"การให้ทานในแบบของพระพุทธศาสนา"
สามารถอ่านได้ที่ด้านล่างเว็บนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

ตามเสด็จพระพุทธเจ้า โดย หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโณ





เทศน์อบรมพระวันกฐิน ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๗
ตามเสด็จพระพุทธเจ้าทุกฝีก้าว


วันนี้เป็นวันกรานกฐิน เรียกว่าเปลื้องภาระความกังวลในไตรจีวรดังที่มีในพระวินัยแล้ว ไม่จำเป็นต้องอธิบายมากนัก รับกฐินแล้วได้รับความสะดวกหลายอย่างๆ ตามท่านแสดงไว้ในพระวินัย ทีนี้ผู้ที่จะออกหาที่วิเวกสงัดเพื่อบำเพ็ญความดีงามทั้งหลาย ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติดังองค์ศาสดาพาดำเนินมา อยู่ในป่าในเขาในสถานที่สงบงบเงียบ ปราศจากสิ่งก่อกวนทั้งหลายซึ่งเป็นข้าศึกต่อธรรม หาอยู่ในที่สะดวกสบาย การขบการฉันความเป็นอยู่ปูวายของพระผู้มุ่งต่ออรรถธรรมอย่างยิ่งแล้ว จะไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค อยู่ได้ทั่วๆ ไป ที่ไหนอยู่ได้ทั้งนั้น กินได้ใช้ได้ เพราะการใช้ไม่ค่อยมีในวงกรรมฐาน มีบริขาร ๘ จะใช้อะไร

การขบการฉัน บิณฑบาตจากชาวบ้านเขามา ได้เท่าไรแล้วก็เป็นที่พอใจ แล้วยังกำหนดในความพอดีกับธาตุกับขันธ์ของตน สิ่งใดที่เป็นภัยต่อธาตุขันธ์หรือเป็นโทษต่อพระวินัย เราก็ทราบเองตามหลักพระวินัยมีไว้เรียบร้อยแล้ว ฉันเฉพาะให้เป็นความเป็นอยู่ในวันหนึ่งๆ ไม่มีความเหลือเฟืออะไรเลยสำหรับพระผู้มุ่งปฏิบัติ มีตั้งแต่อรรถแต่ธรรม ยืนเดินนั่งนอนมีสติเป็นพื้นฐานสำหรับพระเราผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรม สติระลึกรู้อยู่กับความเคลื่อนไหวของใจ สติจะจับอยู่ที่ใจ ใจคิดปรุงเรื่องใดออกมา ส่วนมากต่อมากจะมีแต่เรื่องกิเลสแทบทั้งนั้น เรื่องอรรถเรื่องธรรมที่จะคิดออกมานี้ไม่ค่อยมี นี่เป็นปรกติของใจดวงนี้ที่บรรจุกิเลสความสกปรกโสมมไว้เป็นเวลานานกี่กัปกี่กัลป์นับไม่ได้เลย มันจึงมีความเคยชินคล่องตัวในความคิดความปรุง ความรู้ความเห็นอันเป็นทางของกิเลสโดยถ่ายเดียวได้ตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะหักห้ามวัฏวน คือความเกิดแก่เจ็บตายซึ่งหาบหามไปด้วยกองทุกข์ต่อภพชาตินั้นๆ จึงต้องได้บำเพ็ญสติให้ดี ยับยั้งจิตให้อยู่กับสติ ความคิดความปรุงอันใดออกมาจะเป็นเรื่องของกิเลส เราไม่อยากว่าแทบทั้งนั้นนะ อยากจะพูดว่าเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นสำหรับปุถุชนคนหนาเรา แทบทั้งนั้นนี้ได้แก่ผู้บำเพ็ญพอสมควรแล้ว มีทางธรรมะบ้าง มีทางกิเลสมากกว่าบ้าง ต่อไปก็มีทางธรรมะกับทางกิเลสผลัดกันแพ้ชนะไปเรื่อยๆ ถ้ามีสติอยู่แล้วกิเลสจะหนาแน่นขนาดไหนก็ตาม ก็แสดงออกตามความต้องการของตนไม่ได้ เพราะทางเดินของกิเลสภายในจิตใจจะเดินออกมาทางสังขาร ความคิดความปรุงต่างๆ ซึ่งกิเลสอยู่ภายในอีกอันหนึ่ง ท่านให้ชื่อว่าอวิชชา นั่นละเป็น ปจฺจยา สงฺขารา เป็นเครื่องหนุนให้เกิดกิเลส คือความคิดความปรุงเรื่องกิเลสขึ้นมา

ตาก็อยากดู หูอยากฟัง ทุกสิ่งทุกอย่างออกมาจากนี้ทั้งนั้น ถ้าไม่มีสติไปได้วันยังค่ำ ขนกองทุกข์มาทับถมตัวเองได้ตลอดเวลา ถ้ามีสติแล้วหักห้ามไม่ให้คิดไม่ให้ปรุงในเรื่องกิเลสทั้งหลาย ซึ่งเคยคิดปรุงมานานแสนนานไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อะไร มีแต่เรื่องความทุกข์ความเสียไปเท่านั้น จึงต้องบังคับ

ผู้ที่ฝึกหัดจิตใจในเบื้องต้นอย่าปล่อยวางคำบริกรรม เราเคยถือคำบริกรรมใดซึ่งถูกต้องกับจริตนิสัยของเรา เช่น พุทโธก็ได้ ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ มรณัสสติก็ได้ หรือธรรมบทอื่นใดก็ตาม เมื่อเป็นอรรถเป็นธรรมถูกต้องกับจริตนิสัยแล้ว ให้เอาธรรมบทนั้นๆ ที่ตนชอบใจเข้ามาเป็นคำบริกรรมกำกับจิตใจ ให้ใจทำงานด้วยคำบริกรรมนั้นๆ แล้วสติจดจ่อบังคับงาน ให้ทำหน้าที่ที่สติสั่งไว้ เช่นคำบริกรรม ไม่ให้เคลื่อนคลาดจากคำบริกรรม จะเสียดายความคิดความปรุงมากน้อยเพียงไร นั่นคือเสียดายเรื่องกิเลส เรื่องวัฏทุกข์ ที่จะจมไปอีกเป็นเวลานานไม่มีสิ้นสุด ไม่ต้องเสียดาย ให้เสียดายจิตใจที่จะเผลอไปตามกิเลส ให้ตั้งสติไว้อยู่สม่ำเสมอ

ยืนก็ตาม เดินก็ตาม นั่งก็ตาม นอนก็ตาม เว้นแต่หลับเท่านั้น เป็นเวลาที่สติควบคุมจิตใจซึ่งเป็นนักโทษ เป็นผู้ต้องหาอยู่ตลอดเวลา เมื่อสติควบคุมแล้วจิตก็ไม่มีกิเลสเข้ามารบกวน จะมีแต่ธรรมคือคำบริกรรมอันเป็นงานของธรรมล้วนๆ ไม่ใช่งานของกิเลส ทำงานอยู่ภายในหัวใจ มีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาอยู่โดยสม่ำเสมอตลอด เราไม่ต้องกำหนดเวลานั้นเวลานี้สติจะมา สติจะเผลอ ไม่ถูกทั้งนั้น เพราะกิเลสเป็นกิเลสวันยังค่ำ เป็นพื้นฐานของกิเลสอยู่แล้วในหัวใจของเรา เราจะนำธรรมเข้ามาเป็นวรรคเป็นตอน สำหรับผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างยิ่งแล้วไม่สมควรกันเลย ควรจะได้ติดกันเป็นพืด เช่นเดียวกับกิเลสฝังอยู่ในหัวใจเป็นพืดเรื่อยมา ก็ให้เป็นพืดเรื่อยไปเช่นเดียวกันด้วยการตั้งสติให้ดี ท่านทั้งหลายจำให้ดี

เรื่องสตินี้เป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียวในวงความเพียร เพื่อแก้ถอดถอนกิเลสจนกระทั่งถึงความพ้นทุกข์ จะข้ามสติไปไม่ได้เป็นอันขาด สติเป็นพื้นฐาน เริ่มต้นก็ให้กำหนดด้วยคำบริกรรม พอจิตใจได้รับคำบริกรรม สติติดแนบอยู่ตลอดแล้ว ความคิดความปรุงที่มันผลักดันออกมา อยากคิดอยากปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้มันจะมากขนาดไหน เราตั้งสติไว้ให้ดี ไม่สามารถที่มันจะคิดออกมาได้เลย กิเลสมีอยู่มากน้อยจะอยู่ในตุ่ม เราไม่เปิดปากตุ่มให้มัน คือเอาคำบริกรรมกับสติปิดปากตุ่มไว้แล้วกิเลสมันก็ออกมาไม่ได้ ครั้นตั้งนานเข้าๆ จิตที่ผลักดันออกมาด้วยกิเลส อยากคิดเรื่องนั้นอยากปรุงเรื่องนี้ จะค่อยเบาลงๆ

จิตเมื่อได้รับการบำรุงรักษาด้วยคำบริกรรมโดยทางสติแล้ว จะค่อยมีความสงบเย็นลงๆ โดยลำดับๆ จากนั้นจิตก็เข้าสู่ความสงบได้ สงบถึงขั้นแน่วแน่เลย สงบจนกระทั่งคำบริกรรมที่เราเคยกำหนดบทใดก็ตาม เช่น พุทโธๆ เป็นต้น กำหนดติดกันเป็นสายยาวเหยียดมานี้ พอถึงขั้นจิตเข้าสู่ความสงบแล้ว ความคิดปรุงด้วยคำบริกรรมเหล่านี้จะหมดไปในเวลานั้น กำหนดให้คิดให้ปรุงอะไรก็ไม่ได้ เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ อยู่ภายในจิต เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็ให้กำหนดสติตั้งลงในจุดคือความสงบของใจ หรือความสง่าของใจ ความละเอียดของใจที่เรียกว่าสงบตัวนั้น ไม่ปล่อยให้ไปไหน

ทีนี้จิตเวลาสงบลงไปนานควรแก่กาลแล้วจะถอยตัวออกมา เมื่อถอยตัวออกมาควรแก่การบริกรรมได้แล้ว ให้กำหนดคำบริกรรมติดเข้าไปอีกด้วยสติ ท่านทั้งหลายจำให้ดี วิธีการเหล่านี้ได้ดำเนินมาแล้วไม่สงสัย ให้ทำอย่างนี้ตลอดไป จิตนี้จะเริ่มมีความสงบเย็นๆ อารมณ์รบกวนคือสังขารออกมาจากสมุทัยนั้นจะเบาลงๆ จิตที่บำรุงด้วยอรรถด้วยธรรมคือคำบริกรรมนี้ จะมีความสงบแน่นหนามั่นคงมากขึ้นๆ จนเป็นสมถธรรม เป็นใจที่สงบไม่อยากคิดอยากปรุง จากนั้นความสงบนี้จะส่งผลไปถึงจิตใจให้เป็นใจที่มีความแน่นหนามั่นคง ก็กลายเป็นสมาธิขึ้นมาได้จากสมถธรรมที่เราอบรมอยู่ตลอดเวลาด้วยสติกับคำบริกรรมนี้แล ทีนี้ก็หนุนกันไปจนกระทั่งจิตเป็นสมาธิ

คำว่าสมาธิคือจิตตั้งมั่นอยู่เป็นอารมณ์อันเดียว แน่นหนามั่นคง แม้เราจะคิดปรุงแต่งเรื่องใดได้อยู่ก็ตาม แต่ฐานของจิตคือความแน่นหนามั่นคงจะไม่ละตนเอง จะมีความแน่นหนามั่นคงอยู่ภายในใจ นี้เรียกว่าจิตเป็นสมาธิในภาคปฏิบัติ จิตสงบเป็นอย่างหนึ่ง คือสงบด้วยจิตรวมลงหลายครั้งหลายหน แต่ละหนๆ เรียกว่าจิตสงบๆ เมื่อรวมลงไปทีไรก็ส่งผลหนุนให้จิตมีความแน่นหนามั่นคงมากขึ้นๆ จนกลายเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วทีนี้เรื่องอารมณ์นั้นอิ่ม อยากจะคิดจะปรุงอะไรตั้งแต่ก่อนซึ่งเหมือนอกจะแตก ไม่ได้คิดได้ปรุงเหมือนว่าอกจะแตก อยู่ไม่ได้ก็ตาม พอจิตเข้าสู่ความสงบเรื่อยเข้าสู่สมาธิแล้ว ความคิดปรุงทั้งหลายเหล่านี้จะไม่มี จิตอิ่มอารมณ์ ไม่อยากคิดอยากปรุงอยากรู้อยากเห็น อยากได้ยินได้ฟังสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เคยดีดดิ้นมาแต่ก่อน เพราะความสงบเป็นพื้นฐานให้เป็นที่อยู่ของจิตแล้ว จิตก็สงบเย็น นี่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ

จิตเป็นสมาธินี้อยู่คนเดียวแล้วเหมาะที่สุด อยู่ที่ไหนต้นไม้ภูเขา ตามถ้ำเงื้อมผา จะเป็นอารมณ์อันเดียวของผู้มีจิตเป็นสมาธิ เพลินอยู่กับความเป็นสมาธิ อารมณ์อันเดียวคือมีแต่ความรู้ที่เด่นอยู่เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดเข้ามาเจือปน คือสังขารไม่ปรุงเอาเรื่องราวเข้ามาผสมใจ ใจก็เป็นอารมณ์อันเดียว เรียกว่า เอกัคคตาจิต เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์อันเดียว นี่เป็นสมาธิแล้ว จิตอิ่มอารมณ์แล้วที่นี่ เมื่อจิตอิ่มอารมณ์ เอ้า เริ่มต้นมาตั้งแต่จิตอิ่มอารมณ์มากน้อย พอได้โอกาสให้พิจารณาทางด้านปัญญา ออกทางวิปัสสนา นี่ละการถอนกิเลสจะถอนด้วยปัญญา ไม่ได้ถอนด้วยสมถธรรมหรือสมาธิธรรม เป็นแต่เพียงว่า สมถะกับสมาธิธรรมตีอารมณ์ทั้งหลายของกิเลสที่มันพาฟุ้งซ่านรำคาญ ให้เข้ามาสู่ความสงบด้วยบทสมถธรรมนี้เท่านั้น

ทีนี้พอจิตสงบเข้าไปแล้วได้โอกาสที่จะพิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ หลักวิชาที่ใหญ่โตมากที่สุด เราทุกๆ ท่านได้บวชมาแล้ว ได้ศึกษาจากอุปัชฌาย์มาด้วยกันทุกคน แม้พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วก็ตาม หลักวิชาที่ตายตัวซึ่งเป็นองค์แทนศาสดานี้คือคำสอน ก็ติดมากับอุปัชฌาย์สอนเรา ให้ปฏิบัติตามนี้ ซึ่งเป็นเหมือนกับการก้าวเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า ว่า เกสา เกสาคือผม ผมมีทุกคน โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาคือฟัน ตโจคือหนัง นี่เรียกว่าตจปัญจกกรรมฐาน แปลว่ากรรมฐานมีหนังเป็นที่ห้า เป็นฐานที่ควรแก่การงานของผู้จะรื้อถอนตนให้พ้นจากทุกข์ ให้นำสิ่งเหล่านี้มาพินิจพิจารณา

เบื้องต้นที่ยังไม่มีปัญญา เราจะเอาคำบริกรรมคำใดก็ได้มาเป็นคำบริกรรมเพื่อความสงบของใจก็ได้ นี่เป็นได้ทั้งอารมณ์แห่งสมถะ เป็นได้ทั้งอารมณ์แห่งวิปัสสนา เมื่อจิตเรามีความสงบเย็นแล้ว ให้แยกจากสมถะอารมณ์อันนี้เข้าสู่วิปัสสนา แยกดูธาตุดูขันธ์ ดูผมดูเล็บดูฟันดูหนังดูเนื้อ เอ็น กระดูก ตลอด เพราะท่านสอน ตโจ หนังเป็นสุดท้ายนั้น ท่านสอนให้พอเหมาะพอดีกับเวล่ำเวลา เพราะหนังนี่หุ้มห่อหมดสกลกายของหญิงของชาย ของสัตว์ของบุคคล สัตว์ทั้งหลายหลงกันด้วยหนังบางๆ นี้แหละ ไม่ได้หนาเท่าใบลานเลย มันหนังเท่านี้แหละ นอกนั้นเต็มไปด้วยอสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา เต็มไปหมดในบุคคลและสัตว์

เมื่อถึงเวลาที่เราจะพิจารณา ให้พิจารณาแยกดูเรื่องผมเกิดขึ้นมายังไง สถานที่อยู่ของผมคืออะไร กะโหลกศีรษะมีความสวยงามสะอาดสะอ้านอย่างไรบ้าง ฐานที่เกิดของมันก็สกปรก ที่อยู่ของมันก็สกปรก โลมาขนก็เหมือนกัน เกิดในพื้นฐานอันเดียวกัน เป็นความสกปรกเช่นเดียวกัน นขาเล็บเราก็ดู เล็บเขาเล็บเรามันสะอาดมันสวยงามที่ไหน ให้พิจารณาดูเล็บ แล้วพิจารณาหนัง พอถึงหนังแล้วครอบหมดทั้งสกลกาย ผิวหนังบางๆ เท่านี้เองมันหุ้มห่อ ให้สัตว์โลกหูหนวกตาบอดไม่ระลึกถึงบุญถึงบาปได้เลย เหยียบบาปเหยียบบุญไปหมด เห็นวิเศษตั้งแต่ความมืดบอดของตนเอง เหยียบดะไปเลย เพราะหนังนี้เป็นต้นเหตุ

เมื่อพิจารณานี้แล้ว เอ้าแยกเข้าไปที่นี่ ท่านสอนไว้เพียงแค่นี้ ตโจ หนัง จากนั้นก็อาการ ๓๒ เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า พิจารณาคุ้ยเขี่ยขุดค้นดูสภาพของร่างกายในตัวของเรานี้ทั้งหมดหาสาระแก่นสารอะไรไม่มีเลย เราก็หลงอย่างหูหนวกตาบอดไม่ลืมหูลืมตา หลงชนิดว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นของเราของเขา เป็นหญิงเป็นชาย เป็นของสวยของงาม ซึ่งเป็นของสกปรกทั้งนั้น นี่ละพอปัญญาหยั่งเข้าไปนี้ จะหยั่งเข้าไปตามหลักความเป็นจริง ผมไม่สะอาด ขนไม่สะอาด เล็บ ฟัน หนัง ไม่ได้สะอาด เนื้อ เอ็น กระดูก ไม่มีชิ้นใดสะอาด ในสกลกายของเราทั้งหมดนี้ไม่มีชิ้นใดสะอาด ที่ว่าสะอาดสวยงาม กิเลสมาเสกสรรปั้นยอลมๆ แล้งๆ ไม่ได้มีตัวจริง นี่ละปัญญาให้พิจารณาอย่างนี้

การพิจารณาปัญญานั้นเป็นตามแต่จริตนิสัยของผู้พิจารณา มีความแยบคายหลายด้านหลายทางต่างกัน อันนี้ให้ถือเป็นตามจริตนิสัย ส่วนกลางๆ ท่านสอนไว้แล้วอาการ ๓๒ ก็ดี เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ก็ดี นี่ท่านวางเป็นพื้นฐานกลางๆ เอาไว้ ตามแต่ท่านผู้ใดจะพิจารณาหนักแน่นในอาการใดๆ ในส่วนร่างกายทั้งหมด หรือจะพิจารณาไปให้ตลอดทั่วถึง ให้เป็นไปตามจริตนิสัยของผู้นั้น นี่คือการพิจารณาทางด้านปัญญา

พอจิตสงบแล้วอิ่มอารมณ์ ไม่ได้หิวโหยอยากรู้อยากเห็นอยากได้ยินได้ฟังสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทีนี้จะพาดำเนินทางด้านปัญญา พิจารณาตามหลักความจริง ปัญญาก็ทำตามจิตที่สั่ง เพราะจิตใจไม่ได้หิวโหยพอที่จะแฉลบไปหาอารมณ์จอมปลอม ปัญญากลายเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นของจอมปลอมไปเสีย เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนไว้ว่า สมาธิ ปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว หรือย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก เบื้องต้นก็ สีล ปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส สมาธิที่ศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก คำว่าศีลอบรมแล้วคือศีลเป็นรั้วกั้น ศีลให้ความอบอุ่น เราไม่ได้ทำลายศีลให้ด่างพร้อยขาดทะลุไป พอที่จะสร้างความระแวงแคลงใจให้เกิดทุกข์เป็นกังวลขึ้นมาภายในใจ เราจะทำจิตของเราให้เข้าสู่ความสงบก็ลงได้ง่าย ไม่เป็นอารมณ์กับศีล ว่าศีลด่างพร้อย เป็นต้น

พอมีศีลแล้วการทำสมาธิของเราก็ไม่เป็นกังวลในโทษที่ตนล่วงเกินศีลไม่มี จิตก็เป็นสมาธิได้ง่าย เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วเรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ ที่อยากคิดอยากปรุงเรื่องราวทั้งหลายไม่คิดไม่ปรุง มีแต่อารมณ์อันเดียวแน่น นั่นเรียกว่าเอกัคคตารมณ์ เอกัคคตาจิต เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ พาจิตที่อิ่มอารมณ์นี้แลออกไปทำงานทางด้านปัญญาวิปัสสนา เริ่มตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ถึงอาการ ๓๒ ตลบทบทวนหลายครั้งหลายหน พิจารณาด้วยความมีสติจดจ่อต่อเนื่องกันเป็นลำดับลำดา นี่เรียกว่าปัญญา เมื่อพิจารณาปัญญาพอสมควรแก่กาลแล้ว จิตรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ให้ถอยจิตเข้ามาสู่สมาธิคือความสงบใจ มีอารมณ์อันเดียวนี้เสีย เรียกว่าพักงาน

งานวิปัสสนาก็เป็นงานของปัญญา ให้ถอยเข้ามาสู่สมาธิ พอได้กำลังวังชา จิตมีความสงบแล้วเย็น เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม พอจิตมีความสงบเย็นเป็นกำลังได้ดีแล้วออกทางด้านปัญญา พิจารณาอาการ ๓๒ นี้แหละเป็นพื้นเป็นฐาน พิจารณาทบทวนถอยหน้าถอยหลังเหมือนเขาคราดไร่คราดนาทบทวนไปมา คราดไปคราดมา จนกระทั่งมูลคราดมูลไถแหลกละเอียดควรแก่การปักดำแล้วเขาก็ปักดำ อันนี้พิจารณาถึงความละเอียดลออของธาตุของขันธ์แล้ว เราจะพักจิตเราก็พักได้สบาย ต่อจากนั้นพิจารณาไปอีกต่อไปอีกทบทวนหลายครั้งหลายหน อย่าเอาเวล่ำเวลา อย่าเอาเที่ยวมากำหนด ให้เอาความชำนิชำนาญมาเป็นบาทฐานสำคัญการพิจารณา

เรื่องร่างกายนี้เป็นของสำคัญมาก ผมจะไม่อธิบายอะไรมาก เพียงกลางๆ เท่านี้ท่านผู้ปฏิบัติจะกระจายออกไปเอง เพราะความรู้อันนี้สามารถที่จะกระจายออกไปได้หมด เพราะเป็นขั้นปัญญาเกี่ยวกับร่างกาย มันจะกระจายออกไปหมดเลย นี่เรียกว่า สมาธิ ปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่มีสมาธิเป็นเครื่องหนุนแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว ทำงานตามหน้าที่ของตนไม่เถลไถลไปในงานอื่นใด อันที่สาม ปญฺญา ปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่ปัญญาซักฟอกเรียบร้อยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ นั่น เมื่อปัญญามีความเฉลียวฉลาดรอบตัวแล้วก็ซักฟอกจิตไปตั้งแต่ขั้นหยาบๆ ไปเรื่อยๆ เช่น อสุภะอสุภัง การพิจารณาปัญญาก็เป็นการซักฟอกจิตไปอีกประเภทหนึ่งๆ จนถึงขั้นจิตที่ละเอียด

ปญฺญา ปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตเมื่อถูกปัญญาอบรมหรือซักฟอกเรียบร้อยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ นี้คือพระโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้า และสาวกทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังและปฏิบัติตามนี้ได้เป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเราตามแบบแผนที่ถูกต้องดีงาม จึงขอให้นำไปพินิจพิจารณา เรื่องร่างกายเป็นสำคัญมากนะ นักปฏิบัติอย่าหนีร่างกาย เรื่องอสุภะอสุภังเป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะเรื่องร่างกายนี้เป็นกิเลสตัวใหญ่หลวง ออกหน้าทัพก็คือกิเลสตัวนี้แหละ ราคะตัณหา กามกิเลส ตัวนี้เป็นตัวกดถ่วงโลกทั้งหลายให้จมดิ่งๆ จนกระทั่งไม่รู้บุญรู้บาป ไม่สนใจบุญบาป ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมตลอดเวลา ยิ่งกว่าหมาเดือน ๙ เดือน ๑๒ ก็คือราคะตัณหาที่อยู่ในหัวใจของสัตว์โลกนี้แล

จึงต้องนำอสุภะอสุภังมาพิจารณาแก้กัน เมื่อแก้อันนี้ลงไปเต็มที่ๆ แล้ว เรื่องอสุภะอสุภังนี้ถึงขั้นชำนาญ ชำนาญจริงๆ มองดูอะไรนี้เป็นไปตามที่เรารู้เราเห็นนั้นเลย ไม่ว่ามองสัตว์มองบุคคลมองหญิงมองชายมองเขามองเรา เราชำนิชำนาญในทางเนื้อ มองไปนี้เห็นเป็นเนื้อ ชำนาญในทางกระดูก มองไปจะเห็นแต่กองกระดูก เนื้อไม่เห็นเลย ต่างคนต่างมีความชำนิชำนาญต่างๆ กัน จนกระทั่งมันมีความชำนิชำนาญคล่องแคล่วแกล้วกล้าแล้ว เอ้า ตั้งเข้ามา เอาอสุภะอสุภังที่เราพิจารณาเอามาไว้ที่ตรงหน้าของเรา เอา กำหนดดู อสุภะจะเป็นตัวเขาตัวเราเป็นอสุภะ เอามาตั้งไว้ตรงหน้าเพื่อจะพิสูจน์เรื่องราคะตัณหามันเป็นไปจากอะไร ตรงนี้เป็นตัวที่จะพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนไม่สงสัย

เอามาตั้งไว้ข้างหน้า กำหนดดู ไม่เคลื่อนไหว เอ้า มันจะไปยังไงอสุภะอันนี้ ท่านั่งท่านอนก็ตาม ท่าไหนก็ตาม เอากำหนดมาไว้ข้างหน้านี้ หรือว่าเน่าเฟะอยู่ข้างหน้านี้ เอาสติจับอยู่ตรงนั้นมันจะไปไหน ถ้ามันยังนิ่งอยู่ตลอดไปนี่ก็แสดงว่ายังไม่พอ ต้องกำหนดให้แน่เสียก่อนนะ ถึงขั้นที่เราจะเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนั้นต้องพิจารณาอันนี้ ถ้าอันนี้ยังแน่วอยู่นั้นก็แสดงว่าจิตเรายังไม่พอ เอา ทำลายลงไปอีก เอาอันนี้แหละทำลาย ทำลายให้แหลกให้เหลวให้รวดให้เร็วลงไปโดยลำดับลำดา แล้วย้อนกลับมาพิจารณาอสุภะอสุภังนี้ เอามาตั้งไว้ตรงหน้าเราอีก เราจะได้พิสูจน์ตัวราคะนี่ คืออะไรเป็นราคะ ตรงนี้ละตรงตัดสินกัน

วันนี้เปิดหัวอกให้ท่านทั้งหลายฟัง ดำเนินมาอย่างนี้ ทีนี้พอถึงขั้นมันจะรู้ตัวแล้ว กำหนดอสุภะที่ตั้งอยู่ตรงหน้า จะเป็นท่านั่งก็ตาม ท่านอนท่าใดก็ตาม พอกำหนดนี้แล้ว อสุภะที่ตั้งอยู่ตรงหน้านั้นจะถูกจิตนี้กลืนเข้ามาๆ มันเป็นเอง ท่านทั้งหลายอย่าไปวาดภาพอย่าไปทำเป็นสัญญาอารมณ์นะ ให้เป็นหลักธรรมชาติปัจจุบัน เป็นความถูกต้องดีงาม เป็นธรรมแท้ กำหนดดูอันนี้จะไปไหน มันจะเคลื่อนไหวไปมา จะออกจะเข้า เคลื่อนไหวไปไหนดูให้ชัดเจน เวลามันชัดเจนจริงๆ แล้ว อสุภะอสุภังที่เรากำหนดนั้นจะเคลื่อนตัวเข้ามาๆ จิตจะดึงดูดเข้ามาๆ เลยกลายเป็นจิตกลืนเอาอสุภะที่อยู่ตรงหน้านั้นเข้ามาเป็นตัวเสียเอง

เมื่ออสุภะได้หมุนตัวเข้ามาสู่จิตแล้ว อสุภะที่เราตั้งไว้ภายนอกนั้นเป็นอสุภะนอก มันปัดออกเลย อสุภะที่แท้จริงคือจิตดวงนี้ไปวาดภาพว่าอันนั้นสวยอันนี้งาม อันนั้นไม่สวยไม่งาม คือสังขารตัวนี้เอง ทีนี้สังขารตัวนี้กลืนเข้ามาแล้วมาเป็นตัวเสียเอง คือสังขารตัวนี้เองเป็นอสุภะอสุภัง ตัวนี้เองเป็นกิเลส ตัวนี้เองเป็นราคะตัณหา อสุภะอสุภังไม่ได้เป็นราคะตัณหา ตัวนี้เองเป็น พอจับอันนี้ได้ปั๊บมันจะปัดอสุภะภายนอกออกโดยหลักธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครบอกก็ตาม ทีนี้มันจะฝึกซ้อมอสุภะอันนี้โดยอาศัยอสุภะภายนอกมาเป็นเครื่องฝึกซ้อม เอา ตั้งขึ้นมาปั๊บมันจะหมุนเข้ามาภายในๆ เร็วเข้ามาเรื่อยๆ แล้วมาถูกจิตกลืนไป หายที่จิตๆ อสุภะทั้งหมดเข้ามาเป็นอสุภะภายในจิตแล้ว กำหนดแล้วมันจะหายไปที่จิต เอ้า ตั้งขึ้นมาใหม่ แล้วมันจะกลืนเข้ามาๆ และหายไปหมดๆ

ฝึกซ้อมจนกระทั่งมีความชำนิชำนาญ อสุภะภายในตั้งอยู่ไม่นานก็หมดไปๆ สุดท้ายก็เป็นแสงหิ่งห้อยละที่นี่ เข้าใจเหรอ ราคะตัณหาข้างนอกเพราะอาศัยรูปร่างกลางตัวเป็นอสุภะภายนอก หรือว่ากิเลสตัณหา ราคะตัณหา ไปอยู่ภายนอกอสุภะหรือสุภะอันนั้น มันไม่ได้อยู่ เป็นกิเลสไปวาดภาพหลอก ทีนี้พอพิจารณานี้เข้าไปๆ เรื่องอสุภะภายนอกนั้นจะถูกจิตกลืนเข้ามาๆ เป็นอสุภะอยู่ภายในตัวเอง พอเป็นอสุภะอยู่ภายในตัวเองแล้วจะดับลงที่ภายในจิตนี้เอง แล้วตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อการฝึกซ้อม เราไม่ต้องดึงนะ ตั้งขึ้นมานั้นแล้วกำหนดดูอันนั้น มันจะเข้ามาของมันเอง พอตั้งขึ้นปั๊บมันจะเข้ามาๆ เป็นเองๆ เข้ามาถึงจิตกึ๊กแล้วอยู่ที่จิต แล้วดับไปๆ จนมีความชำนิชำนาญ

ตั้งขึ้นมา เร็วเข้ามา ไหลเข้ามา เร็วเข้ามา ตั้งมาเป็นอสุภะภายในก็เร็วเข้าเรื่อยๆ ดับไปที่ภายในใจเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดเรื่องอสุภะภายใน ตั้งขึ้นพับดับพร้อมๆ  จากนั้นก็เป็นอากาศธาตุ ร่างกายนี้หมดความหมายในการพิจารณาร่างกาย แต่ต้องอาศัยภาพอันนี้แหละเป็นพื้นฐานต่อไปจนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือ มันก็ยังตั้งขึ้นมาเพื่อฝึกซ้อมปัญญาให้ชำนิชำนาญอยู่นั้นแล นี่ละการพิจารณา ในจุดนี้แล้วเรื่องร่างกาย เรื่องอสุภะอสุภังทั้งหลาย ราคะตัณหาหมดไปที่จุดนี้ ให้ท่านทั้งหลายจำเอานะ ราคะตัณหาไม่ไปอยู่กับหญิงกับชาย ไม่ไปอยู่กับอสุภะอสุภัง มันอยู่กับตัวสังขารจากอวิชชา อวิชชาเป็นสังขารไปวาดภาพเป็นหญิงเป็นชายเป็นเขาเป็นเราแล้วมาหลอกตัวเอง พอตามภาพนี่ได้แล้วมันจะเข้ามาสู่ภายใน

พอเข้ามาสู่ภายใน ภาพนี้หายไปหมดแล้ว นั่นละที่นี่ราคะตัณหาหมดไปในที่นี่ เป็นพื้นฐานในเบื้องต้น อย่างน้อยขาดในเบื้องต้นนี้ สอบได้ ๕๐% เรียกว่าแน่แล้วที่นี่ไม่เป็นอื่น แล้วต่อไปก็ฝึกซ้อมนี่แหละ ฝึกซ้อมสุภะทั้งหลาย อสุภะทั้งหลาย อยู่ไม่หยุดไม่ถอย ทีนี้มันจะเลื่อนขึ้นจาก ๕๐% แล้ว ๖๐% ขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดปัญหาในเรื่องอสุภะอสุภัง จากนั้นก็ก้าวเข้าสู่นิพพาน อันนี้ไม่ต้องบอก อันนี้เป็นสำคัญมากเรื่องราคะตัณหา ทำให้ไขว่คว้า ทำให้หาหลักยึดไม่ค่อยได้ ขอให้ตั้งอันนี้ได้เถอะพระปฏิบัติเรา แน่วแน่ต่อการพ้นทุกข์ไม่ต้องสงสัยเลย เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างหน้า และนิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ มันจะตะเกียกตะกายแหละที่นี่ นี้ความแน่นอน เรื่องราคะตัณหาขาดลงในจุดที่อสุภะอสุภังหมุนเข้ามาสู่ใจ ใจกลืนไปหมดแล้ว เรื่องร่างกายทั้งหลายนี้เป็นอสุภะภายนอกก็หมดไป ราคะก็หมดไปในจุดนั้น

ฟังให้ดี ใครจะสอนท่านทั้งหลายอย่างนี้ เราดึงออกมาจากหัวใจมาสอน ให้จำให้ดี ไม่มีผิดมีพลาดถ้าดำเนินตามนี้แล้ว แต่อย่างไรต้องพิจารณาเรื่องสกลกาย อสุภะอสุภังให้แน่นหนามั่นคง ให้ชำนิชำนาญ เรื่องที่จะเกิดขึ้นอย่างนี้บอกแต่แนวทางไว้ให้ เอามาตั้งข้างหน้า อสุภะนั้นเมื่อชำนาญแล้วเอามาตั้งข้างหน้าไม่ให้มันเคลื่อนไหวไปไหน มันจะไปที่ไหน ทำลายก็ไม่ทำลาย ให้มันอยู่อย่างนั้น ท่านั่งก็ให้นั่ง ท่ายืน ท่านอนก็ให้มันนอนอยู่นั้น เอา ดูมันจะเคลื่อนไหวไปไหน อันนี้มันจะเป็นหลักธรรมชาติอันหนึ่ง มันจะค่อยเคลื่อนเข้ามา เคลื่อนเข้ามาโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง ไม่ได้ถูกบีบบังคับนะ

พอกลืนเข้ามาๆ จิตนี้จะกลืนเข้ามาจนกระทั่งมาถึงจิต จิตเลยเป็นอสุภะนั้นเสียเอง อันนั้นไม่ใช่อสุภะอสุภังอะไร ตัวจิตเองเป็นผู้ไปวาด พอจับนี้ได้แล้วมันก็ปล่อยอสุภะภายนอกนั้นไปหมด ยังเหลือแต่อสุภะภายใน แต่ต้องเอาอสุภะภายนอกมาตั้งเป็นฐานเพื่อลับสติปัญญา ฝึกซ้อมให้มีความชำนิชำนาญละเอียดลออรวดเร็วยิ่งขึ้นไป ก็ต้องอาศัยอสุภะภายนอกอยู่นั้นแหละ พอตั้งปั๊บมันจะหมุนเข้ามาภายในใจๆ พอหมดนี่แล้ว นี่ละท่านว่าราคะตัณหามาหมดจุดนี้ ท่านบอกว่าท่านสำเร็จพระอนาคามี ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกแล้ว

คือราคะตัณหานี้เป็นตัวพาให้สัตว์เกิดสัตว์ตายอยู่ตลอดเวลา ราคะตัณหาจึงเป็นหัวหน้าแห่งแนวรบ ออกสนามก็คือราคะตัณหา ทำโลกให้ยุ่งเหยิงวุ่นวายป่วนปั่นกันอยู่ตลอดเวลาก็คือราคะตัณหา พอราคะตัณหานี้ขาดสะบั้นลงไปจากใจแล้ว เรื่องทั้งหลายที่วุ่นวายส่ายแส่ทั้งวันทั้งคืนด้วยความคิดเป็นบ้าของเรานี้แหละ มันไปสร้างเหตุการณ์ขึ้นมา พอราคะอันนี้ขาดลงไปแล้ว ความคิดความปรุงที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายก่อกวนตัวเองนั้นมันสงบลงไปด้วยกัน ประหนึ่งว่าบ้านร้างแต่มีคนอยู่

ทำไมว่าบ้านร้างแล้วมีคนอยู่ยังไง ก็คือมีแต่คนมีสมบัติผู้ดี จิตใจที่คิดเป็นอรรถเป็นธรรมล้วนๆ เพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียวๆ นี่เรียกว่ามีคนอยู่ เหมือนเมืองร้าง จิตใจที่วุ่นวายทั้งหลายมันมีอันธพาลอยู่ในนั้น กิเลสคือตัวกามราคะตัณหาที่เป็นอันธพาล พอตัวนี้ขาดสะบั้นลงไปแล้วจึงเป็นเหมือนบ้านร้าง อันธพาลอย่างนี้ไม่มี จิตใจที่จะคิดให้เป็นอันธพาลยุ่งเหยิงวุ่นวายไปทั่วโลกดินแดนอย่างนี้ไม่มี ออกไปจากกามกิเลสนี้เท่านั้น พอกามกิเลสนี้ขาดสะบั้นลงไปแล้วเท่านั้นจึงเป็นเหมือนบ้านร้าง จิตใจนี้ว่างไปหมด ไม่มีอะไร ความคิดความปรุงมีแต่เป็นความคิดความปรุงของอรรถของธรรม ที่จะพาเจ้าของให้หลุดพ้นจากทุกข์โดยถ่ายเดียว ไม่ได้เป็นความคิดความปรุงที่ลากเจ้าของลงๆ เหมือนราคะตัณหาที่มันลากสัตว์โลกลงให้จมตลอดเวลา พากันจำเอานะ

ทีนี้เอานี้ฝึกซ้อมเข้าไปแล้ว ต่อไปเรื่องร่างกายนี้มันจะหมดปัญหาของมันไป มันจะว่างเปล่าไปเลย ไม่บอกก็รู้ ขอให้เอาอสุภะอสุภังนี้มาตั้งเป็นฐานฝึกซ้อม เพื่อความชำนิชำนาญของจิตนี้ก็แล้วกัน ของอสุภะภายใน มันจะค่อยดับไปๆ เกิดแล้วดับ ปรากฏขึ้นมาแล้วดับ แล้วเร็วขึ้นๆ จากนั้นแล้วก็หมด หมดแล้วเรื่องพิจารณาสกลกาย ก็หมดปัญหา เรียกว่ารูปธรรมหมดแล้วในขั้นอนาคามี หมดโดยสิ้นเชิง จากนั้นก็เป็นนามธรรม พวกสัญญา สังขาร วิญญาณ มันปรุงมันแต่งจากจิตนี้แหละ เรียกว่าติดนามธรรม พิจารณาอันนี้ความเกิดความดับ สังขารคิดดีคิดชั่วดับ สัญญาเกิดแล้วดับ ดับลงไปหาใจ รากฐานที่อยู่กับใจนั้นคืออะไร คืออวิชชา

ทีนี้มันก็ตามกระแสของจิตที่เป็นนามธรรมนี้เป็นอารมณ์ ไต่เต้าเข้าไปๆ ฝึกซ้อมเข้าไปเรื่อยๆ พอถึงขั้นนั่นแล้วมันก็ถึงอวิชชาเอง ไม่ต้องถามหาอวิชชาแหละ ให้พากันเข้าใจ นี่วิธีพิจารณา ผมเปิดให้ท่านทั้งหลายได้ฟังชัดเจนเพราะจวนจะตายแล้ว ผู้ปฏิบัติจะไม่ได้หลักได้เกณฑ์ ประพฤติปฏิบัติสุ่มสี่สุ่มห้าลุ่มๆ ดอนๆ การภาวนาสติเป็นของสำคัญ มันก็ไม่สำคัญยิ่งกว่าความปล่อยเนื้อปล่อยตัวไปเสีย เลยตั้งหลักตั้งฐานของจิตใจก็ไม่ได้ เมื่อตั้งรากฐานจิตใจไม่ได้ ความสงบไม่มี ปัญญาจะเกิดได้ยังไง นี่ละที่ท่านสอนไว้ ศีล สมาธิ ปัญญา ท่านสอนอย่างนี้

เมื่อตั้งรากตั้งฐานของจิตได้ด้วยสติแล้วสมาธิจะเป็นขึ้นมาๆ สมาธิเป็นขึ้นมาอย่าลืมปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องแก้กิเลส สมาธิเป็นเครื่องตีกิเลสให้ตะล่อมเข้ามาอยู่ในความสงบ หรือว่าล้อมคอกกิเลสไว้ก็ถูกนะ ปัญญาเอามาตีต้อนกิเลสสับฟันกิเลส นี่เรียกว่าปัญญา ให้พากันพิจารณา ให้ดำเนินตามนี้

พอถึงขั้นนี้แล้ว ขั้นอสุภะอสุภังนี้เป็นขั้นที่ชุลมุนวุ่นวายมาก ในบรรดาความเพียรทั้งหลาย ไม่มีความเพียรใดที่จะหนักแน่นชุลมุนวุ่นวายยิ่งกว่าความเพียรในการพิจารณาอสุภะอสุภังเพื่อตัดกามกิเลสให้ขาดสะบั้น อันนี้เรียกว่างานชุลมุนวุ่นวาย ชุลมุนที่สุดเลยทีเดียว จะเห็นในตัวของเราเองนั่นแหละ ท่านผู้ปฏิบัติจะผ่านเข้าไปตรงนั้นไม่ต้องบอก พออันนี้ผ่านไปแล้วทีนี้ งานต่อไปนี้เป็นงานสติอัตโนมัติปัญญาอัตโนมัติ มันจะหมุนเพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว เป็นขั้นของพระอนาคามี ท่านจะหมุนขึ้นโดยลำดับไม่หมุนลง นี่เรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ หมุนขึ้นเรื่อยๆๆ ไม่มีลง ขึ้นเรื่อยๆ ละเอียดเข้าไปๆ ถึงความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงจากการพิจารณาอย่างนี้

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะสดๆ ร้อนๆ อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์ไหนๆ มา จนกระทั่งปัจจุบัน และเป็นธรรมะสดๆ ร้อนๆ จะนำสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากทุกข์ไปได้โดยลำดับตลอดไปแบบสดๆ ร้อนๆ เหมือนกัน ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นี้ จะเป็นเหมือนหนึ่งว่าตามเสด็จพระพุทธเจ้าทุกฝีก้าวเลย ด้วยความไม่คลาดเคลื่อน

สติธรรม ปัญญาธรรม ศีล ท่านก็สอนไว้แล้ว ธรรมนั่นแหละเรียกว่าสติธรรมปัญญาธรรม อยู่ในคำว่าธรรม ศีลรักษาให้ดี ให้เป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ รักษาศีลให้ดี อย่าให้มีด่างพร้อยเป็นอันขาด พากันรักษาให้ดี ศีลเป็นพื้นฐานที่จะล้อมสมาธิ เป็นกำแพงกั้นจิตใจเราไม่ให้ส่ายแส่ออกไปสู่ภายนอก แล้วคิดเอาฟืนเอาไฟมาเผาตน เมื่อศีลของเราบริสุทธิ์แล้วเราจะมีความอบอุ่น พิจารณาทางด้านสมาธิจะแน่วแน่ว่องไวไปโดยลำดับลำดา

นี่พูดถึงเรื่องการดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์ ท่านทั้งหลายอย่าไปนึกถึงครั้งพุทธกาลครั้งไหนๆ ให้ยึดเอาหลักสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วนี้ เข้ามาสู่หลักปฏิบัติหลักใจของตนเอง สติก็เป็นหลักใจ สติก็คือธรรมสดๆ ร้อนๆ ปัญญาเป็นธรรมสดๆ ร้อนๆ ความอดความทนความพากความเพียรเป็นธรรมสดๆ ร้อนๆ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย และสาวกทั้งหลายพ้นจากทุกข์ด้วยธรรมเหล่านี้ เรานำธรรมเหล่านี้มาก็จะก้าวเดินตามร่องรอยอันเดียวกัน จะถึงความพ้นทุกข์อย่างเดียวกัน ให้พากันตั้งอกตั้งใจ

ผมนี้รู้สึกว่ากังวลเพื่อนฝูงมากนะ จวนจะตายเท่าไร แทนที่จะมาเป็นห่วงเป็นใยเจ้าของ ผมบอกตรงๆ ผมไม่มีเลย ธาตุขันธ์นี้ก็แบกมันไปอย่างนั้นแหละ วันหนึ่งๆ พาอยู่พากินพาหลับพานอนพาขับพาถ่าย มีตั้งแต่ทำตามขันธ์ ขันธ์เป็นใหญ่ก็ถูกเวลานี้ เราทำตามขันธ์เหมือนผู้ใหญ่ทำตามเด็ก เด็กชี้อะไรเป็นอันนั้นๆๆ ตามเรื่องของเด็กชี้ ผู้ใหญ่มีแต่ เออๆ ออๆ ไปตาม

เรื่องของขันธ์ก็เหมือนกัน จิตมีแต่คอยปฏิบัติตามขันธ์ มันเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็ลงเปลี่ยนอิริยาบถ มันหิวข้าวต้องการอะไรก็เอามาขบมาฉัน พาหลับพานอนพาขับพาถ่ายเป็นเรื่องปฏิบัติตามขันธ์ เรียกว่าขันธ์เป็นใหญ่ก็ถูก แต่มันไม่ได้เหยียบหัวใจนะ มันเป็นใหญ่จะต้องปฏิบัติตามมัน ในเมื่อมีขันธ์อยู่ในหัวใจเราอยู่ พ้นไปแล้วก็ต้องปฏิบัติตามมัน นี่เรียกว่ารับผิดชอบในขันธ์แต่ไม่ได้เป็นภาระในขันธ์ ขันธ์ทั้งหลายนี้ไม่มีทางที่จะซึมซาบ ถึงใจดวงที่บริสุทธ์แล้ว เป็นอฐานะโดยถ่ายเดียวเท่านั้น รักษากันปฏิบัติกันต่อไปพอถึงวันกาลเวลาที่ควรจะไปแล้วก็ปล่อยเสียเท่านั้น จึงไม่มีคำว่าห่วงใยกับอะไร เป็นห่วงใยกับเพื่อนฝูงประชาชนทั้งหลายนี่แหละ กลัวจะผิดทาง อะไรมาก็คว้ามับๆ อะไรมาคว้ามับๆ

ศาสนามีอยู่ในโลกนี้กี่ศาสนา มันเป็นเรื่องโครงการของกิเลสย่ำยีตีแหลกหัวใจคนไม่รู้ตัวเลยนะ โครงการของพระพุทธเจ้า โครงการพุทธศาสนาฆ่ากิเลสโดยตรง ท่านทั้งหลายเกิดมาได้พบพุทธศาสนาแล้วเป็นวาสนาอันล้ำเลิศ ขออย่าปล่อยอย่าวางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่รื้อขนสัตว์ให้หลุดพ้นจากทุกข์โดยลำดับลำดามาไม่มีเคลื่อนคลาด จากสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วๆ

ขอให้ทุกท่านตั้งให้ดีนะที่สอนไว้นี้ สติปัญญาเดินให้ดี เดินตามนี้นะ เหมือนกับเราก้าวเดินตามเสด็จพระพุทธเจ้านั่นแหละ จะไม่ไปไหนจะก้าวเข้าสู่มรรคผลนิพพานดังที่พูดนี้แล้ว ถึงก้าวเข้าสู่พระอนาคามีคือขั้นกิเลสหมดปัญหาและอัตโนมัตินี่จะไปนิพพานโดยถ่ายเดียว ไม่มีคำว่าถอยลงๆ จะก้าวโดยถ่ายเดียว แต่สำหรับขั้นอสุภะนี้มันหมุนกัน ระหว่างวัฏวนกับวิวัฏจักรวิวัฏธรรม ทางหนึ่งก็จะดึงลงหมุนลง ทางหนึ่งก็จะดึงขึ้น นี้ละชุลมุนวุ่นวายมาก พอผ่านอันนี้ไปแล้วก็เบาเลย ทีนี้หมุนตัวไปเอง จิตนี้ไม่ต้องบอกเรื่องความพากเพียร หมุนตัวไปเอง เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ เป็นความเพียรอัตโนมัติ ไม่ต้องบีบบังคับหรือถูไถไป นอกจากได้รั้งเอาไว้

บางทีมันผาดโผนโจนทะยานถึงกับจะไม่หลับไม่นอน เพราะอำนาจแห่งความเพียรฉุดลากไป เราต้องได้รั้งเอาไว้ให้พักผ่อนนอนหลับ นี้เรียกว่าพักเอาไว้หนึ่ง ให้พักในสมาธิอันหนึ่ง นี่ต้องได้พักๆ ตามกาลเวลา จนกว่าถึงที่สุดก็หมดปัญหาโดยสิ้นเชิง เอาละวันนี้เทศนาว่าการเพียงเท่านี้ เพื่อให้พระเจ้าพระสงฆ์ทั้งหลายเราได้เข้าอกเข้าใจแนวทางที่ปฏิบัติ และที่จะปฏิบัติต่อไป โดยที่สอนไว้แล้วนี้แน่ใจไม่มีผิด เราสอนด้วยความแน่ใจทุกอย่าง ขอให้ปฏิบัติตามนี้จะไม่เป็นอื่น จะเจอองค์ศาสดาโดยไม่ต้องถามใครเลย สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศป้างขึ้นที่หัวใจที่บริสุทธิ์เท่านั้นพอ เอาละพอ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

การให้ทานในแบบของพุทธศาสนา

ในสเตตัสก่อนผมเขียนไว้ไม่ครบ
อาจทำให้หลายท่านเข้าใจผิดบางประเด็น
จึงขอแจกแจงให้ละเอียดขึ้นครับ

เมื่อพูดถึง ‘การให้ทานในแบบของพุทธ’
ต้องเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงการถวายสังฆทาน
แต่มุ่งเอา ‘จิตคิดให้ เพื่อสละความตระหนี่’ เป็นหลัก

แต่เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์แก่ผู้ให้และผู้รับ
นับเอาความสุข ความเจริญ
ที่ผลิดอกออกผลในปัจจุบันกาลและอนาคตกาล
พระพุทธเจ้าก็ตรัสจำแนกแจกแจงไว้ดังนี้

ทานอันดับหนึ่ง ไม่มีอะไรชนะได้ คือธรรมทาน
(สัพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ)
ธรรมทานคือการให้ความรู้ ให้มุมมอง ให้แรงบันดาลใจ
ที่จะนำไปสู่การมีที่พึ่งให้ตนเอง ทั้งในการใช้ชีวิตนี้
และการเวียนว่ายตายเกิดต่อๆไปในชีวิตหน้า
ยกเอาสิ่งที่จะทำให้เห็นชัดว่าทำไมธรรมทานจึงเป็นที่หนึ่ง
ต้องดูจากที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
การตอบแทนพ่อแม่อันสมน้ำสมเนื้อกับที่ท่านให้ชีวิตเรา
คือการทำให้พ่อแม่ (ซึ่งยังไม่เข้าใจธรรม)
ได้เกิดศรัทธาที่ตั้งมั่นในธรรม มีใจตั้งมั่นในทานและศีล
ถ้าทำได้ ก็เรียกว่าเป็นการให้ธรรมเป็นทานอันยิ่งใหญ่ที่สุด
เพราะช่วยผู้ให้กำเนิดชีวิตเรา ปลอดภัยในการเดินทางไกล
ต่อให้ลูกกตัญญู แบกพ่อแม่ไว้บนบ่าให้อึฉี่รดหัวเราตลอดอายุขัย
ก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนได้เท่าการให้ธรรมเป็นทานแก่พวกท่าน

ทานอันดับสอง คือการรักษาศีล
เพราะเมื่อรักษาศีลแล้ว
สัตว์ที่มีสิทธิ์ได้รับความเดือดร้อนจากการเบียดเบียนของเรา
หรือคู่เวรที่จำต้องถูกเราประหัตประหารหรือทำร้ายกัน
ก็จะได้รับการปลดปล่อยจากเขตอันตราย
หรือได้รับการปกป้องให้ปลอดภัยจากศีลของเรา
แม้เขาทำให้เราผูกใจเจ็บ ก็ได้รับอภัยทานจากเรา
ไม่ต้องตีกันไปตีกันให้เจ็บช้ำน้ำใจกันยืดเยื้อต่อไปอีก

ทานอันดับสาม คือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมอง
เมื่อให้สิ่งที่เรามีเป็นทาน ย่อมได้ชื่อว่าสละความหวงแหน
อันเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น
นับเป็นต้นทางหลุดพ้นจากการยึดติดผิดๆ

ประเด็นคือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมองนั้น
ถ้าจะดูว่าให้กับใครจัดว่าให้ผลใหญ่ที่สุด
ก็ต้องมองว่า ‘ผู้มีจิตบริสุทธิ์’ หรือ ‘ผู้พยายามทำจิตให้บริสุทธิ์’
คือผู้ที่ทำให้เรารู้สึกดีที่สุด
ลองเทียบดูระหว่างช่วยพระกับช่วยโจร
อย่างไหนทำให้ปลื้มมากกว่ากัน

การทำทานกับสมณะในพุทธศาสนานั้น ถือว่าเลิศสุด
(ย้ำว่าในมุมมองของพุทธเรา)
ดังเช่นที่ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้หลายแห่งว่า
เป็นเหตุให้มีจิตผูกพันกับพุทธศาสนา
เป็นปัจจัยให้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น การช่วยทุกอย่าง มีผลดีหมด
อย่างเช่น ช่วยกลับใจโจร
ก็ได้ผลเป็นความไม่เดือดร้อนของเราเองในปัจจุบัน
และในกาลข้างหน้าเมื่อเราหลงผิด
ก็ย่อมมีผู้มาช่วยเปลี่ยนความคิดให้เห็นถูกเห็นชอบได้ง่าย เป็นต้น ครับ

ที่มา Dungtrin