สมาทาน
เมื่อท่านศึกษาระเบียบการปฏิบัติครบถ้วนแล้ว ต่อแต่นี้ไปก็เตรียมการปฏิบัติจริงก่อน
การลงมือปฏิบัติ ท่านสอนให้ตัดกังวลต่างๆ เสียให้สิ้น คิดว่าเวลาเท่านี้เราจะปฏิบัติสมณธรรม
ต้องเตรียมทำการงานที่จำเป็นไว้ให้ครบถ้วน สั่งคนภายในไว้ว่าเวลาเท่านั้นเราจะปฏิบัติสมณธรรม
แขกไปใครมาขอให้รอพบกำหนดเวลาที่กำหนดให้ เมื่อพร้อมแล้วกังวลต่างๆ ไม่มีแล้วก็จัดแจง
อาบน้ำชำระกายให้สะอาด หาดอกไม้ธูปเทียนสำหรับบูชาพระรัตนตรัยตามแต่จะหาได้ขณะที่
ขอเรียนกรรมฐานใหม่ๆ ตามความนิยมในสมัยก่อนๆ มาจนถึงสมัยที่กำลัง เขียนหนังสือนี้
ท่านให้จัดเครื่องบูชาอย่างละ ๕ คือ ธูป ๕ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๕ เล่ม ดอกไม้ ๕ กระทง
ข้าวตอก ๕ กระทง สำหรับนักศึกษาภาคปฏิบัติใหม่และใช้คราวเดียวในคราว เข้ามาศึกษาใหม่
เท่านั้น ต่อไปใช้ดอกไม้ธูปเทียนตามแต่จะหาได้ ถ้าไม่มีที่หาก็ไม่ต้องหา เมื่อเตรียมกาย
เตรียมใจ เตรียมเครื่องบูชาครบถ้วนแล้ว ก็เริ่มบูชาพระรัตนตรัยตามแต่จะบูชาได้ ไม่กะเกณฑ์
ว่าจะต้องบูชามากน้อยเพียงใด ท่านที่ว่าอะไรไม่ได้มาก ตั้งนโม ๓ จบ แล้วว่า
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
แล้วว่า ทุติยัมปิ พุทธัง ฯลฯ ตติยัมปิ พุทธัง ฯลฯ ครบสามจบแล้ว ถ้าสวดได้ก็
สวดอิติปิโส ฯลฯ สักจบ ถ้าสวดไม่ได้ก็ไม่ต้อง ต่อไปก็ สมาทานศีล ๕ คือว่าศีล ๕ ว่าเอง
โดยไม่ต้องมีพระนำ แล้วตั้งใจว่าเราจะรักษาศีล ๕ นี้ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ตลอดชีวิตเราจะไม่ยอม
ให้ศีลขาดด้วยเจตนา แล้วตั้งใจรักษาศีลด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยสังวรระวังใจ ควบคุมความ
ประพฤติ ไม่เผลอทำลายศีลด้วยเจตนา และไม่ยุให้ผู้อื่นทำลายศีล ไม่ยินดีที่เห็นผู้อื่นทำลายศีล
เมื่อสมาทานศีลเรียบร้อยแล้วก็เริ่มสมาทานกรรมฐาน การสมาทานกรรมฐานตามนัยวิสุทธิมรรค
ท่านเขียนไว้ดังนี้
อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจัชชามิ แปลว่า ข้าแต่สมเด็จ-
พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอเสียสละ คือมอบเวนซึ่งอัตภาพนี้ แด่สมเด็จพระสรรเพชญ-
สัมมาสัมพุทธเจ้า (แปลตามท่านแปลไว้ในแบบ) อีกแบบหนึ่งท่านแปลเอาความ มีใจความ
ที่ท่านแปลไว้ดังนี้ "ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบ
กายถวายชีวิตแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แบบหลังนี้ ท่านแปลศัพท์ว่า อัตตะภาวัง
ตุมหากัง ปะริจัชชามิ ที่แปลว่า สละรอบซึ่งอัตภาพของข้าพเจ้า ท่านแปลถือเอาความว่า
มอบกายถวายชีวิต ความจริงก็ได้ความดี การสละรอบกายก็ได้แก่สละชีวิตนั่นเอง ถ้าจะถือ
เอาความตามภาษาไทยให้ชัดกันแล้ว ของท่านที่แปลไว้ตอนหลังได้ความชัดกว่าผู้เขียนเองก็
สอนศิษย์ให้แปลตามนัยหลัง
อิมาหัง ภันเต อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจัชชามิ แปลว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์
ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตแด่ท่าน
คำสมาทานที่ต่อเสริมกันใหม่
คำสมาทานนี้ นอกจากจะมีมาตามแบบแผนในวิสุทธิมรรคแล้ว แต่ละสำนัก แต่ละ
อาจารย์ ต่างก็แต่งคำสมาทานขึ้นสอนศิษย์ให้สมาทานตามความที่เห็นว่าเหมาะสม การที่ใคร
จะมีคำสมาทานว่าอย่างไรนั้น และไม่เกินพอดี คือยังแสดงความเคารพนับถือพระรัตนตรัยอยู่
ก็เป็นอันว่าใช้ได้ทั้งนั้น ไม่เห็นว่าจะน่าตำหนิกันตรงไหน บางอาจารย์ท่านก็ประพันธ์สำนวน
ยืดยาวมาก บางอาจารย์ก็มีสำนวนสั้น ๆ พอได้ความ ข้อนี้ไม่ควรติชม เพราะขึ้นแก่ความ
เหมาะสมและจำเป็น อย่างไรเหมาะสม อย่างไรจำเป็น ไม่ขอออกความเห็น เพราะเป็นเรื่อง
ไม่น่าจะเก็บเอามาคิดให้เสียเวลา เรียนกับใครก็ควรจะเชื่อฟังท่านผู้สอนนั่นแหละเป็นการดีแล้ว
สำหรับผู้เขียนเคยผูกแบบให้ศิษย์สมาทานดังนี้ ที่นำมาเขียนก็เพราะศิษย์ส่วนมาก เมื่ออ่าน
หนังสืออุทุมพริกสูตรในหนังสือนั้นไม่มีคำสมาทาน ได้ขอร้องให้พิมพ์คำสมาทานแจก โอกาส
ที่จะพิมพ์ไม่มี เมื่อเขียนหนังสือนี้ ก็ขอเอามาลงไว้ในหนังสือนี้ แบบสมาทานที่ผู้เขียนต่อเสริม
ขึ้นนี้ ต่อไปท่านผู้ใดเห็นว่ายังแคบไปจะต่อเสริมก็ได้ ที่ท่านเห็นว่ากว้างขวางไปจะย่อให้สั้นเข้า
ก็ได้ หรือเห็นว่ารุงรังจะเลิก ไม่ใช้ ใช้เฉพาะแบบในวิสุทธิมรรคก็ตามใจ คำสมาทานที่ผู้เขียน
ผูกขึ้นนี้ ตอนต้นต้องใช้แบบวิสุทธิมรรคก่อน แล้วต่อด้วยคำสมาทานที่ผูกขึ้นเองดังนี้
คำสมาทานที่ผูกขึ้นเอง
"ข้าพเจ้า ขออาราธนาบารมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจก-
พุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ บารมีพระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบๆ
กันมา มีหลวงพ่อปานวัดบางนมโคเป็นที่สุด ขอได้โปรดยกจิตของข้าพเจ้าขึ้นสู่ภาวะพระกรรมฐาน
๔๐ ทัศน์ พระปีติทั้ง ๕ และวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ขอพระกรรมฐานทั้ง ๔๐ ทัศน์ พระปีติทั้ง ๕
และวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ จงมาบังเกิดปรากฏในกายทวาร ในวจีทวาร ในมโนทวารของข้าพเจ้า
ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด"
เสร็จแล้วก็กราบพระสามหน ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่นคง กำหนดลมหายใจเข้าออก
ไว้ในฐานทั้งสาม แล้วกำหนดพิจารณาโทษของนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ จนจิตสงบสงัดสงัดจากนิวรณ์
มีกามฉันทะเป็นต้น ไม่มีนิวรณ์อย่างใดมารบกวนจิตแล้วก็เริ่มพิจารณาหรือภาวนา กรรมฐานที่พึง
ปฏิบัติ ถ้าเป็นกรรมฐานภาวนา เมื่อนิวรณ์ระงับจากจิต จิตว่างจากนิวรณ์แล้ว สมาธิที่ได้ในขณะนั้น
จะเข้าถึงปฐมฌานทันที ถ้าเป็นกรรมฐานพิจารณาจิตก็จะตั้งอยู่ในระดับอุปจารฌานละเอียดอารมณ์
จะแจ่มใส เห็นเหตุเห็นผลชัดเจน หลายท่านที่ชำระจิตแจ่มใสจากนิวรณ์แล้ว เข้าภาวนาจิตเข้าไป
หยุดอยู่ในสมาธิสูง คือฌาน ๔ อย่างนี้ก็มีมาก ฉะนั้น นักปฏิบัติก่อนที่จะภาวนาหรือพิจารณาอย่างอื่น
ให้ชำระจิตจากนิวรณ์เสียก่อน คือใคร่ครวญพิจารณานิวรณ์ ๕ ประการ ให้เห็นเหตุเห็นผลชัดเจน
เห็นโทษของนิวรณ์ จนจิตเอือมระอาจากนิวรณ์ มีความเบื่อหน่ายในนิวรณ์แล้ว จึงค่อย ๆ ภาวนา
หรือพิจารณากรรมฐานที่ฝึก ถ้าจิตยังไม่ว่างจากนิวรณ์ก็อย่าเพ่อภาวนา ขืนทำไปก็เหนื่อยเปล่า
อย่ารีบร้อนเร่งรัดเกินไป ค่อย ๆ ขับไล่นิวรณ์ให้สลายตัวไปเสียก่อน จะช้าเร็วอย่างไรไม่ต้องคำนึง
ถ้านิวรณ์ระงับ ท่านก็จะถึงฌานทันที อย่างน้อยก็ได้ปฐมฌาน และอาจถึงฌาน ๔ ภายในระยะเวลา
อันสั้น จงจำไว้ว่าช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม ตามภาษิตโบราณท่านว่าอย่างนี้ (แต่ช้านานเกินกาล เกิน
ควรก็เละไม่เป็นเรื่อง ภาษิตของผู้เขียน)
มัชฌิมาปฏิปทา
คำว่า มัชฌิมาปฏิปทา คำนี้เป็นถ้อยคำที่พระพุทธสาวกจำกันจนขึ้นใจ เป็นพระพุทธพจน์
ที่ยืนยันถึงผลของการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัตินั้นมีแนวอยู่สามแนวคือ
๑. อัตตกิลมถานุโยค การดำรงความเพียรอย่างเคร่งเครียด กินน้อยนอนน้อยว่ากันหามรุ่ง
หามค่ำ บางรายถึงกับอดมื้อกินมื้อ บางรายพยายามกินน้อยๆ ลดลงไปทุกวันจนร่างกายผอม และ
มีการกลั้นลมหายใจ กลั้นกันนานๆ เพื่อให้มรรคผลนิพพานเกิดขึ้น แต่มันก็ไม่เกิด เพราะมันไม่ใช่
ทางของผลที่ฌานและมรรคผลจะเกิด พระพุทธเจ้าเองท่านยืนยันว่า วิธีนี้พระองค์ทำมาแล้ว สิ้นเวลา
หกปีเต็ม อดข้าวจนมีร่างกายผอมเกือบเดินไม่ไหว ขนที่พระกายเวลาเอามือลูบถึงกับหลุดติดมือ
ออกมา กลั้นลมโดยเอาลิ้นกดเพดานจนลมออกหูอู้ ทำอย่างนี้พระองค์ตรัสว่า เป็นการทรมานตน
ให้ลำบากเปล่าไม่เกิดมรรคผลเลย นอกจากจะเพิ่มทุกขเวทนาให้มากขึ้น สมัยนี้เห็นจะได้แก่การ
อัดขันธ์ของอาจารย์บางคณะ เคยไปพบเขาที่สนามแจง จังหวัดลพบุรี เห็นอุบาสิกาสองคนนั่งคราง
เสียงกระหึ่ม ได้เข้าไปถามว่า โยมเป็นอะไร เพราะคิดว่าแกป่วย ได้รับคำตอบว่า
" อาจารย์ท่านสั่งให้อัดขันธ์ค่ะ "
ถามว่า " อัดขันธ์เป็นอย่างไร "
ได้รับคำตอบว่า " อาจารย์ให้กลั้นใจ "
ฟังแล้วก็สลดใจ คิดว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนมาแล้ว ท่านทำมาแล้วยิ่งกว่านี้ ท่านทราบว่า
ไม่เป็นทางสำเร็จ ไม่คิดเลยว่าสมัยนี้ยังมีคนเอามาสอนกันอีก แบบนี้จงอย่าแตะต้องเลย ผู้เขียนเอง
ก็ลองฝืนและได้รับผล คือ ของเก่าที่ได้มาแล้วพลอยสูญไปด้วย ที่เป็นโรคเส้นประสาท และถูก
ประสาทหลอน ก็เพราะทำนอกรีตนอกรอยอย่างนี้แหละ
๒. กามสุขัลลิกานุโยค มีอารมณ์จิตพัวพันกับกามารมณ์ ไม่ถอนจิตจากกามารมณ์ ยิ่ง
เอากายเข้าไปใกล้ชิดเพศตรงข้ามด้วย ยิ่งเป็นผลร้ายเต็มที่ เป็นทางกั้นมรรคผลโดยตรงทีเดียว
จงระมัดระวังให้มาก อยากได้ดีต้องหลีกเลี่ยงได้ ถ้าอดใจหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เป็นกรรมของสัตว์
ไม่มีใครช่วยได้
๓. มัชฌิมาปฏิปทา ทำพอสบายๆ ไม่เกียจคร้านเกินไป ไม่ขยันเกินไป นั่งนาน เมื่อย
ก็นอน ยืน หรือเดิน ตามแต่จะเห็นว่าสบาย กำหนดอารมณ์ภาวนา หรือพิจารณาไปด้วย จงถือว่า
สมาธิจะตั้งมั่น หรืออารมณ์จะผ่องใสจากกิเลสนั้น มีความสำคัญที่จิตใจไม่ใช่ที่กาย กินอาหารให้อิ่ม
อิ่มพอดีนะ ระวังอย่ารับประทานอาหารที่เป็นโทษแก่ร่างกาย อะไรเคยกินแล้วเป็นพิษเป็นภัยแก่
ร่างกาย ควรเว้นไม่กินต่อไปเด็ดขาด ตัดสังคมที่มีความเห็นไม่เสมอกันเสียให้เด็ดขาด อยู่ใน
สถานที่เงียบสงัด อย่าให้วันเวลาล่วงเลยไปโดยที่มิได้พิจารณาเห็นโทษของสังขาร ทำอย่างนี้น่าจะ
พูดรับรองผล แต่ท่านห้ามพูดก็เลยเฉยไว้เพียงนี้ อย่างน้อย ฌานสมาบัติเป็นของท่านแน่นอน
อย่างดีก็ถึงจุดหมายปลายทาง พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้อย่างนี้ ก็จงใคร่ครวญและปฏิบัติตามเถิด
ไม่เสียเวลาเปล่าแน่
ที่มา board.palungjit.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น