"การให้ทานในแบบของพระพุทธศาสนา"
สามารถอ่านได้ที่ด้านล่างเว็บนะครับ

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

ลักษณะและการพิจารณาโทษของท่านพระยายม


หลวงพ่อเล่าเรื่อง...การพิจารณาโทษของพระยายม

"........ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และพระคุณเจ้าที่เคารพ เมื่อวันพุธก่อน กระผมได้นำท่านพุทธศาสนิกชนและบรรดาพระคุณเจ้าที่เคารพ ไปนั่งพักอยู่ที่ สำนักของพระยายม แล้วก็กำลังนั่งที่เก้าอี้แก้วมณี

อันนี้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าอาจจะสงสัยว่า "สำนักของพระยายม" สำนักนี้ ถ้าเราอ่านตามหนังสือไตรภูมิจะรู้สึกว่า เป็นสำนักที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณ มีแต่บุคคลที่น่ากลัว หน้าตาถมึงทึงด้วยประการทั้งปวง

แม้แต่พระยายมเองก็เหมือนกัน นักแสดงโทรทัศน์ทำเขาให้พระยายมเสียสองเขา แสดงว่าพระยายมมีเขาและมีสภาพดุร้าย

สำหรับคนของพระยายมก็เหมือนกัน ที่เรียกกันว่า ยมทูต อันนี้ เขามีสัญญลักษณ์ มีหัวกะโหลกไขว้ และมีหัวกะโหลกเป็นสัญญลักษณ์ อันไม่จริง ความจริงคนที่เขียนอย่างนั้น เป็นการวาดภาพเอาเอง

คล้าย ๆ กับว่าการเขียนรูปของโจร โจรผู้ร้ายเขามักจะเขียนหน้าตาถมึงทึงน่ากลัว มีหนวดเครารุงรัง แต่โดยที่แท้แล้ว โจรจริง ๆ มีรูปร่างหน้าตาสะสวยยิ่งกว่าเราเสียอีก


นี่แหละบรรดาท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และบรรดาพระคุณเจ้าที่เคารพที่รักฟัง ความจริงไม่ตรงกัน คือ ถ้าหากมาฟังจากพระที่ท่านท่องเที่ยวในเมืองนรกได้ ท่านบอกว่า จะมีอาการเป็น ๒ อย่างด้วยกัน การเห็นในระยะแรกถ้ากำลังฌานของเราดี แต่ว่าวิปัสสนาญาณไม่ดี จะเห็นคนในที่นั้น หน้าตาไม่สะสวยไม่งดงาม มีหน้าตาน่ากลัว


แต่มาถึงขั้นวิปัสสนาญาณดีแล้ว เรียกว่า "วิปัสสนาญาณเข้าขั้น" เข้า ระดับที่ไม่ถอยหลังลงมา มีอารมณ์แจ่มใจตัดอุปาทานได้เด็ดขาด อันนี้จะเห็นสำนักของ พระยายม อีกสภาพหนึ่ง คือ เป็นสภาพที่เต็มไปด้วยความสวยสดงดงาม


นี่..เรื่องของตาก็มีความสำคัญมาก ถ้าคุณตามัวเห็นของสวยก็มัวไปด้วย ส่วนคนเห็นตาดีก็เห็นได้ตามความเป็นจริง นี่ว่ากันถึงตาเนื้อ ตาเนื้อมีสภาพฉันใด ตาใจก็เหมือนกันนะ พระคุณเจ้าที่เคารพ ตาใจนี่มีความสำคัญมาก โดยมากมักจะยึดตาฌาน ตาเนื้อหรือความรู้สึก คือ มีความนึกคิดไว้ก่อนว่า สภาพของสวรรค์ เป็นยังงั้น นี่ความตรงกันระหว่างตากับความเป็นจริงมันมีอยู่ แล้วอารมณ์ของจิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตของบุคคลใดมีอุปาทานอยู่ อันนั้นจะเห็นของจริงไม่ได้ เอาละ เรื่องนี้ขอผ่านไป เพราะเป็นหลักวิชาน่าเบื่อ


เป็นอันว่า เวลานี้ท่านพุทธศาสนิกชน และพระคุณเจ้าที่กำลังติดตามรายการทัศนาจรนรก กำลังนั่งอยู่ที่เก้าอี้แก้วมณี เห็นหรือไม่เห็น? เห็นหรือยัง? ถ้าไม่เห็นก็นึกเห็นเอาก็แล้วกัน เพราะความจริงไม่ได้พาไปจริง ๆ เป็นการเล่าสู่กันฟัง


ท่านทั้งหลายฟังไว้ แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติถึงแล้วจะได้ไม่สงสัยว่า สภาพของสำนักของพระยายมเป็นยังไง เวลาที่เราได้ฌานโลกีย์อย่างต่ำ หรือว่าฌานโลกีย์อย่างสูง เราเห็นสภาพเป็นยังไง มัว ๆ เหมือนกับบ้านธรรมดา หน้าตาในสำนักนั้นเหมือนคนธรรมดา


ตานี้ พระที่ท่านได้อภิญญาด้วย แล้วก็ได้อรหัตผลว่ากันยังงี้ก็แล้วกัน ได้อรหัตผลด้วย แล้วก็ทรงอภิญญาด้วย บอกว่าไม่ใช่ยังงั้น ความจริง พระยายมมีความสวยสดงดงาม มีวิมานเป็นที่อยู่ บางท่านย่องเขียนเอาไว้ว่า พระยายมเป็น "เวมานิกเปรต" เป็นเปรตจำพวกหนึ่งที่อยู่วิมาน ว่าเข้าไปนั่น นี่ไม่ใช่พระอรหันต์ว่านะ คนกินเหล้าเขียนหนังสือให้ชาวบ้านอ่าน เขาเขียนยังงั้น เขาเลยเอาอารมณ์เหล้ามาเขียน


สภาพสำนักพระยายม


เป็นอันว่า เวลานี้ท่านนั่งอยู่ใน "สำนักของพระยายม" แล้วมองดูไปข้างหน้า หันหน้าไป ทางทิศตะวันตก นะ เรานั่งทางด้านทิศตะวันออก บริเวณอาคารหลังใหญ่ ภายในเป็นห้องโถงใหญ่ มองเห็นหรือไม่เห็น ไม่เห็นก็นึกตามไปก็แล้วกัน เป็นห้องโถงใหญ่ มีทางเข้าอีกด้านหนึ่ง ทางเดียวกับที่พามา


แต่ว่าเป็นประตูที่ ๒ เข้ามาทางพื้นราบเรียบ แล้วในบริเวณนั้นตอนกลาง ๆ ตรงประตูเข้า เข้ามาพอดี มีบัลลังก์สำหรับนั่ง มีพระยายมนั่งคอยพิพากษาโทษสัตว์ คำว่า สัตว์ในที่นี้ ก็หมายถึง คนที่ลงไปในนรก ที่เขามาเชิญตัวไป มีบัลลังก์ตั้งอยู่ตรงกลาง


ด้านหน้าของพระยายม เบื้องขวามีเทวดาท่านหนึ่งนั่งอยู่ มีเครื่องทรงพื้นสีแดง เครื่องทรงประดับไปด้วยแก้วมณีแพรวพราว สวยงาม หน้าตาสดชื่น โต๊ะอีกโต๊ะหนึ่ง อยู่เบื้องซ้ายของพระยายม มีนายบัญชีใหญ่นั่งอยู่ ถือบัญชี แต่งเครื่องทรงมีพื้นเป็นสีเหลืองแล้วก็เครื่องทรง ที่เสื้อกางเกงก็ประดับไปด้วยแก้วมณี


พระยายมเองก็เหมือนกัน มีเครื่องทรงเป็นพื้นสีเหลืองเป็นทอง แล้วก็มีเครื่องประดับไปด้วยแก้วมณี ความจริง พระยายม ก็ดี เทวดา คนที่เป็นหัวหน้าใหญ่ฝ่ายติดตามคนที่ตายก็ดี นายบัญชีก็ดี มีความสวยสดงดงามหน้าตาอิ่มเอิบ สวยงาม มีอารมณ์ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีใครหน้าบึ้งขึงจอ ไม่มีอาการดุร้าย ความโหดร้ายใด ๆ ไม่ปรากฏเลยในริ้วรอยของหน้าท่าน


อันนี้เรามาดูกันต่อไป ว่าพระยายมท่านจะทำยังไง โน่น..บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน สำนักนี้ไม่มีเวลาว่างในการชำระความ เห็นไหม ข้างหน้านั่นใครตัวใหญ่ ๆ ในมือถืออาวุธ นำคนเข้ามาประมาณสัก ๕ - ๖ คน ทุกคนที่เดินติดตามเข้ามาหน้าซีดเซียว คล้าย ๆ กับว่าจะถูกพิพากษาลงโทษอย่างหนักเพราะกฎของกรรม


เมื่อเข้ามาถึงภายในแล้ว ทุกคนก็นั่งแสดงความเคารพแด่พระยายม พระยายมท่านก็หันไปถามนายบัญชีว่า คนนี้มีโทษอะไรบ้างในการทำความผิดในสมัยที่เป็นมนุษย์ นาย บัญชีก็เปิดบัญชีดู แล้วก็รายงานความผิด คือ การทำความชั่วในสมัยที่เป็นมนุษย์ของคนนั้น แล้วพระยายมก็ถามเขาว่าทำความชั่วอย่างนั้นจริงไหม

เรื่องของเมืองผี เวลาเขาชำระคดี ไม่ต้องหาพยาน ผีไม่สับปลับเหมือนคน คนเรานี่หน้าตาดี ๆ นะ แต่ความจริง ความจริงใจนี่นะอาจจะหาไม่ได้สำหรับคนที่มีหน้าตาสวยแล้วก็มีฐานะดี แต่ เมืองผีไม่เป็นยังงั้น เมืองผีไม่มีอะไรโกหกกัน เมืองผีไม่มีอะไรปกปิดกัน สิ่งใดจริงเขาก็รับว่าจริง สิ่งใดไม่จริงเขาก็รับว่าไม่จริง

สมมติว่า ท่านพระยายมถามถึงความโหดร้ายต่าง ๆ ต้องรับทุกอย่าง เรื่องนั้นจริงเจ้าค่ะ เรื่องจริง จริงขอรับ รับจริงหมดทุกข้อ เรียกว่า ความผิดที่ปรากฎในบัญชีนี่รับหมดทุกข้อ ไม่มีการปฏิเสธ แล้วคราวนี้พระยายมจะทำยังไง เมื่อจำเลยสารภาพโทษ ก็สั่งจำคุกลดกึ่งหนึ่งตามอำนาจของศาลในเมืองมนุษย์ยังงั้นรึ?


ความจริงยังก่อน ท่านพุทธศานิกชน ท่านจะเห็นน้ำใจของพระยายมกันตอนนี้ ฟังให้ดีนะ ฟังกันไว้ แล้วก็จำกันไว้ รู้ตามความเป็นจริง ในเมื่อคนใดก็ตามที่เข้าไปในสำนักของพระยายม เมื่อนายบัญชีกล่าวโทษโจทย์ความผิดที่แล้วมา เมื่อจบลงไปแล้ว แล้วก็สัตว์นรก คือ คนที่ตายไปแล้วรับไปตามความเป็นจริง ตอนนี้พระยายมยังไม่สั่งตัดสิน ยังไม่ลงโทษตามกฎของนรก กลับย้อนถามถึงความดี ว่าท่านเคยอยู่ในเมืองมนุษย์น่ะ

1. เคยให้ทานไหม?
2. เคยรักษาศีลไหม?
3. เคยไปฟังเทศน์ไหม?
4. เคยเจริญสมถกรรมฐานบ้างไหม?
5. ความจริงท่านถามยาว ถามทีละข้อ ๆ



สมมติว่า เคยให้ทานแก่สัตว์เดียรัจฉานบ้างไหม? เคยให้ทานแก่คนยากจนเข็ญใจบ้างไหม? เคยช่วงสงเคราะห์ทำกิจการงานต่าง ๆ กับเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงบ้างไหม? เคยทำงานเป็นส่วนสาธารณประโยชน์บ้างไหม? เคยช่วยเขาสร้างวัดวาอารามบ้างไหม? ใครเขาบอกบุญเรี่ยไร เคยทำบุญมาบ้างไหม? เคยรักษาศีลบ้างไหม? เคยฟังเทศน์ไหม? เคยเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เคยบูชาพระ เคยไหว้พระ เคยไหว้พ่อไหว้แม่ด้วยความเคารพบ้างไหม? อย่างนี้เป็นต้น


เรียกว่า ความดีทุกอย่างที่จัดว่าเป็นบุญที่พระพุทธเจ้าทรงสอน พระยายมนำหัวข้อมาถามนำ ถ้าถามแล้ว คนที่ตายไปนั้น เรียกว่า สัตว์นรก เขายังไม่ตอบ เขายังนิ่งอยู่ ท่านก็ปล่อยให้คิดสักประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วก็ย้อนถามขึ้นต้นใหม่


รวมความว่า ถามกัน ๓ รอบ ค่อย ๆ ถามจี้จุดทีละจุด แต่ว่าท่านคนใดที่ถูกสอบสวนปรากฏไม่มีเลย นึกไม่ออก เมื่อนึกไม่ออกแล้ว ท่าน ก็จะบอกว่า นี่..เสียใจเหลือเกินนะ ที่ความดีที่ทำไว้นึกไม่ถึง จิตของเธอเวลาจะตาย เวลาจะมาที่นี่ จิตน้อมไปส่วนอกุศลมาก ก็เห็นจะต้องเป็นไปตามกฎของกรรม ท่านว่าอย่างนั้น ท่านก็บอกว่า


เอ้า..ถ้ายังงั้น ถ้านึกถึงความดีที่ทำไม่ได้ละก้อ ก็เป็นไปตามกฎของกรรม แล้วต่อจากนั้นไปนายนิริยบาล (ผีรักษานรก) ก็นำลงนรกไป ไปที่ทะเลเพลิง ไปตามอำนาจของความผิด นี่ดูจริยาของพระยายม


แล้วบรรดาท่านพุทธศานิกชนที่มาด้วย นั่งฟังแล้วก็นั่งดู ดูหน้าของพระยายม ดูหน้าของเทวดาฝ่ายติดตามคน คือ หัวหน้าใหญ่นะ ดูหน้าของนายบัญชี ทุกคนมีแต่อารมณ์ยิ้มระรื่นชื่นใจ น่าชื่นใจ รูปร่างหน้าตาก็อิ่มเอิบสวยสดงดงาม มีผิวเนื้อละเอียดค่อนข้างเหลือง นี่..เราจะเห็นถึงความดุร้ายได้ยังไง


ตานี้ สมมติว่าบังเอิญที่เขาถามถึงความผิด สัตว์นรกรับหมด แต่ว่ามาถามถึงความดี พอถามถึงความดีเข้า บังเอิญสัตว์นรกคนใดคนหนึ่งก็ตาม นึกถึงความดีอย่างใดอย่างหนึ่งได้


สมมติว่าเขาถามถึงว่า เคยปล่อยสัตว์ที่มันจะถึงแก่ความตายบ้างไหม? ให้มันรอดจากความตาย ถ้าคนนั้นนึกขึ้นมาได้ว่า เคยปล่อย คำเดียวเท่านี้แหละ โทษกรรมใหญ่ ๆ ที่เคยทำมาแล้วทั้งหมด พระยายมบอกว่า งดไว้ก่อน ขอให้งดไว้ก่อน นี่ ความดีของเขายังมีอยู่ ให้ไปรับผลของความดีก่อน


เห็นไหม..น้ำใจของพระยายม น้ำใจของเจ้าหน้าที่ในสำนักของพระยายม ไม่ใช่น้ำใจของสัตว์นรก เป็นน้ำใจของพรหม พระยายมก็ดี นายบัญชีก็ดี เทวดาผู้เป็นหัวหน้าติดตามคนก็ตาม มีน้ำใจเต็มไปด้วยพรหมวิหารสี่


ฉะนั้น สำนักของพระยายมนี้จึงไม่มีใครรูปร่างน่าเกลียด น่ากลัว คนที่ทรงพรหมวิหารสี่ มีเมตตาเป็นปุเรจาริก คือ หน้าคอยยิ้มเสมอ อารมณ์สดชื่น แล้วน้ำใจก็สดชื่น แล้วจะมีอะไรเป็นที่น่าเกลียดน่ากลัวไม่มี หนังสือเขาเขียนผิดไปเองต่างหาก เขาเข้าใจพลาดไป คิดว่าสำนักของพระยายมมีแต่คนโหดร้าย

ที่มาธรรมะ http://board.palungjit.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

การให้ทานในแบบของพุทธศาสนา

ในสเตตัสก่อนผมเขียนไว้ไม่ครบ
อาจทำให้หลายท่านเข้าใจผิดบางประเด็น
จึงขอแจกแจงให้ละเอียดขึ้นครับ

เมื่อพูดถึง ‘การให้ทานในแบบของพุทธ’
ต้องเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงการถวายสังฆทาน
แต่มุ่งเอา ‘จิตคิดให้ เพื่อสละความตระหนี่’ เป็นหลัก

แต่เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์แก่ผู้ให้และผู้รับ
นับเอาความสุข ความเจริญ
ที่ผลิดอกออกผลในปัจจุบันกาลและอนาคตกาล
พระพุทธเจ้าก็ตรัสจำแนกแจกแจงไว้ดังนี้

ทานอันดับหนึ่ง ไม่มีอะไรชนะได้ คือธรรมทาน
(สัพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ)
ธรรมทานคือการให้ความรู้ ให้มุมมอง ให้แรงบันดาลใจ
ที่จะนำไปสู่การมีที่พึ่งให้ตนเอง ทั้งในการใช้ชีวิตนี้
และการเวียนว่ายตายเกิดต่อๆไปในชีวิตหน้า
ยกเอาสิ่งที่จะทำให้เห็นชัดว่าทำไมธรรมทานจึงเป็นที่หนึ่ง
ต้องดูจากที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
การตอบแทนพ่อแม่อันสมน้ำสมเนื้อกับที่ท่านให้ชีวิตเรา
คือการทำให้พ่อแม่ (ซึ่งยังไม่เข้าใจธรรม)
ได้เกิดศรัทธาที่ตั้งมั่นในธรรม มีใจตั้งมั่นในทานและศีล
ถ้าทำได้ ก็เรียกว่าเป็นการให้ธรรมเป็นทานอันยิ่งใหญ่ที่สุด
เพราะช่วยผู้ให้กำเนิดชีวิตเรา ปลอดภัยในการเดินทางไกล
ต่อให้ลูกกตัญญู แบกพ่อแม่ไว้บนบ่าให้อึฉี่รดหัวเราตลอดอายุขัย
ก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนได้เท่าการให้ธรรมเป็นทานแก่พวกท่าน

ทานอันดับสอง คือการรักษาศีล
เพราะเมื่อรักษาศีลแล้ว
สัตว์ที่มีสิทธิ์ได้รับความเดือดร้อนจากการเบียดเบียนของเรา
หรือคู่เวรที่จำต้องถูกเราประหัตประหารหรือทำร้ายกัน
ก็จะได้รับการปลดปล่อยจากเขตอันตราย
หรือได้รับการปกป้องให้ปลอดภัยจากศีลของเรา
แม้เขาทำให้เราผูกใจเจ็บ ก็ได้รับอภัยทานจากเรา
ไม่ต้องตีกันไปตีกันให้เจ็บช้ำน้ำใจกันยืดเยื้อต่อไปอีก

ทานอันดับสาม คือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมอง
เมื่อให้สิ่งที่เรามีเป็นทาน ย่อมได้ชื่อว่าสละความหวงแหน
อันเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น
นับเป็นต้นทางหลุดพ้นจากการยึดติดผิดๆ

ประเด็นคือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมองนั้น
ถ้าจะดูว่าให้กับใครจัดว่าให้ผลใหญ่ที่สุด
ก็ต้องมองว่า ‘ผู้มีจิตบริสุทธิ์’ หรือ ‘ผู้พยายามทำจิตให้บริสุทธิ์’
คือผู้ที่ทำให้เรารู้สึกดีที่สุด
ลองเทียบดูระหว่างช่วยพระกับช่วยโจร
อย่างไหนทำให้ปลื้มมากกว่ากัน

การทำทานกับสมณะในพุทธศาสนานั้น ถือว่าเลิศสุด
(ย้ำว่าในมุมมองของพุทธเรา)
ดังเช่นที่ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้หลายแห่งว่า
เป็นเหตุให้มีจิตผูกพันกับพุทธศาสนา
เป็นปัจจัยให้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น การช่วยทุกอย่าง มีผลดีหมด
อย่างเช่น ช่วยกลับใจโจร
ก็ได้ผลเป็นความไม่เดือดร้อนของเราเองในปัจจุบัน
และในกาลข้างหน้าเมื่อเราหลงผิด
ก็ย่อมมีผู้มาช่วยเปลี่ยนความคิดให้เห็นถูกเห็นชอบได้ง่าย เป็นต้น ครับ

ที่มา Dungtrin