลา ฌานแม้แต่เพียงปฐมฌานจัดว่า
เป็นฌานเบื้องต้น ก็มีผลไม่น้อยถ้าทรงไว้ได้ไม่ปล่อยให้เสื่อม ตายไปในขณะที่ทรงฌาน ก็สามารถ
ไปเกิดในพรหมโลกได้สามชั้น คือ ปฐมฌานหยาบ เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑ ปฐมฌานกลาง เกิดเป็น
พรหมชั้นที่ ๒ ปฐมฌานละเอียด เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๓ ถ้าท่านเอาสมาธิในปฐมฌานมาเป็นกำลังของ
วิปัสสนาญาณแล้วอำนาจสมาธิของปฐมฌานก็สามารถเป็นกำลังให้วิปัสสนาญาณกำจัดกิเลสเป็น
สมุจเฉทปหาน คือตัดกิเลสได้เด็ดขาด จนบรรลุอรหัตตผลได้สมความปรารถนา อำนาจฌานแม้แต่
ฌานที่ ๑ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ขอท่านนักปฏิบัติจงอย่าท้อใจ ระมัดระวังใจ อย่าหลงใหลในนิวรณ์
จนเสียผลฌาน


ทุติยฌานหรือทุติยสมาบัติ

          ทุติยฌาน แปลว่าฌานที่ ๒ ทุติยสมาบัติ แปลว่าสมาบัติที่ ๒ ฌานและสมาบัติ ได้อธิบาย
มาแล้วแต่ฌานต้นคือ ปฐมฌาน จะไม่อธิบายอีก ปฐมฌานมีอารมณ์ ๕ ตามที่กล่าวมาแล้วใน
ฌานที่ ๑ สำหรับทุติยฌานนี้ มีอารมณ์ ๓
          อารมณ์ ๓ ของทุติยฌานมีดังต่อไปนี้

อารมณ์ทุติยฌานมี ๓
          ๑. ปีติ ความเอิบอิ่มใจ
          ๒. สุข ความสุขอย่างประณีต
          ๓. เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง

          อารมณ์ทุติยฌานนี้ ก็ตัดเอามาจากอารมณ์ปฐมฌานนั่นเอง ท่านที่ทรงสมาธิเข้าถึง
ทุติยฌานนี้ ท่านตัดวิตก วิจารอันเป็นอารมณ์ของปฐมฌานเสียได้ คงเหลือแต่ ปีติ สุข เอกัคคตา
อาการตัดวิตก วิจารนั้นมีความรู้สึกอย่างไรในเวลาปฏิบัติจริง ข้อนี้นักปฏิบัติสนใจกันมากเป็นพิเศษ
เพราะเพียงอ่านรู้แล้วยังหาความเข้าใจจริงไม่ได้ การตัดก็มิใช่จะตัดออกไปเฉยๆ ได้ตามอารมณ์
วิตกแปลว่าตรึก นึกคิด วิจาร แปลว่า ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ท่านลองพิจารณาดูเถิดว่า วิตกวิจารนี้
เป็นอารมณ์ที่ตัดไม่ได้ง่ายเลย ใคร ๆ ที่ไหนจะมาห้ามความรู้สึกนึกคิดกันง่าย ๆ ได้  เคยฟังท่านสอน
เวลาเรียน ท่านสอนว่าให้ตัดวิตกวิจารออกเสียได้แล้ว ทรงอยู่ในปีติ สุข เอกัคคตา เท่านี้ก็ได้ทุติยฌาน
ท่านพูดของท่านถูก ฟังก็ไม่ยาก แต่ตอนทำเข้าจริง ๆ พอมาเจอตัวตัดวิตก วิจารเข้าจริง ๆ กลับไม่
เข้าใจ จะพูดให้ฟังถึงการตัดวิตกวิจาร

ตัดวิตกวิจารตามผลปฏิบัติ 

          ตามผลปฏิบัตินั้น วิตกวิจารที่ถูกตัด มิได้ตัดด้วยการยกเว้น คืองดการนึกคิดเอาเอง เฉย ๆ
ท่านตัดด้วยการปฏิบัติเข้าถึงระดับ คือ ในระยะแรกก็เจริญภาวนาคาถา ภาวนาตามท่านอาจารย์สอน
จะภาวนาว่าอย่างไรก็ได้ ท่านไม่ได้จำกัดไว้ คาถาภาวนาเป็นสายเชือกโยงใจเท่านั้น ให้ใจมีหลักเกาะไว้
ไม่ให้สอดส่ายไปในอารมณ์นอกจากคำภาวนา อย่างนี้ท่านเรียกว่า "บริกรรมภาวนา" ขณะที่ภาวนาอยู่
จิตคิดถึงคำภาวนานั้น ท่านเรียกว่า " วิตก" จิตที่คอยประคับประคองคำภาวนา คิดตามว่า เราภาวนา
ถูกตามอาจารย์สอนหรือไม่ ครบถ้วนหรือไม่ อย่างนี้ท่านเรียกว่า " วิจาร " การตัดวิตกวิจาร ก็ภาวนา
ไปอย่างนั้น จนเกิดปีติ สุขและเอกัคคตา คือมีอารมณ์คงที่ จิตไม่สนใจกับอารมณ์ภายนอก รักษาอารมณ์ภาวนา และอาการเอิบอิ่ม สุขสันต์อยู่ตลอดเวลา ลมหายใจชักจะอ่อนลงทุกที รู้สึกว่าหายใจเบา อารมณ์-จิตโปร่งแจ่มใส หลับตาแล้ว แต่คล้ายกับมีใครเอาประทีปมาวางไว้ใกล้ ๆ ในระยะนี้เอง จิตจะหยุดภาวนาเอาเฉยๆ มีอารมณ์นิ่งดิ่งสบายกว่าขณะที่ภาวนามาก รู้สึกว่าลมหายใจอ่อนระรวยลง หูได้ยินเสียงภาย-นอกแต่เบาลงกว่าเดิม จิตไม่สนใจกับอะไร มีอารมณ์เงียบสงัดดิ่งอยู่ บางรายพอรู้สึกตัวว่าหยุดภาวนาก็ตกใจ รีบคิดถึงคำภาวนา บางรายก็คว้าต้นชนปลายไม่ถูก คำภาวนาภาวนามาจนคล่อง กลับคิดไม่ออกว่าอะไรเป็นต้นเป็นปลาย กึกกักอึกอักอยู่ครู่หนึ่ง จึงจับต้นชนปลายถูก อาการที่จิตสงัดปล่อยคำภาวนา  มีอารมณ์เฉยไม่ภาวนานั่นแหละ เป็นการละวิตกวิจาร ละด้วยอารมณ์เข้าถึงสมาธิอันดับฌาน  ๒ ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็จะมาหยุดภาวนาไปนั้น ตอนนั้นจิตตกอารมณ์ทุติยฌาน เข้าสู่อารมณ์ปฐมฌานตามเดิม บางรายก็เข้าสู่ภวังค์คืออารมณ์ปกติธรรมดาเอาเลย

          พูดมาอย่างนี้  คิดว่าท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจแล้วว่า การละหรือตัดวิตกวิจารนั้น ก็การที่ภาวนาไป
จนมีอารมณ์สงัด จิตปล่อยคำภาวนานั่นเอง  เมื่อจิตปล่อยคำภาวนาแล้ว ก็เหลือแต่ความชุ่มชื่นหรรษา
มีความสุขสันต์ทางกายอย่างประณีต มีอารมณ์ใจดิ่งอยู่อย่างไม่สนใจกับอารมณ์ใด หูเกือบจะไม่ได้ยิน
เสียงอะไร เป็นอารมณ์จิตที่มีความสุขสบายยอดเยี่ยมกว่าฌานที่ ๑ มาก เพราะฌานที่ ๑ ยังต้องมีกังวล
อยู่กับการภาวนาและต้องระมัดระวังบทภาวนาให้ถูกต้องครบถ้วน จัดว่ามีกังวลมาก สำหรับทุติยฌานนี้
ตัดคำภาวนาออกเสียได้ด้วยการเข้าถึงอารมณ์ที่ละเอียดกว่า มีแต่ความชุ่มชื่นหรรษาด้วยอำนาจปีติ
มีความสุขละเอียดอ่อนประณีต เพราะสู่ความสุขอันประณีตด้วยอำนาจสมาธิที่ตั้งมั่นกว่าปฐมฌาน
จิตเป็นหนึ่ง คือมีอารมณ์สงัดจากอารมณ์ภายนอก แม้แต่คำภาวนาก็ไม่แยแส นี่แหละที่ท่านเรียกว่า
ได้ทุติยฌาน หรือทุติยสมาบัติ เมื่อได้แล้วต้องฝึกฝนให้คล่องว่องไว คิดจะเข้าทุติยฌานเมื่อไร ก็เข้าได้
ทันท่วงที หรือจะทรงทุติยฌานอยู่นานเท่าใด ก็กำหนดเวลาได้ตามความประสงค์ อย่างนี้จึงจะชื่อว่า
ได้ทุติยฌานแน่นอน แต่ทว่าเมื่อได้แล้วก็อย่าประมาท ถ้าพลั้งพลาดปล่อยให้อกุศลมารบกวนใจ หรือ
จิตใจไปใคร่ในอกุศลเข้าเมื่อไร ทุติยฌานก็ทุติยฌานนั่นแหละ เป็นเสื่อมทรามลงทันที ฉะนั้นท่านจึงว่า
ฌานโลกีย์นี้ระมัดระวังยาก ต้องคอยประคับประคองประคบประหงมยิ่งกว่าเด็กอ่อนนอนเบาะเสียอีก

เสี้ยนหนามของทุติยฌาน 

          เสี้ยนหนามของปฐมฌานได้แก่เสียง  เสียงเป็นศัตรูคอยทำลายปฐมฌาน เมื่อใดถ้าจิต
ยุ่งกับเสียง คือทนรำคาญไม่ไหว ก็หมายความว่า ปฐมฌานเสื่อมเสียแล้ว สำหรับทุติฌานนี้ มีวิตก
วิจารเป็นเสี้ยนหนามศัตรู  เมื่อขณะที่จิตทรงสมาธิอยู่ในระดับทุติยฌาน  จิตคอยจะเคลื่อนเลื่อน
ลงมาหาอารมณ์ปฐมฌาน คือคอยจะยึดเอาคาถาภาวนาเป็นอารมณ์ เพราะคาถาภาวนาเป็นวิตกวิจาร
จึงจำต้องคอยระมัดระวังไว้ อย่าปล่อยสติสัมปชัญญะให้คลาดเคลื่อน คุมอารมณ์ทุติยฌานอย่าให้
เลือนไปได้ ฝึกหัดตั้งกำหนดเวลาทรงฌานเข้าไว้ แล้วทำให้ชินตามกำหนดเวลา

อานิสงส์ทุติยฌาน

          ฌานทั้งหมด เป็นอารมณ์สมาธิที่ทำจิตใจให้พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ เวลาจะทำการงาน
ก็มีความทรงจำดี จิตใจไม่เลอะเลือนฟุ้งซ่าน เป็นอารมณ์รักษาโรคประสาทได้ดีที่สุด นอกจากนี้
เวลาจะตายก็มีสติสัมปชัญญะดีไม่หลงตาย ถ้าตายในระหว่างฌานท่านว่าทุติยฌานที่เป็นโลกียฌาน
ให้ผลดังนี้
          ก. ทุติยฌานหยาบ   ให้ผลไปเกิดในพรหมโลกชั้นที่  ๔
          ข. ทุติยฌานกลาง   ให้ผลไปเกิดในพรหมโลกชั้นที่  ๕
          ค. ทุติยฌานละเอียด ให้ผลไปเกิดในพรหมโลกชั้นที่  ๖
          ถ้าเอาอารมณ์ทุติยฌานไปเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณแล้ว สมาธิระดับทุติยฌานจะมีกำลัง
ช่วยให้วิปัสสนาญาณกำจัดกิเลสได้ดีและรวดเร็วกว่ากำลังของปฐมฌานมาก ท่านอาจมีหวังถึงที่สุด
ของพรหมจรรย์ในชาติปัจจุบันก็ได้ ถ้าท่านมีความเพียรดี ปฏิบัติตรงต่อพระพุทธพจน์ของ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และปฏิบัติพอดีพอควร ไม่ยิ่งหย่อนนัก เรียกว่าปฏิบัติพอเหมาะพอดี การปฏิบัติ
พอเหมาะพอดีนี้ปฏิบัติอย่างไร ท่านก็ศึกษาจากตัวของท่านเองนั่นแหละตรงต่อความเป็นจริง


ตติยฌานหรือตติยสมาบัติ 

          ปฐม แปลว่าที่ ๑ ทุติยะ แปลว่าที่ ๒ ตติยะ แปลว่าที่ ๓ ตติยฌานจึงแปลว่า ฌานที่ ๓
ตติยสมาบัติ แปลว่า การเข้าถึงอารมณ์ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๓ นี้ มีอารมณ์ ๒ คือ
          ๑. สุข ได้แก่ความสุขที่ปราศจากปีติ คือความสุขทางจิตโดยเฉพาะ ไม่มีความสุข
ที่เนื่องด้วยกาย
          ๒. เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ที่ไม่มีอารมณ์ห่วงใยในกาย เป็นอาการที่สงัดจากกาย
ฌานนี้ท่านว่าเป็นฌานที่กายกับจิตแยกกันเด็ดขาด

          อาการของฌานที่ ๓ นี้  เป็นอาการที่จิตตัดปีติ ความเอิบอิ่มใจในฌานที่ ๒ ออกเสียได้
เมื่ออารมณ์จิตเข้าถึงฌานที่ ๓ นี้ จะรู้สึกว่า อาการขนพองสยองเกล้าก็ดี น้ำตาไหลก็ดี กายโยกโคลง
ก็ดี อาการซู่ซ่าทางกาย คล้ายกายเบา กายใหญ่ กายสูงจะไม่ปรากฏเลย มีอาการทางกายเครียด
คล้ายกับใครมาจับมัดไว้จนแน่น หรือคล้ายหลักที่ปักจนแน่นไม่มีการโยกโคลงได้ฉันนั้น จงจำไว้ว่า
ตั้งแต่ฌานที่ ๒ เป็นต้นมา ไม่มีการภาวนาเลย ถ้ายังภาวนาอยู่ และหูได้ยินเสียงชัด แต่ไม่รำคาญ
ในเสียง เป็นฌานที่ ๑ ตั้งแต่ฌานที่ ๒ มาไม่มีการภาวนา และเรื่องเสียงเกือบไม่มีความหมาย คือ
ไม่มีความสนใจในเสียงเลย เสียงมีอยู่ก็เหมือนไม่มี เพราะจิตไม่รับเสียง ลมหายใจจะค่อยๆ น้อย
อ่อนระรวยลงทุกขณะ ในฌานที่ ๓ นี้ลมหายใจยังปรากฏ แต่ก็รู้สึกเบาเต็มที่มีอาการคล้าย
จะไม่หายใจ แต่ก็พอรู้สึกน้อยๆ ว่าหายใจ จิตสงัดไม่มีการหวั่นไหว ไม่มืด มีความโพลงอยู่
มีอารมณ์แน่นในสมาธิมากจนรู้ตัวว่าอารมณ์แนบแน่นกว่าสองฌานที่ผ่านมา อย่างนี้ท่านเรียกว่า
เข้าถึงฌานที่ ๓ ต้องฝึกเข้าฌานออกฌานให้แคล่วคล่องว่องไวตามที่กล่าวมาแล้ว


เสี้ยนหนามของฌานที่ ๓ 

          ปีติ เป็นเสี้ยนหนามของ ฌานที่ ๓ เพราะฌานที่ ๓ ตัดปีติเสียได้ แต่ถ้าอารมณ์
ตกลงไปปีติจะปรากฏขึ้น ถ้าปีติปรากฏขึ้นเมื่อไร พึงทราบเถิดว่า ขณะนี้อารมณ์จิตเคลื่อน
จากฌานที่ ๓ มาอยู่ระดับฌาน ๒ แล้วถ้าปรากฏว่ามีการภาวนาด้วย แต่จิตยังไม่รำคาญในเสียง
ก็ยิ่งร้ายใหญ่ เพราะอารมณ์สมาธิไหลออกจนเหลือเพียงฌาน ๑ ท่านให้ระมัดระวังด้วยการทรง
สติสัมปชัญญะ อย่าให้อารมณ์สมาธิรั่วไหลเป็นอันขาด เพราะจะเป็นอันตรายแก่ฌาน ๓

อานิสงส์ฌานที่ ๓ 

          ฌานที่ ๓ นี้ ถ้าทรงไว้ได้จนตาย ในขณะตาย ตายในระหว่างฌานที่ ๓ ท่านว่าจะไม่
หลงตาย เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็จะเป็นคนมีอารมณ์แช่มชื่นเบิกบานตลอดเวลา หน้าตาสดชื่นผ่องใส
เมื่อตายแล้ว ฌาน ๓ ย่อมส่งผลให้เกิดเป็นพรหม คือ
          ๑. ฌานที่ ๓ หยาบ   ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  ๗
          ๒. ฌานที่ ๓ กลาง   ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  ๘
          ๓. ฌานที่ ๓ ละเอียด ให้ผลไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่  ๙
          ฌาน  ๓  ที่เป็นโลกียฌานให้ผลอย่างนี้ ถ้าเอาฌาน ๓ ไปเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณ
วิปัสสนาจะมีกำลังกล้า ตัดกิเลสให้เด็ดขาดได้โดยรวดเร็ว อาจได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงในชาตินี้
โดยไม่ชักช้านัก ผลของท่านที่ทรงฌาน ๓ ไว้ได้มีผลดังกล่าวมาแล้วนี้

จตุตถฌาน หรือ จตุตถสมาบัติ

          จตุตถะ แปลว่าที่ ๔ จตุตถฌานจึงแปลว่าฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔ นี้มีอารมณ์ ๒ เหมือน
ฌาน ๓ แต่ผิดกันที่ฌาน ๓ มีสุขกับเอกัคคตา สำหรับฌานที่ ๔ นี้ ตัดความสุขออกเสียเหลือแต่
เอกัคคตา และเติมอุเบกขาเข้ามาแทน ฉะนั้น อารมณ์ของฌาน ๔ จึงมีอารมณ์ผิดแผกจาก
ฌาน ๓ ตรงที่ตัดความสุขออกไป และเพิ่มการวางเฉยเข้ามาแทนที่

อาการของฌาน ๔ เมื่อปฏิบัติถึง

          ฌาน  ๔ เมื่อนักปฏิบัติ ปฏิบัติถึงมีอาการดังนี้
          ๑. จะไม่ปรากฏลมหายใจเหมือนสภาพฌานอื่นๆ เพราะลมละเอียดจนไม่ปรากฏว่ามี
ลมหายใจ ในวิสุทธิมรรคท่านว่าลมหายใจไม่มีเลย แต่บางอาจารย์ท่านว่า ลมหายใจนั้นมี
แต่ลมหายใจละเอียดจนไม่มีความรู้สึกว่าหายใจ ตามนัยวิสุทธิมรรคท่านกล่าวถึงคนที่ไม่มี
ลมหายใจไว้ ๔ จำพวกด้วยกัน คือ ๑. คนตาย ๒. คนดำน้ำ ๓. เด็กในครรภ์มารดา
๔.ท่านที่เข้าฌาน ๔ รวมความว่า ข้อสังเกตที่สังเกตได้ชัดเจนในฌาน ๔ ที่เข้าถึงก็คือ
ไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจการที่ฌาน ๔ เมื่อเข้าถึงแล้ว และขณะที่ทรงอยู่ในระดับของฌาน ๔
ไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจนี้เป็นความจริง มีนักปฏิบัติหลายท่านที่พบเข้าแบบนี้ถึงกับร้องเอะอะโวยวาย
บอกว่าไม่เอาแล้ว เพราะเกรงว่าจะตายเพราะไม่มีลมหายใจ บางรายที่อารมณ์สติสมบูรณ์หน่อย
ก็ถึงกับค้นคว้าควานหาลมหายใจ เมื่ออารมณ์จิตตกลงระดับต่ำกว่าฌานที่ ๔ ในที่สุดก็พบลมหายใจ
ที่ปรากฏอยู่กับปลายจมูกนั่นเอง

          ๒.  อารมณ์จิตเมื่อเข้าสู่ระดับฌาน ๔ จะมีอารมณ์สงัดเงียบจากอารมณ์ภายนอกจริง ๆ
ดับเสียง คือ ไม่ได้ยินเสียง ดับสุข ดับทุกข์ทางกายเสียจนหมดสิ้น มีอารมณ์โพลงสว่างไสวเกินกว่า
ฌานอื่นใด มีอารมณ์สงัดเงียบ ไม่เกี่ยวข้องด้วยร่างกายเลย กายจะสุข จะทุกข์ มดจะกิน ริ้นจะกัด
อันตรายใดๆ จะเกิด จิตในระหว่างตั้งอยู่สมาธิที่มีกำลังระดับฌาน ๔ จะไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น เพราะฌานนี้
กายกับจิตแยกกันเด็ดขาดจริงๆ ไม่สนใจข้องแวะกันเลย ดังจะเห็นในเรื่องของลมหายใจ ความจริง
ร่างกายนี้จำเป็นมากในเรื่องหายใจ เพราะลมหายใจเป็นพลังสำคัญของร่างกาย พลังอื่นใดหมดไป
แต่อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจยังปรากฏ ที่เรียกกันตามภาษาธรรมว่า ผัสสาหารยังมีอยู่ ร่างกายก็ยัง
ไม่สลายตัว ถ้าลมหายใจที่เรียกว่าผัสสาหารหยุดเมื่อไร เมื่อนั้นก็ถึงอวสานของการทรงอยู่ของร่างกาย
ฉะนั้น ผลการปฏิบัติที่เข้าถึงระดับฌาน ๔ จึงจัดว่าลมหายใจยังคงมีตามปกติ ที่ไม่รู้ว่าหายใจก็เพราะ
ว่าจิตแยกออกจากกายอย่างเด็ดขาดโดยไม่รับรู้อาการของร่างกายเลย

อาการที่จิตแยกจากร่างกาย 

          เพื่อให้เข้าใจชัดว่า จิตแยกออกจากร่างกายได้จริงเพียงใด เมื่อท่านเจริญสมาธิถึงฌาน ๔
จนคล่องแคล่วชำนิชำนาญดีแล้ว ให้ท่านเข้าสู่ฌาน ๔ แล้วถอยจิตออกมาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน
แล้วอธิษฐานว่า ขอร่างกายนี้จงเป็นโพรงและกายอีกกายหนึ่งจงปรากฏ แล้วเข้าฌาน ๔ ใหม่ ออกจาก
ฌาน ๔ มาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน ท่านจะเห็นกายเป็นโพรงใหญ่ มีกายของเราเองปรากฏขึ้นภายใน
กายเดิมอีกกายหนึ่ง ที่ท่านเรียกในมหาสติปัฏฐานว่ากายในกาย จะบังคับให้กายในกายท่องเที่ยวไป
ในร่างกายทุกส่วน แม้แต่เส้นประสาทเล็กๆ กายในกายก็จะไปได้สะดวกสบายเหมือนเดินในถ้ำใหญ่ ๆ
ต่อไปจะบังคับกายใหม่นี้ออกไปสู่ภพใด ๆ  ก็ไปได้ตามประสงค์ ที่ท่านเรียกว่า "มโนมยิทธิ แปลว่า
มีฤทธิ์ทางใจนั่นเอง" พลังของฌาน ๔ มีพลังมากอย่างนี้ ท่านที่ได้ฌาน ๔ แล้วท่านจะฝึกวิชชาสาม
อภิญญาหก หรือปฏิสัมภิทาญาณ ก็ทำได้ทั้งนั้น เพราะวิชชาการที่จะฝึกต่อไปนั้น ก็ใช้พลังจิตระดับ
ฌาน ๔ นั่นเอง จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็เพียงอาการในการเคลื่อนไปเท่านั้น ส่วนอารมณ์ที่จะใช้
ก็เพียงฌาน ๔ ซึ่งเป็นของที่มีอยู่แล้วเปรียบเสมือนนักเพาะกำลังกาย  ถ้ามีกำลังกายสมบูรณ์แล้ว
จะทำอะไรก็ทำได้ เพราะกำลังพอ จะมีสะดุดบ้างก็ตรงเปลี่ยนแนวปฏิบัติใหม่ จะยุ่งใจบ้างในระยะต้น
พอเข้าใจเสียแล้วก็ทำได้คล่อง เพราะกำลังพอ ท่านที่ได้ฌาน ๔ แล้วก็เช่นเดียวกัน เพราะงานส่วน
อภิญญาหรือวิชชาสาม ก็ใช้พลังจิตเพียงฌาน ๔ เท่านั้น ท่านที่ได้ฌาน ๔ จึงเป็นผู้มีโอกาสจะทำ
ได้โดยตรง

เสี้ยนหนามของฌาน ๔ 

          เสี้ยนหนาม หรือศัตรูตัวสำคัญของฌาน ๔ ก็คือ "ลมหายใจ" เพราะถ้าปรากฏว่ามีลมหายใจ
ปรากฏเมื่อเข้าฌาน ๔ ก็จงทราบเถิดว่า จิตของท่านมีสมาธิต่ำกว่าฌาน ๔ แล้ว จงอย่าสนใจกับ
ลมหายใจเลยเป็นอันขาด

อานิสงส์ของฌาน ๔ 

          ๑. ท่านที่ทรงฌาน ๔ ไว้ได้ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ จะมีอารมณ์แช่มชื่นตลอดวันเวลา จะแก้ปัญหา
ของตนเองได้อย่างอัศจรรย์
          ๒. ท่านที่ได้ฌาน ๔ สามารถจะทรงวิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณได้ถ้าท่านต้องการ
          ๓. ท่านที่ได้ฌาน  ๔ สามารถจะเอาฌาน ๔ เป็นกำลังของวิปัสสนาญาณชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป
อย่างช้าภายใน ๗ ปี อย่างกลางภายใน ๗ เดือน อย่างเร็วภายใน ๗ วัน
          ๔. หากท่านไม่เจริญวิปัสสนา ท่านทรงฌาน ๔ ไว้มิให้เสื่อม ขณะตาย ตายในระหว่างฌาน
ที่จะได้ไปเกิดในพรหมโลกสองชั้นคือ ชั้นที่ ๑๐ และชั้นที่ ๑๑

รูปสมาบัติหรือรูปฌาน

          ฌานหรือสมาบัติที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ อย่างนี้ ท่านเรียกว่ารูปฌาน หรือรูปสมาบัติ ถ้ายังไม่สำเร็จ
มรรคผลเพียงใด ท่านเรียกว่าโลกียสมาบัติ หรือโลกียฌาน ถ้าเจริญวิปัสสนาญาณจนสำเร็จมรรคผล
ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านเรียกว่า โลกุตตรสมาบัติ หรือโลกุตตรญาณ ศัพท์ว่า โลกุตตระ ตัดออกเป็น
สองศัพท์ มีรูปเป็น โลกะ และ อุตตระ สนธิคือเอาโลกะกับอุตตระมาต่อกันเข้า เอาตัว อ. ออกเสีย เอา
สระอุผสมกับตัวตัว ก. เป็นโลกุตตระ โลกะ แปลตามศัพท์ว่าโลก อุตตระ แปลว่าสูงกว่า รวมความว่าสูง
กว่าโลก โลกุตตระท่านจึงแปลว่าสูงกว่าโลก โลกุตตรฌาน แปลว่าฌานที่สูงกว่าโลกโลกุตตรสมาบัติ
แปลว่าสมาบัติที่สูงกว่าโลก หมายความว่ากรรมต่างๆ ที่โลกนิยมนั้น ท่านพวกนี้พ้นไปแล้ว แม้บาปกรรม
ที่ชาวโลกต้องเสวยผล ท่านที่ได้โลกุตตระ ท่านก็ไม่ต้องรับผลกรรมนั้นอีก เพราะกรรมของชาวโลก
ให้ผล ท่านไม่ถึง ท่านจึงได้นามว่าโลกุตตรบุคคล
          รวมความว่าฌานประเภทที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นรูปฌาน เพราะมีรูปเป็นอารมณ์ เรียกตามชื่อ
สมาบัติว่า รูปสมาบัติ สำหรับรูปฌาน หรือรูปสมาบัตินั้น มีแยกออกไปอีก ๔ อย่าง ดังจะกล่าวให้ทราบ
ต่อไป


อรูปสมาบัติหรืออรูปฌาน
 
          ๑. อากาสานัญจายตะ เพ่งอากาศ ๆ เป็นอารมณ์
          ๒. วิญญาณัญจายตะ กำหนดหมายเอาวิญญาณเป็นอารมณ์
          ๓. อากิญจัญญายตนะ กำหนดว่าไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์
          ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ กำหนดหมายเอาการไม่มีวิญญาณ คือไม่รับรู้รับทราบ
อะไรเลยเป็นสำคัญ
          ทั้ง ๔ อย่างนี้เรียกว่าอรูปฌาน  เพราะการเจริญไม่กำหนดหมายรูปเป็นอารมณ์ กำหนด
หมายเอาความไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จึงเรียกว่าอรูปฌาน ถ้าเรียกเป็นสมาบัติ ถ้าเรียก

สมาบัติ ๘
          ท่านที่ทรงสมาบัติในรูปสมาบัติ ๔ และทรงอรูปสมาบัติอีก ๔ รวมทั้งรูปสมาบัติ ๔
อรูปสมาบัติ ๔ เป็นสมาบัติ ๘

ผลสมาบัติ  

          คำว่าผลสมาบัติ ท่านหมายถึงการเข้าสมาบัติตามผลที่ได้ ผลสมาบัตินี้จะเข้าได้ต้องเป็น
พระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านที่เป็นพระอริยเจ้าที่ไม่ได้สมาบัติแปดมาก่อน ท่านเข้า
นิโรธสมาบัติไม่ได้ ท่านก็เข้าผลสมาบัติ คือท่านเข้าฌานนั่นเอง ท่านได้ฌานระดับใด ท่านก็เข้า
ระดับนั้น แต่ไม่ถึงสมาบัติแปดก็แล้วกัน และท่านเป็นพระอริยเจ้า จะเป็น พระโสดา สกิทาคา อนาคามี
อรหันต์ก็ตาม เมื่อท่านเข้าฌาน ท่านเรียกว่าเข้าผลสมาบัติ ท่านที่ไม่เป็นพระอริยเจ้าเข้าฌาน
ท่านเรียกว่าเข้าฌาน  เพราะไม่มีมรรคผล ต่างกันเท่านี้เอง กิริยาที่เข้าก็เหมือนกัน ต่างกันแต่เพียงว่า
ท่านเป็นพระอริยเจ้า หรือไม่ใช่พระอริยเจ้าเท่านั้นเอง

นิโรธสมาบัติ

          นิโรธสมาบัติ ท่านที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ ต้องเป็นพระอริยะขั้นต่ำตั้งแต่พระอนาคามี
เป็นต้นไป และพระอรหันต์เท่านั้น และท่านต้องได้สมาบัติแปดมาก่อน ตั้งแต่ท่านเป็นโลกียฌาน
ท่านที่ได้สมาบัติแปด เป็นพระอริยะต่ำกว่าพระอนาคามีก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ ต้องได้มรรคผลถึง
อนาคามีเป็นอย่างต่ำจึงเข้าได้

ผลของสมาบัติ 

          สมาบัตินี้ นอกจากจะให้ผลแก่ท่านที่ได้แล้ว ยังให้ผลแก่ท่านที่บำเพ็ญกุศลต่อท่านที่ได้
สมาบัติด้วย ท่านสอนว่าพระก่อนบิณฑาตตอนเช้ามืดที่ท่านสอนให้เคาะระฆังก็เพื่อให้พระวิจัย
วิปัสสนาญาณ และเข้าฌานสมาบัติ เพื่อเป็นการสนองความดีของทายกทายิกาผู้สงเคราะห์ในตอนเช้า
พระที่บวชใหม่ก็ทบทวนวิชาความรู้และซักซ้อมสมาธิเท่าที่จะได้ ผลของสมาบัติมีอย่างนี้
          ๑. นิโรธสมาบัติ สมาบัตินี้เข้ายาก ต้องหาเวลาว่างจริง ๆ เพราะเข้าคราวหนึ่งใช้เวลา
อย่างน้อย ๗ วัน อย่างสูงไม่เกิน ๑๕ วัน ใครได้ทำบุญแก่ท่านที่ออกจากนิโรธสมาบัตินี้ จะได้ผลใน
วันนั้น หมายความว่าคนจนก็จะได้เป็นมหาเศรษฐีในวันนั้น
          ๒. ผลสมาบัติ เป็นสมาบัติเฉพาะพระอริยเจ้า ท่านออกจากผลสมาบัติแล้ว สมาบัตินี้เข้าออก
ได้ทุกวันและทุกเวลา ท่านที่ทำบุญแด่ท่านที่ออกจากผลสมาบัติ ท่านผู้นั้นจะมีผลไพบูลย์ในความเป็น
อยู่ คือมีฐานะไม่ฝืดเคือง
          ๓. ฌานสมาบัติ ท่านที่บำเพ็ญกุศลแก่ท่านที่ออกจากฌานสมาบัติ จะทรงฐานะไว้ด้วยดี
ไม่ยากจนกว่าเดิม มีวันแต่จะเจริญงอกงามขึ้นเป็นลำดับ


เข้าผลสมาบัติ  

          ก่อนที่จะเลยไปพูดเรื่องอื่น เกิดห่วงการเข้าผลสมาบัติขึ้นมา จึงขอย้ำถึงเรื่องเข้าผลสมาบัติ
เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจสักนิด การเข้าผลสมาบัติ กับเข้าฌานสมาบัติ ต่างกันอยู่หน่อยหนึ่ง คือ
การเข้าฌานสมาบัติ ท่านสอนให้ทำจิตให้ห่างเหินนิวรณ์ คือระมัดระวังมิให้นิวรณ์เข้ามารบกวนใจ
เมื่อจิตว่างจากนิวรณ์แล้ว อารมณ์ของสมาธิก็ไม่มีอะไรรบกวน เข้าฌานสมาบัติได้ทันที สำหรับผล
สมาบัตินั้น  เป็นสมาบัติของพระอริยเจ้าท่านเข้าดังนี้  เมื่อท่านพิจารณาว่าเวลานี้ธุระอย่างอื่นไม่มีแล้ว
มีเวลาว่างพอที่จะเข้าผลสมาบัติได้ ท่านก็เริ่มเข้าสู่ที่สงัด นั่งตั้งกายตรง ดำรงจิตมั่นคงแล้วก็พิจารณา
สังขารตามแบบวิปัสสนาญาณ โดยพิจารณาในวิปัสสนาญาณทั้ง ๘ ย้อนไป ย้อนมา หรือพิจารณาตามแบบ ขันธ์ห้ารวม คือพิจารณาเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณทั้งห้าอย่างนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่มีในเรา อย่างนี้ก็ได้ตามแต่ท่านจะถนัด รวมความว่า ท่านเป็นพระอริยะ  เพราะท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณแบบใดท่านก็พิจารณาแบบนั้น เพราะท่านคล่องของท่านอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาขันธ์ห้าจนอารมณ์ผ่องใสแล้ว ท่านก็เข้าสมาบัติตามกำลังฌานที่ท่านได้ อย่างนี้เป็นวิธี เข้าผลสมาบัติ เพราะท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณก่อนจึงเข้าฌาน นำมากล่าวเพิ่มเติมไว้เพื่อท่านผู้อ่าน จะได้รับทราบไว้ แต่สำหรับท่านที่เป็นพระอริยเจ้านั้น ไม่มีอะไรจะสอนท่าน

ที่มา  http://board.palungjit.com

การให้ทานในแบบของพุทธศาสนา

ในสเตตัสก่อนผมเขียนไว้ไม่ครบ
อาจทำให้หลายท่านเข้าใจผิดบางประเด็น
จึงขอแจกแจงให้ละเอียดขึ้นครับ

เมื่อพูดถึง ‘การให้ทานในแบบของพุทธ’
ต้องเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงการถวายสังฆทาน
แต่มุ่งเอา ‘จิตคิดให้ เพื่อสละความตระหนี่’ เป็นหลัก

แต่เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์แก่ผู้ให้และผู้รับ
นับเอาความสุข ความเจริญ
ที่ผลิดอกออกผลในปัจจุบันกาลและอนาคตกาล
พระพุทธเจ้าก็ตรัสจำแนกแจกแจงไว้ดังนี้

ทานอันดับหนึ่ง ไม่มีอะไรชนะได้ คือธรรมทาน
(สัพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ)
ธรรมทานคือการให้ความรู้ ให้มุมมอง ให้แรงบันดาลใจ
ที่จะนำไปสู่การมีที่พึ่งให้ตนเอง ทั้งในการใช้ชีวิตนี้
และการเวียนว่ายตายเกิดต่อๆไปในชีวิตหน้า
ยกเอาสิ่งที่จะทำให้เห็นชัดว่าทำไมธรรมทานจึงเป็นที่หนึ่ง
ต้องดูจากที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
การตอบแทนพ่อแม่อันสมน้ำสมเนื้อกับที่ท่านให้ชีวิตเรา
คือการทำให้พ่อแม่ (ซึ่งยังไม่เข้าใจธรรม)
ได้เกิดศรัทธาที่ตั้งมั่นในธรรม มีใจตั้งมั่นในทานและศีล
ถ้าทำได้ ก็เรียกว่าเป็นการให้ธรรมเป็นทานอันยิ่งใหญ่ที่สุด
เพราะช่วยผู้ให้กำเนิดชีวิตเรา ปลอดภัยในการเดินทางไกล
ต่อให้ลูกกตัญญู แบกพ่อแม่ไว้บนบ่าให้อึฉี่รดหัวเราตลอดอายุขัย
ก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนได้เท่าการให้ธรรมเป็นทานแก่พวกท่าน

ทานอันดับสอง คือการรักษาศีล
เพราะเมื่อรักษาศีลแล้ว
สัตว์ที่มีสิทธิ์ได้รับความเดือดร้อนจากการเบียดเบียนของเรา
หรือคู่เวรที่จำต้องถูกเราประหัตประหารหรือทำร้ายกัน
ก็จะได้รับการปลดปล่อยจากเขตอันตราย
หรือได้รับการปกป้องให้ปลอดภัยจากศีลของเรา
แม้เขาทำให้เราผูกใจเจ็บ ก็ได้รับอภัยทานจากเรา
ไม่ต้องตีกันไปตีกันให้เจ็บช้ำน้ำใจกันยืดเยื้อต่อไปอีก

ทานอันดับสาม คือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมอง
เมื่อให้สิ่งที่เรามีเป็นทาน ย่อมได้ชื่อว่าสละความหวงแหน
อันเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น
นับเป็นต้นทางหลุดพ้นจากการยึดติดผิดๆ

ประเด็นคือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมองนั้น
ถ้าจะดูว่าให้กับใครจัดว่าให้ผลใหญ่ที่สุด
ก็ต้องมองว่า ‘ผู้มีจิตบริสุทธิ์’ หรือ ‘ผู้พยายามทำจิตให้บริสุทธิ์’
คือผู้ที่ทำให้เรารู้สึกดีที่สุด
ลองเทียบดูระหว่างช่วยพระกับช่วยโจร
อย่างไหนทำให้ปลื้มมากกว่ากัน

การทำทานกับสมณะในพุทธศาสนานั้น ถือว่าเลิศสุด
(ย้ำว่าในมุมมองของพุทธเรา)
ดังเช่นที่ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้หลายแห่งว่า
เป็นเหตุให้มีจิตผูกพันกับพุทธศาสนา
เป็นปัจจัยให้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น การช่วยทุกอย่าง มีผลดีหมด
อย่างเช่น ช่วยกลับใจโจร
ก็ได้ผลเป็นความไม่เดือดร้อนของเราเองในปัจจุบัน
และในกาลข้างหน้าเมื่อเราหลงผิด
ก็ย่อมมีผู้มาช่วยเปลี่ยนความคิดให้เห็นถูกเห็นชอบได้ง่าย เป็นต้น ครับ

ที่มา Dungtrin