นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย คือรูปเป็นเครื่องกำหนดจิต จับเป็นอารมณ์ นิมิตนี้ส่วนใหญ่เป็น
เครื่องหมายของกสิณ แต่ทว่ากรรมฐานหมวดอื่นๆ ก็มีเหมือนกัน เช่น อสุภกรรมฐานก็มีรูปอสุภเป็น
นิมิต อาหาเรปฏิกูลสัญญา ก็มีรูปอาหารเป็นนิมิต อย่างนี้เป็นต้น รวมความว่านิมิตนั้นแยกออกเป็น
สองอย่าง คือ นิมิตที่เป็นเครื่องหมายกำหนดจิต เป็นนิมิตจำเป็นที่นักปฏิบัติจำเป็นต้องกำหนดอย่างหนึ่ง
นิมิตเลื่อนลอย เป็นนิมิตตัดรอนความดีที่นักปฏิบัติควรละประการหนึ่ง จะขออธิบายในนิมิตทั้งสอง
พอเข้าใจไว้ดังต่อไปนี้
นิมิตจำเป็นต้องรักษา
นิมิตที่จำเป็นต้องรักษาคือ กรรมฐานหมวดใดที่มีนิมิตเป็นอารมณ์ เช่น กสิณ เป็นต้น
เมื่อเริ่มปฏิบัติในกรรมฐานกองนั้น ท่านให้ถือนิมิตอะไรเป็นสำคัญต้องรักษานิมิตนั้นให้มั่นคง คือกำหนด
จดจำภาพนั้นให้ติดใจ จะกำหนดรู้เมื่อไรให้เห็นได้ชัดเจนแจ่มใสตามสภาพเดิมที่กำหนดจดจำไว้
อย่างนี้ท่านเรียกว่า "บริกรรมนิมิต" จัดเป็นสมาธิได้ในสมาธิเล็กน้อยที่เรียกว่า "ขณิกสมาธิ"
นิมิตใดที่ท่านนักปฏิบัติเพ่งกำหนดจดจำไว้ มีความชำนาญมากขึ้น จนภาพนิมิตนั้น
ชัดเจนแจ่มใส สามารถบังคับให้สูง ต่ำ ใหญ่ เล็ก ได้ตามความประสงค์ แล้วต่อไปนิมิตนั้นค่อยเปลี่ยนสี
จากสีเดิมไปทีละน้อย ๆ จนกลายเป็นสีใสสะอาด อย่างนี้ท่านเรียกว่า" อุคคหนิมิต " ถ้าเรียกเป็น
สมาธิก็เรียกว่า " อุปจารสมาธิ " ถ้าเรียกเป็นฌานก็เรียกว่า " อุปจารฌาน "
นิมิตใดที่นักปฏิบัติเพ่งพิจารณากำหนดอยู่จนติดตาติดใจ จนนิมิตนั้นกลายจากสีเดิม
มีสีขาวใสสวยสดงดงาม มีประกายคล้ายดาวประกายพรึก อารมณ์จิตแนบสนิทไม่เคลื่อนไหว ลมหายใจ
อ่อนระรวย ภาพนิมิตที่สดสวยนั้นหนาทึบเป็นแท่ง อารมณ์จิตไม่กวัดแกว่งไปตามเสียงที่เข้ามากระทบ
โสตประสาท แม้เสียงจะดังกังวานเพียงใด จิตใจก็ไม่หวั่นไหว คงมีอารมณ์สงบเงียบ กำหนดจดจำนิมิต
ไว้ได้ด้วยดี อาการอย่างนี้เรียกเป็นนิมิต ท่านเรียกว่า " ปฏิภาคนิมิต " ถ้าเรียกเป็นสมาธิท่านเรียกว่า
" อัปปนาสมาธิ " ถ้าเรียกเป็นฌาน ท่านเรียกว่า " ปฐมฌาน "
นิมิตตามที่ท่านกำหนดให้ยึดถือตามกฎของปฏิบัติกรรมฐานกองนั้น ๆ อย่างนี้เป็นนิมิตที่
จำเป็นต้องกำหนดจดจำและทำให้ถึงขั้นถึงระดับ
นิมิตที่จำต้องละก็คือ นิมิตเลื่อนลอย เมื่อจิตมีสมาธิเล็กน้อย เช่น ขณิกสมาธิ ตอนปลายใกล้
จะถึงอุปจารสมาธิก็ดี หรือจิตเข้าสู่สมาธิก็ดี ตอนนี้จิตเริ่มจะเห็นสิ่งที่เป็นทิพย์ เพราะอารมณ์นิวรณ์เริ่ม
สงัดจากจิต จิตก็จะเริ่มเห็นภาพบ้าง แสงสีต่างๆ บ้าง ความสว่างไสวบ้าง ซึ่งเป็นของใหม่ของจิต เพราะ
เป็นของใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนั่นเอง ความปลาบปลื้มลิงโลดจึงปรากฏมีแก่นักปฏิบัติที่ประสบพบ
เห็น พากันละอารมณ์ภาวนา หรือการพิจารณาเสีย ปล่อยใจให้เลื่อยลอยไปตามภาพหรือแสงสีที่เห็น จน
ภาพนั้นเลือนรางหายไป วันต่อไปถ้าทำไม่เห็น เพราะมีความติดอกติดใจในภาพและแสงสีนั้น นั่งคิดนอนมองใคร่จะได้เห็นภาพและแสงสีอีก เมื่อความใคร่เกิดขึ้นแทนที่จะได้เห็นอีกกลับไม่ได้ประสบพบเห็น บางรายเมื่อไม่ได้เห็นภาพอีก ถึงกับเสียอกเสียใจ ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ กลายเป็นโรคประสาท - หลอนไปก็มี จัดว่าเป็นความเสียหายหนักของนักปฏิบัติ
ทางที่ถูกแล้ว สำหรับภาพนอกองค์กรรมฐานที่กำหนดเดิมนั้น ท่านสอนไม่ให้สนใจ เพราะถ้า
กรรมฐานกองที่ปฏิบัติอยู่นั้น เป็นกรรมฐานที่มีนิมิตอะไรเป็นอารมณ์ก็ต้องยึดถือนิมิตเดิมเป็นสำคัญ
ถ้ามีนิมิตอื่นแปลกปลอมเข้ามาก็ต้องกำจัดไปเสีย วิธีกำจัดก็ไม่สนใจไยดีในภาพนั้นๆ นั่นเอง เพราะถ้า
สนใจเข้า จักให้สมาธิฟั่นเฟือน ควรถือว่าเป็นนิมิตทำลายความดี ไม่ควรคบหาสมาคม ให้ยึดถือนิมิตที่กำหนดเดิมเป็นสำคัญ
ถ้ากรรมฐานที่กำลังปฏิบัติอยู่ เป็นกรรมฐานไม่มีนิมิตเป็นอารมณ์ ถ้ามีนิมิตเกิดแทรกขึ้นมา
ก็จงตัดทิ้งไปเสียอย่าสนใจ เพราะกรรมฐานใดที่ไม่มีนิมิตเป็นอารมณ์ เมื่อปรากฏนิมิตแทรกขึ้นมา
ต้องถือว่านิมิตนั้นเป็นศัตรูของกรรมฐานที่กำลังปฏิบัติอยู่
นักปฏิบัติที่เอาดีถึงระดับฌานไม่ได้ ก็เพราะมาติดอกติดใจหลงใหลใฝ่ฝันในนิมิตเป็นสำคัญ
ความจริงจิตที่จะเห็นนิมิตได้นั้น ก็เป็นจิตที่เริ่มเข้าระดับดีบ้างแล้ว คือเริ่มมีสมาธิเล็ก ๆ น้อยๆ การเห็น
ภาพก็เพราะจิตเริ่มมีสมาธิ แต่ที่เห็นนิมิตแล้วทิ้งคาถาภาวนาหรือทิ้งการกำหนดลมหายใจเข้าออก
ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปตามภาพนิมิตนั้น เป็นการบ่อนทำลายนิมิตและสมาธิโดยตรง การเห็นจะทรง
อยู่ได้นานก็เพราะสมาธิทรงตัวนาน ถ้าเห็นแวบเดียวหายไป ก็แสดงว่าจิตเรามีสมาธินิดเดียว ที่ภาพนั้น
หายไป ไม่ใช่ภาพนั้นหนีไป ความจริงภาพไม่ได้หนี สมาธิเราไม่ทรงตัวต่างหาก เมื่อสมาธิหมด การ
ทรงตัว เพราะปล่อยจิตลอยไปตามภาพ สมาธิก็สลายตัว เมื่อสมาธิสลายตัวจิตก็มีอารมณ์มืด เพราะ
ไม่มีสมาธิ จิตที่มีอารมณ์สว่างสามารถเห็นภาพได้ก็เพราะจิตมีสมาธิ ถ้านักปฏิบัติรู้เท่าทันแล้วเมื่อ
เห็นภาพแทนที่จะมั่นใจในภาพ กลับกำหนดอารมณ์ ในสมาธิให้มากขึ้น โดยไม่สนใจในภาพเลยอย่างนี้
ภาพนั้นจะชัดเจนแจ่มใสอยู่ได้นานจนกว่าสมาธิจะเคลื่อน ขอสรุปย่อเข้าเพื่อเข้าใจง่ายว่า ภาพนิมิตใด
ที่นอกเหนือไปจากภาพนิมิตที่กรรมฐานนั้นๆ มีกฎให้กำหนดแล้ว ถ้าปรากฏมีขึ้นในขณะเจริญสมาธิ
ท่านไม่ให้สนใจกับภาพนั้น ๆ เลย มุ่งหน้ากำหนดภาวนาไปตามปกติ ภาพนั้นจะทรงอยู่หรือหายไป
อย่างไรก็ช่าง อย่างนี้จึงจะถูกต้อง และเข้าถึงฌานได้รวดเร็ว ตรงตามความประสงค์ในการปฏิบัติสมาธิ
เพื่อดำรงฌาน
อารมณ์จิตที่ไม่แน่นอน
นักปฏิบัติกรรมฐานใหม่ๆ มักจะปวดเศียรเวียนเกล้าด้วยอารมณ์จิตที่ไม่แน่นอน บางคราวทำ
กรรมฐานมีอารมณ์แนบสนิท ลมละเอียด จิตใจเป็นสมาธิแน่วแน่ดี แต่พอเลิกแล้ว รุ่งขึ้นวันใหม่ หรือ
คราวต่อไป กลับมีอารมณ์ส่ายออกภายนอกจนบังคับไม่อยู่ สร้างความกลัดกลุ้มให้แก่นักปฏิบัติทุกท่าน
มาแล้ว อาการอย่างนี้ ไม่มีนักปฏิบัติท่านใดจะไม่ประสบ ต่างก็พบปะกันมาจนเป็นธรรมดาแก่นักปฏิบัติ
ทุกคน วิธีแก้อารมณ์ซ่านไม่ตั้งอยู่ในสมาธิ ๒ อย่าง คือ
๑. นักเจริญกรรมฐาน ควรมีแนวปฏิบัติเป็นสองแนว คือแนวภาวนาและพิจารณา
๒. ปล่อยอารมณ์ให้ล่องลอยไปก่อนเมื่อบังคับไม่ไหว แล้วค่อยกำหนดจับเอาเมื่ออารมณ์กลับ
เข้าแนวสมาธิ วิธีแก้อารมณ์ซ่านในสมองแบบนั้น มีคำอธิบายดังต่อไปนี้
ก. ภาวนาและพิจารณา
ภาวนา หมายถึง ภาวนาตามแบบที่ครูบาอาจารย์สอน ภาวนาเพื่อให้อารมณ์หยุดจาก
อารมณ์ภายนอก ให้จิตจดจ่ออยู่ที่คำภาวนา เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ คำว่าจิตเป็นสมาธินั้น หมายถึงจิต
ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จิตหยุดโดยไม่รับอารมณ์ใดเลยทั้งสิ้น นักปฏิบัติใหม่
หรือท่านที่ไม่เคยปฏิบัติสมาธิเลยมักเข้าใจอย่างนั้น ความจริงการเข้าใจอย่างนั้นเป็นการเข้าใจที่ไม่
ตรงต่อความเป็นจริงธรรมดาของนักปฏิบัติใหม่จิตที่ว่างจากอารมณ์ โดยไม่รับรู้อารมณ์เลย สำหรับ
การปฏิบัติเบื้องต้นไม่มีอาการอย่างนั้นเป็นอาการของสัญญาเวทยิตนิโรธ พระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทา-
ญาณ หรือ พระอนาคามีระดับปฏิสัมภิทาญาณเท่านั้นที่จะเข้าได้ พระอริยะนอกนั้น แม้จะเป็นพระอรหันต์
ระดับเตวิชโช หรือฉฬภิญโญก็ไม่สามารถทำได้ ปกติของจิตเป็นอย่างนี้ เมื่อทราบแล้วว่าจิตไม่ว่าง
จากอารมณ์ เพื่อฝึกฝนจิตให้มีกำลังที่ควรแก่การเจริญวิปัสสนาญาณในขั้นต่อไปท่านจึงสอนให้ภาวนา
เพื่อโยงจิตให้อยู่ในอารมณ์ภาวนา คือ หาทางให้จิตนึกคิด แต่นึกคิดในขอบเขตที่มอบหมายให้ ไม่ใช่
จะนึกคิดเพ่นพ่านไป การภาวนาคาถาบทใดบทหนึ่งนี้ เป็นการระงับการฟุ้งซ่านของจิต แต่ทว่าในกาล
บางคราว การภาวนาอยู่อย่างนี้จิตเกิดมีอารมณ์ฟุ้งซ่านเกิดที่จะภาวนาได้ ทั้งนี้จะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม
เมื่ออารมณ์จิตเกิดฟุ้งซ่านห้ามปรามไม่ไหว
นักปฏิบัติมักจะเกิดความกลัดกลุ้มใจ เพราะบังคับใจไม่อยู่เมื่อเห็นว่าจิตจะบังคับให้อยู่ในวงแคบ คือ คิดเฉพาะคำภาวนาไม่อยู่แล้ว ท่านให้หาทางพิจารณาแทนเพราะการพิจารณาก็เป็นอารมณ์คิดเหมือนกันแต่ว่าคิดในทางละทางปลง จะพิจารณาตามกรรมฐานกองใดก็ได้ เช่น พิจารณาว่า เราต้องตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ต้องป่วยไข้เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความป่วยไข้ไปได้ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงกฎธรรมดานี้ไปได้ หรือ จะพิจารณาตามอสุภกรรมฐานให้เห็นว่าอะไรๆ ก็ไม่มีความสวยสดงดงามคงสภาพตามที่กล่าวไว้ในอสุภ ๑๐ ประการ หรือจะพิจารณากายตามในกายคตานุสสติก็ได้ กรรมฐานที่ท่านสอนให้พิจารณามีมากมาย ท่านสนใจก็อ่านต่อไปตอนท้ายเล่มหนังสือนี้จะพบ แล้วเลือกเอากรรม-ฐานประเภทพิจารณามาพิจารณาแก้อารมณ์ซ่านกรรมฐานที่เป็นบทภาวนา มีกำลังเป็นสมาธิ ส่วนใหญ่เป็นฌานกรรมฐานประเภทพิจารณา มีกำลังในขั้นอุปจารฌานได้ผลเหมือนกัน กรรมฐานภาวนา สร้างจิตให้มีกำลังเข้มแข็ง กรรมฐานพิจารณา ทำจิตให้เกิดความฉลาดรู้ตามความเป็นจริง เป็นผลให้เกิดนิพพิทาญาณเป็นเหตุให้ได้มรรคผลรวดเร็วต่างฝ่ายก็ดีด้วยกัน เราไม่ได้อย่างโน้นก็ได้อย่างนี้ ดีกว่าปล่อยให้จิตใจกลัดกลุ้ม
ข. ปล่อยอารมณ์
อารมณ์ของจิตบางคราวมันไม่เอาถ่านจริงๆ จะภาวนาหรือพิจารณามันก็ไม่เอาเรื่องด้วยทั้งนั้น
มันคอยจะออกนอกลู่นอกทางไปตามอารมณ์ของมัน ที่เป็นอย่างนี้เพราะ
๑. อาจเป็นเพราะเหน็ดเหนื่อยเกินไป
๒. ความป่วยไข้เบียดเบียน
๓. ตั้งใจเกินไป โดยคิดว่าวันวานนี้ เรามีอารมณ์แช่มชื่นดี วันนี้ทำให้ดีกว่านั้น ถ้าตั้งใจเกินไป
อย่างนี้ รายไหนก็รายนั้น เป็นเตลิดเปิดเปิงออกนอกลู่นอกทางไปทุกราย
รวมความว่าจิตไม่อยู่ในเกณฑ์จะบังคับได้ ท่านให้ปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อเห็นว่าบังคับไม่ไหวจริงๆ
แล้วท่านให้ปล่อยให้คิดไปตามเรื่อง จะคิดอะไรก็ช่าง แต่คอยเอาสติควบคุมไว้ ไม่นานนัก อย่างมากก็
ไม่เกิน ๒๐ นาที จิตจะหยุดคิด ตอนนี้ท่านสอนว่าให้เริ่มจับอารมณ์ฝึกทันที จิตจะหมดพยศ และจะมี
อารมณ์เรียบเป็นอารมณ์ฌานแนบสนิทอย่างคาดไม่ถึง และจะทรงอยู่ได้นานเกินคาด วิธีนี้จดจำไว้ให้ดี
เป็นวิธีที่ได้ผลมาก
ที่มา board.palungjit.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น