จริต แปลว่า จิตท่องเที่ยว สถานที่จิตท่องเที่ยวหรืออารมณ์เป็นที่ชอบท่องเที่ยวของ
จิตนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงประมวลไว้เป็น ๖ ประการด้วยกัน คือ
๑. ราคจริต จิตท่องเที่ยวไปไปในอารมณ์ที่รักสวยรักงาม คือพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ
กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล รวมความว่าอารมณ์ที่ท่องเที่ยวไปในราคะ คือ ความกำหนัด
ยินดีนี้ บุคคลผู้เป็นเจ้าของจริต มีอารมณ์หนักไปในทางรักสวยรักงาม ชอบการมีระเบียบ สะอาด
ประณีต มีกิริยาท่าทางละมุนละไมนิ่มนวล เครื่องของใช้สะอาดเรียบร้อย บ้านเรือนจัดไว้อย่างมี
ระเบียบ พูดจาอ่อนหวาน เกลียดความเลอะเทอะสกปรก การแต่งกายก็ประณีต ไม่มีของใหม่ก็
ไม่เป็นไร แม้จะเก่าก็ต้องสะอาดเรียบร้อย ราคจริต มีอารมณ์จิตรักสวยรักงามเป็นสำคัญ อย่าตี
ความหมายว่า ราคจริต มีจิตมักมากในกามารมณ์ ถ้าเข้าใจอย่างนั้นพลาดถนัด
๒. โทสจริต มีอารมณ์มักโกรธเป็นเจ้าเรือน เป็นคนขี้โมโหโทโส อะไรนิดก็โกรธ อะไร
หน่อยก็โมโห เป็นคนบูชาความโกรธว่าเป็นของวิเศษ วันหนึ่งๆ ถ้าไม่ได้โกรธเคือง โมโหโทโส
ใครเสียบ้างแล้ว วันนั้นจะหาความสบายใจได้ยาก คนที่มีจริตหนักไปในโทสจริตนี้ แก่เร็ว พูด
เสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ ไม่ใคร่ละเอียดถี่ถ้วน แต่งตัวไม่พิถีพิถัน เป็นคนใจเร็ว
๓. โมหจริต มีอารมณ์จิตลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ชอบสะสมมากกว่าการจ่ายออก ไม่ว่า
อะไรเก็บดะ ผ้าขาดกระดาษเก่า ข้าวของตั้งแต่ใดก็ตาม มีค่าควรเก็บหรือไม่ก็ตามเก็บดะไม่เลือก
มีนิสัยเห็นแก่ตัว อยากได้ของของคนอื่น แต่ของตนไม่อยากให้ใคร ชอบเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน
ไม่ชอบบริจาคทานการกุศล รวมความว่าเป็นคนชอบได้ ไม่ชอบให้
๔. วิตกจริต มีอารมณ์ชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด มีเรื่องที่จะต้องพิจารณานิดหน่อย
ก็ต้องคิดตรองอยู่อย่างนั้น ไม่กล้าตัดสิน คนประเภทนี้เป็นโรคประสาทมาก มีหน้าตาไม่ใคร่สดชื่น
ร่างกายแก่เกินวัย หาความสุขสบายใจได้ยาก
๕. สัทธาจริต มีจิตน้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ เชื่อโดยไร้เหตุไร้ผล พวกที่
ถูกหลอกลวงก็คนประเภทนี้ มีใครแนะนำอะไรตัดสินใจเชื่อโดยไม่ได้พิจารณา
๖. พุทธจริต เป็นคนเจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาดเฉลียว มีปฏิภาณไหวพริบดี
การคิดอ่านหรือการทรงจำก็ดีทุกอย่าง
ประการตามที่กล่าวมาแล้วนี้ บางคนมีอารมณ์ทั้ง ๖ อย่างนี้ครบถ้วน บางรายก็มีไม่ครบ มีมากน้อย
ยิ่งหย่อนกว่ากันตามอำนาจวาสนาบารมีที่อบรมมาในการละในชาติที่เป็นอดีต อารมณ์ที่มีอยู่คล้าย
คลึงกัน แต่ความเข้มข้นรุนแรงไม่เสมอกัน ทั้งนี้ก็เพราะบารมีที่อบรมมาไม่เสมอกัน ใครมีบารมี
ที่มีอบรมมามาก บารมีในการละมีสูงอารมณ์จริตก็มีกำลังต่ำไม่รุนแรง ถ้าเป็นคนที่อบรมในการละ
มีน้อย อารมณ์จริตก็รุนแรง จริตมีอารมณ์อย่างเดียวกันแต่อาการไม่สม่ำเสมอกันดังกล่าวแล้ว
ประโยชน์ของการรู้อารมณ์จริต
นักปฏิบัติเพื่อฌานโลกีย์ หรือเพื่อมรรคผลนิพพานก็ตาม ควรรู้อาการของจริตที่จิต
ของตนคบหาสมาคมอยู่ เพราะการรู้อารมณ์จิตเป็นผลกำไรในการปฏิบัติเพื่อการละด้วยการ
เจริญสมาธิก็ตาม พิจารณาวิปัสสนาญาณก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่การควบคุมความรู้สึกของ
อารมณ์ ถ้าขณะที่กำลังตั้งใจกำหนดจิตเพื่อเป็นสมาธิ หรือพิจารณาวิปัสสนาญาณอารมณ์จิต
เกิดฟุ้งซ่าน ไปปรารถนาความรักบ้าง ความโกรธบ้าง ผูกพันในทรัพย์สมบัติบ้าง วิตกกังวลถึง
เหตุการณ์ต่างๆ บ้าง เกิดอารมณ์สัทธาหวังในการสงเคราะห์ หรือมุ่งบำเพ็ญธรรมบ้าง เกิด
อารมณ์แจ่มใส น้อมไปในความเฉลียวฉลาดบ้าง เมื่อรู้ในอารมณ์อย่างนี้ ก็จะได้น้อมนำเอา
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มาประคับประคองใจให้เหมาะสมเพื่อผลในสมาธิ หรือ
หักล้างด้วยอารมณ์วิปัสสนาญาณเพื่อผลให้ได้ญาณสมาบัติ หรือมรรคผลนิพพาน พระธรรมที่
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อผลของสมาบัติ ท่านเรียกว่า "สมถกรรมฐาน" มีรวมทั้งหมด
๔๐ อย่างด้วยกัน ท่านแยกไว้เป็นหมวดเป็นกองดังนี้
อสุภกรรมฐาน ๑๐ อนุสสติกรรมฐาน ๑๐ กสิณ ๑๐ อาหาเรฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑
พรหมวิหาร ๔ อรูป ๔ รวมเป็น ๔๐ กองพอดี
แบ่งกรรมฐาน ๔๐ ให้เหมาะแก่จริต
เพราะอาศัยที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี มีมาเพื่อเป็นศาสดาทรงสั่งสอนบรรดา
สรรพสัตว์เพื่อให้บรรลุมรรคผล ด้วยหวังจะให้พ้นจากทุกข์อันเกิดจากการเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ
ความเป็นสัพพัญญูของสมเด็จผู้ทรงสวัสดิ์ พระองค์ทรงทราบถึงความเหมาะสมในกรรมฐานต่าง ๆ
ที่เหมาะสมกับอารมณ์จิตที่มีความข้องอยู่ในขณะนั้น ด้วยตรัสเป็นพระพุทธฎีกาไว้ว่า เมื่อใดอารมณ์
จิตของท่านผู้ใดข้องอยู่ในอารมณ์ชนิดใดก็ให้เอากรรมฐานที่พระองค์ทรงประทานไว้ว่าเหมาะสมกัน
เข้าพิจารณา หรือภาวนาแก้ไขเพื่อความผ่องใสของอารมณ์จิต เพื่อการพิจารณาวิปัสสนาญาณ เพื่อ
มรรคผลนิพพานต่อไป ฉะนั้น ขอนักปฏิบัติทั้งหลายจงสนใจเรียนรู้กรรมฐาน ๔๐ กอง และจริต ๖
ประการ ตลอดจนกรรมฐานที่ท่านทรงจัดสรรไว้เพื่อความเหมาะสมแก่จริตนั้นๆ ท่องให้ขึ้นใจไว้
และอ่านวิธีปฏิบัติให้เข้าใจ เพื่อสะดวก เมื่อเห็นว่าอารมณ์เช่นใดปรากฏ จะได้จัดสรรกรรมฐานที่
พระพุทธองค์ทรงกำหนดว่าเหมาะสมมาหักล้างอารมณ์นั้นๆ ให้สงบระงับ ถ้านักปฏิบัติทุกท่านปฏิบัติ
ตามพระพุทธฎีกาตามนี้ได้ ท่านจะเห็นว่า การเจริญสมถะเพื่อทรงฌานก็ดี การพิจารณาวิปัสสนาญาณ
เพื่อมรรคผลนิพพานก็ดี ไม่มีอะไรหนักเกินไปเลย ตามที่ท่านคิดว่าหนักหรืออาจเป็นเหตุสุดวิสัยนั้น
ถ้าท่านปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านจะเห็นว่าไม่หนักเกินวิสัยของคนเอาจริงเลย
กับจะคิดว่าเบาเกินไปสำหรับท่านผู้มีความเพียรกล้าเสียอีก กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ท่านจำแนกแยก
เป็นหมวดไว้ เพื่อเหมาะสมกับจริตนั้นๆ มีดังนี้ คือ
๑. ราคจริต
ราคจริตนี้ ท่านจัดกรรมฐานที่เหมาะสมไว้ ๑๑ อย่างคือ อสุภกรรมฐาน ๑๐ กับกายคตานุสสติ
กรรมฐาน อีก ๑ รวมเป็น ๑๑ อย่างในเมื่ออารมณ์รักสวยรักงามปรากฏขึ้นแก่อารมณ์จิตจงนำกรรมฐาน
นี้มาพิจารณา โดยนำมาพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งจากกรรมฐาน ๑๑ อย่างนี้ ตามแต่ท่านจะชอบใจ
จิตใจท่านก็จะคลายความกำหนัดยินดีในกามารมณ์ลงได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นอะไรเลย ถ้าจิตข้อง
อยู่ในกามารมณ์เป็นปกติ ก็เอากรรมฐานนี้พิจารณาเป็นปกติ จนกว่าอารมณ์จะสงัดจากกามารมณ์
เห็นคนและสัตว์และสรรพวัตถุทั้งหลายที่เคยนิยมชมชอบว่าสวยสดงดงาม กลายเป็นของ น่าเกลียด
โสโครกโดยกฎของธรรมดา จนเห็นว่าจิตใจไม่มั่วสุมสังคมกับความงามแล้วก็พิจารณาวิปัสสนาญาณ
โดยยกเอาขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเราโดย
เอาอสุภกรรมฐานหรือกายคตานุสสติกรรมฐานเป็นหลักชัยทำอย่างนี้ไม่นานเท่าใดก็จะเข้าถึงมรรคผล
นิพพาน การทำถูกไม่เสียเวลานานอย่างนี้
๒. โทสจริต
คนมักโกรธ หรือขณะนั้นเกิดมีอารมณ์โกรธพยาบาทเกิดขึ้นขวางอารมณ์ไม่สะดวกแก่
การเจริญฌาน ท่านให้เอากรรมฐาน ๘ อย่าง คือ พรหมวิหาร ๔ และ วัณณกสิณ ๔ วัณณกสิณ ๔
ได้แก่ นีลกสิณ เพ่งสีเขียว โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง ปีตกสิณ เพ่งสีเหลือง โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว
กรรมฐานทั้งแปดอย่างนี้ เป็นกรรมฐานระงับดับโทสะ ท่านจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสม
แก่ท่าน คือตามแต่ท่านจะพอใจเอามาเพ่งและใคร่ครวญพิจารณา อารมณ์โทสะก็จะค่อยๆ คลายตัว
ระงับไป
๓. โมหะ และ วิตกจริต
อารมณ์ที่ตกอยู่ในอำนาจของความหลงและครุ่นคิดตัดสินใจอะไรไม่เด็ดขาด ท่านให้เจริญ
อานาปานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว อารมณ์ความลุ่มหลงและความคิดฟุ้งซ่านจะสงบระงับไป
4. สัทธาจริต
ท่านที่เกิดสัทธาความเชื่อ เชื่อโดยปกติ หรืออารมณ์แห่งความเชื่อเริ่มเข้าสิงใจก็ตาม
ท่านให้เจริญกรรมฐาน ๖ อย่าง คือ อนุสสติ ๖ ประการ ดังต่อไปนี้ (๑) พุทธานุสสติกรรมฐาน
(๒) ธัมมานุสสติกรรมฐาน (๓) สังฆานุสสติกรรมฐาน (๔) สีลานุสสติกรรมฐาน (๕) จาคา-
นุสสติกรรมฐาน (๖) เทวตานุสสติกรรมฐาน อนุสสติทั้ง ๖ อย่างนี้ จะทำให้จิตใจของท่านที่
ดำรงสัทธาผ่องใส
๕. พุทธิจริต
คนเฉลียวฉลาดรู้เท่าทันเหตุการณ์ และมีปฎิภาณไหวพริบดี ท่านให้เจริญกรรมฐาน ๔
อย่าง ดังต่อไปนี้ (๑) มรณานุสสติกรรมฐาน (๒) อุปสมานุสสติกรรมฐาน (๓) อาหาเรปฏิกูลสัญญา
(๔) จตุธาตุววัฏฐาน รวม ๔ อย่างด้วยกัน
กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตทั้ง ๖ ท่านจัดเป็นหมวดไว้ ๕ หมวด รวมกรรมฐานที่เหมาะ
แก่จริต โดยเฉพาะจริตนั้นๆ รวม ๓๐ อย่าง หรือในที่บางแห่งท่านเรียกว่า ๓๐ กอง กรรมฐาน
ทั้งหมดด้วยกันมี ๔๐ กอง ที่เหลืออีก ๑๐ กอง คือ อรูป ๔ ภูตกสิณ ได้แก่ ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ
วาโยกสิณ อาโปกสิณ ๔ อย่างนี้เรียกภูตกสิณ อาโลกสิณ ๑ และอากาศกสิณอีก ๑ รวมเป็น
๑๐ พอดี กรรมฐานทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ท่านตรัสไว้เป็นกรรมฐานกลางเหมาะแก่จริตทุกอย่าง รวม
ความว่าใครต้องการเจริญก็ได้เหมาะสมแก่คนทุกคน แต่สำหรับอรูปนั้นถ้าใครต้องการเจริญ
ท่านให้เจริญฌานในกสิณให้ได้ฌาน ๔ เสียก่อน แล้วจึงเจริญในอรูปได้ มิฉะนั้นถ้าเจริญอรูป
เลยทีเดียวจะไม่มีอะไรเป็นผล เพราะอรูปละเอียดเกินไปสำหรับนักฝึกสมาธิใหม่
ที่มา board.palungjit.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น