"การให้ทานในแบบของพระพุทธศาสนา"
สามารถอ่านได้ที่ด้านล่างเว็บนะครับ

วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เสือเทพนิรมิต (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

พระที่ท่านชอบอยู่ป่าอยู่เขาอยู่ถ้ำและเงื้อมผา รู้สึกมีเรื่องสะดุดใจให้ท่านผู้อ่านได้คิดอยู่มากกว่าที่พักอยู่ในที่ธรรมดา ดังท่านอาจารย์องค์ที่กำลังนำลงอยู่เวลานี้ แม้จะถวายนามท่านว่า “นักเผชิญ” ก็ไม่น่าจะผิดและเสียความเคารพ เพราะการเผชิญก็เพื่อบุกเบิกหาธรรมของจริง การถวายนามก็อนุวัติไปตามปฏิปทาของท่านที่หนักไปในทางเป็นนักต่อสู้หรือเผชิญ โดยไม่ลดละล่าถอยให้เหตุการณ์นั้นๆ หัวเราะเยาะได้ การเป็นนักต่อสู้ในขณะที่กำลังเผชิญกับเหตุการณ์นี้ ท่านยังจะได้อ่านเรื่องของท่านไปเรื่อยๆ จนกว่าจะยุติ นี่ก็กำลังนำท่านผู้อ่านชมเหตุการณ์ที่ท่านเผชิญมา

คือขณะที่ท่านพักอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง คืนนั้นเดือนหงายฟ้าขาว เดือนดาวสว่าง อากาศปลอดโปร่งสบาย ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่หน้าถ้ำ ขณะนั้นได้มีเสือโคร่งใหญ่ตัวหนึ่งใหญ่มาก ท่านว่าศีรษะกลมๆ ของมันเท่าที่เห็นแล้ว ถ้าจะให้พูดตามความถนัดใจแล้วอยากพูดว่าใหญ่เท่าโอ่งน้ำเราดีๆ นี่เอง ทีแรกได้ยินเสียงมันคำรามเป็นเชิงขู่ให้กลัว อยู่ห่างจากท่านประมาณสิบวา พอเปลี่ยนจากคำรามก็เป็นกระหึ่ม และกระหึ่มอย่างเต็มเสียงของมัน จนปรากฏสะเทือนไปทั่วภูเขา ตอนมันเริ่มคำรามมองไปไม่เห็นตัวได้ยินแต่เสียง สักครู่ต่อมาก็ได้เห็นมันโผล่เข้ามาหาท่านด้วย ทั้งเสียงกระหึ่มอย่างเต็มที่ และเดินเข้ามาหยุดยืนและนั่งแบบสุนัขนั่ง ไม่หมอบทำท่าจะทำอะไรท่านเลย นั่งอยู่ห่างท่านประมาณสองวา มองเห็นได้ถนัดชัดเจนตลอดลวดลายของมัน เพราะไฟเทียนไขที่จุดเดินจงกรมก็สว่างไสวอยู่ขณะนั้น
เมื่อท่านเห็นมันมานั่งอยู่ต่อหน้า ท่านนึกขึ้นมาในใจว่า เสือโคร่งตัวนี้จะมาทำไมกัน ดินทั้งแผ่นที่กว้างแสนกว้าง มันทำไมไม่ไป แต่มาคิดสร้างความสนุกบนหัวใจคนซึ่งกำลังกลัวๆ เอาอะไรกัน ท่านยืนดูมันที่กำลังนั่งกระหึ่มสนุกอยู่ครู่หนึ่ง ในใจมีรู้สึกเสียวๆ บ้างเพียงเล็กน้อย ไม่แสดงความกลัวออกมาอย่างเปิดเผยอะไรเลย จึงค่อยเดินเข้าไปหาและพูดกับมันว่า ที่นี่เป็นที่ของพระท่านบำเพ็ญสมณธรรมต่างหาก มิใช่ทำเลเที่ยวของเธอนี่นา ขึ้นมาทำไมกัน โน้นไปเที่ยวสนุกสนานกับหมู่เพื่อนของเธอโน้นซิ ไปเสีย พระก็มิใช่พระอิฐพระปูน สิ่งน่ากลัวก็ต้องกลัวเหมือนสัตว์ทั่วไปนั่นแล

พอพูดจบก็ก้าวเข้าไปหามัน ท่านว่าท่านเดินเข้าไปจวนจะถึงตัวมันประมาณเมตรเศษเท่านั้น มันจึงโดดหนี ปุบเดียวไม่ทราบหายไปไหน และหายไปอย่างรวดเร็วยังกับปาฏิหาริย์ มองดักหน้าดักหลังที่ไหนก็ไม่เห็น ทำให้แปลกใจไม่หายแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เพราะสถานที่ท่านพักอยู่และที่ที่เสือโคร่งใหญ่ตัวนั้นมานั่งอยู่ก็เตียนโล่ง ไม่มีอะไรปิดบังกีดขวางพอจะมองไม่เห็นขณะที่มันโดดหนีไป จึงทำให้ท่านแปลกใจตลอดมา พอมาหาท่านอาจารย์มั่น ได้โอกาสจึงเล่าถวายท่านและเรียนถามถึงเรื่องเสือที่โดดหายตัวไปอย่างรวดเร็วนั้น ว่าเป็นเพราะเหตุไร

ท่านอาจารย์มั่นชี้แจงให้ฟังว่า นั่นมิใช่เสือจริง แต่เป็นเสือเทพบันดาลต่างหาก เพราะพวกเทพมีฤทธิ์มากผิดมนุษย์เรา สามารถจำแลงกายหยาบกายละเอียด หรือนิรมิตเป็นสัตว์เป็นเสือหรือเป็นคนหญิงชายต่างๆ ได้ไม่ติดขัด บางครั้งเวลาเขามาหาเรา ยังมาในรูปต่างๆ ได้ในเทพคนเดียวกัน เสือตัวที่มาหาท่านนั้น ถ้าเป็นเสือจริงลงได้ตั้งหน้ามาขนาดนั้น ต้องมีความมุ่งหวังจะกินคนเป็นอาหารแน่นอนถึงได้มา ทั้งที่รู้อยู่ว่าคนซึ่งเป็นที่เกรงขามของสัตว์ของเสือทั้งหลาย เสือที่เทพบันดาลใจก็มี เสือที่เทพนิรมิตเองก็มี แต่เสือที่มาหาท่านนั้นเป็นเสือเทพนิรมิต ฉะนั้นการโดดหนีของเสือตัวนั้นจึงรวดเร็วผิดธรรมดาจนมองไม่ทันว่าไปยังไงมายังไง

สำหรับผมมันเคยชินกับพวกสัตว์เสือ เทวบุตรเทวธิดามาแล้ว เวลาไปอยู่ในป่าในเขาคนเดียว การอยู่ก็อยู่เพราะธรรม เนื่องจากธรรมมีอำนาจมาก สัตว์ทั้งหลายเคารพรัก ใจที่มีธรรมย่อมทรงอำนาจในตัวเอง แต่อำนาจทางธรรมไม่เหมือนทางโลก ซึ่งคอยแต่จะกำเริบอยู่เสมอ ผู้ถูกข่มขู่นั้นกลัวจริงในขณะที่ถูกขู่ แต่ใจไม่ยอมลงตามอำนาจความข่มขู่ เมื่อมีโอกาสยังคอยแก้แค้นจนได้ดังที่เห็นๆ กันอยู่ ฉะนั้นการใช้อำนาจทางโลกเพียงอย่างเดียว ไม่มีธรรมเข้าสนับสนุน โลกจึงหาความสงบเย็นได้ยาก ท่านจึงสอนให้ปกครองโลกโดยธรรม ปกครองกันโดยธรรม โดยอาศัยความถูกต้องดีงามเป็นอำนาจ ไม่ใช่เอาอารมณ์หรือทิฐิมานะเป็นอำนาจ

คำว่าธรรมมิได้เป็นรูปเป็นร่างที่มองกันด้วยตาเนื้อ แต่ธรรมเป็นธรรมชาติที่ละเอียดสุขุมสุดที่จะนำมาเทียบเคียงเปรียบเทียบกับสิ่งสมมุติทั้งหลายได้ ใจเป็นความละเอียดฉันใด ธรรมย่อมมีความละเอียดฉันนั้น และใจเป็นที่สถิตอยู่ของธรรมทั้งหลาย นอกนั้นมิใช่ที่สถิตอันถูกต้องของธรรม ธรรมจึงเป็นเรื่องพูดยากทั้งที่รู้อยู่อย่างเต็มใจ นอกจากผู้ปฏิบัติและรู้ธรรมเป็นขั้นๆ นั่นพอพูดกันได้ และรู้เรื่องธรรมพอประมาณ ถ้ารู้ธรรมเต็มภูมิจิตภูมิธรรมโดยสมบูรณ์แล้ว ย่อมพูดธรรมกันเข้าใจทุกแง่ทุกมุมไม่มีทางสงสัย คำว่าธรรมคืออะไร และอยู่ที่ไหนก็ทราบกันทันทีโดยไม่ต้องตอบให้เสียเวลา การอาศัยการถามและการตอบกันอยู่ ยังไม่เข้าในลักษณะของผู้รู้ธรรมอย่างเต็มภูมิ นี่แล ธรรมแท้เป็นอย่างนี้

ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะ
เรียบเรียงโดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

การให้ทานในแบบของพุทธศาสนา

ในสเตตัสก่อนผมเขียนไว้ไม่ครบ
อาจทำให้หลายท่านเข้าใจผิดบางประเด็น
จึงขอแจกแจงให้ละเอียดขึ้นครับ

เมื่อพูดถึง ‘การให้ทานในแบบของพุทธ’
ต้องเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงการถวายสังฆทาน
แต่มุ่งเอา ‘จิตคิดให้ เพื่อสละความตระหนี่’ เป็นหลัก

แต่เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์แก่ผู้ให้และผู้รับ
นับเอาความสุข ความเจริญ
ที่ผลิดอกออกผลในปัจจุบันกาลและอนาคตกาล
พระพุทธเจ้าก็ตรัสจำแนกแจกแจงไว้ดังนี้

ทานอันดับหนึ่ง ไม่มีอะไรชนะได้ คือธรรมทาน
(สัพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ)
ธรรมทานคือการให้ความรู้ ให้มุมมอง ให้แรงบันดาลใจ
ที่จะนำไปสู่การมีที่พึ่งให้ตนเอง ทั้งในการใช้ชีวิตนี้
และการเวียนว่ายตายเกิดต่อๆไปในชีวิตหน้า
ยกเอาสิ่งที่จะทำให้เห็นชัดว่าทำไมธรรมทานจึงเป็นที่หนึ่ง
ต้องดูจากที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
การตอบแทนพ่อแม่อันสมน้ำสมเนื้อกับที่ท่านให้ชีวิตเรา
คือการทำให้พ่อแม่ (ซึ่งยังไม่เข้าใจธรรม)
ได้เกิดศรัทธาที่ตั้งมั่นในธรรม มีใจตั้งมั่นในทานและศีล
ถ้าทำได้ ก็เรียกว่าเป็นการให้ธรรมเป็นทานอันยิ่งใหญ่ที่สุด
เพราะช่วยผู้ให้กำเนิดชีวิตเรา ปลอดภัยในการเดินทางไกล
ต่อให้ลูกกตัญญู แบกพ่อแม่ไว้บนบ่าให้อึฉี่รดหัวเราตลอดอายุขัย
ก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนได้เท่าการให้ธรรมเป็นทานแก่พวกท่าน

ทานอันดับสอง คือการรักษาศีล
เพราะเมื่อรักษาศีลแล้ว
สัตว์ที่มีสิทธิ์ได้รับความเดือดร้อนจากการเบียดเบียนของเรา
หรือคู่เวรที่จำต้องถูกเราประหัตประหารหรือทำร้ายกัน
ก็จะได้รับการปลดปล่อยจากเขตอันตราย
หรือได้รับการปกป้องให้ปลอดภัยจากศีลของเรา
แม้เขาทำให้เราผูกใจเจ็บ ก็ได้รับอภัยทานจากเรา
ไม่ต้องตีกันไปตีกันให้เจ็บช้ำน้ำใจกันยืดเยื้อต่อไปอีก

ทานอันดับสาม คือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมอง
เมื่อให้สิ่งที่เรามีเป็นทาน ย่อมได้ชื่อว่าสละความหวงแหน
อันเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น
นับเป็นต้นทางหลุดพ้นจากการยึดติดผิดๆ

ประเด็นคือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมองนั้น
ถ้าจะดูว่าให้กับใครจัดว่าให้ผลใหญ่ที่สุด
ก็ต้องมองว่า ‘ผู้มีจิตบริสุทธิ์’ หรือ ‘ผู้พยายามทำจิตให้บริสุทธิ์’
คือผู้ที่ทำให้เรารู้สึกดีที่สุด
ลองเทียบดูระหว่างช่วยพระกับช่วยโจร
อย่างไหนทำให้ปลื้มมากกว่ากัน

การทำทานกับสมณะในพุทธศาสนานั้น ถือว่าเลิศสุด
(ย้ำว่าในมุมมองของพุทธเรา)
ดังเช่นที่ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้หลายแห่งว่า
เป็นเหตุให้มีจิตผูกพันกับพุทธศาสนา
เป็นปัจจัยให้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น การช่วยทุกอย่าง มีผลดีหมด
อย่างเช่น ช่วยกลับใจโจร
ก็ได้ผลเป็นความไม่เดือดร้อนของเราเองในปัจจุบัน
และในกาลข้างหน้าเมื่อเราหลงผิด
ก็ย่อมมีผู้มาช่วยเปลี่ยนความคิดให้เห็นถูกเห็นชอบได้ง่าย เป็นต้น ครับ

ที่มา Dungtrin