"การให้ทานในแบบของพระพุทธศาสนา"
สามารถอ่านได้ที่ด้านล่างเว็บนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

นักปฏิบัติจะต้องมีพากเพียรพยายามอย่างสูง


ถาม : ในแต่ละวัน ในแต่ละช่วงเวลา หน้าตาเราจะไม่เหมือนกันในแต่ละช่วง มีอะไรมาแทรกมาสิงหรือเปล่าคะ ?

ตอบ : ไม่ใช่หรอก..อยู่ที่อารมณ์เรา อยากจะให้หน้าเหมือนกันทั้งวัน ต้องรักษาอารมณ์ใจให้มั่นคง ถ้าอารมณ์ไม่มั่นคงก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามรัก โลภ โกรธ หลง ลองไปภาวนาให้อารมณ์ใจทรงตัว

จะมีอยู่ช่วงใหญ่ๆ ของนักปฏิบัติภาวนา ที่อารมณ์ใจทรงตัวแล้วไม่อยากยุ่งกับใคร มีความสุขอยู่กับการภาวนา จะเป็นใบหน้าไร้อารมณ์ พอถึงเวลาก็คนอื่นจะเบื่อขี้หน้าไปเอง อาตมานี่โดนสาวๆ เขาต่อว่ามาเยอะแล้วว่าไร้อารมณ์ ไม่ว่าเขาจะตื่นเต้นแค่ไหนอาตมาก็ “อ๋อ...หรือ ?” โดนไปเต็มๆ

คราวนี้ช่วงที่อารมณ์ใจทรงตัวจะทรงตัวจริงๆ ทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งหลับทั้งตื่นอารมณ์ใจเท่ากันหมด คราวนี้อยู่ยาวเป็นเดือนๆ คนรอบข้างเลยเบื่อขี้หน้าหมด เพราะกลายเป็นคนไม่รู้ร้อนรู้หนาว

ถาม : คิดว่าสิ่งที่เจอเป็นบททดสอบทำให้เราตั้งมั่นในพระรัตนตรัยค่ะ ?

ตอบ : แปลว่าตอนนี้เราเริ่มหวั่นไหวแล้ว ตั้งหน้าตั้งตาทำไปให้มากกว่านี้ จะได้มั่นคงในพระรัตนตรัย ไม่ใช่มาลังเลสงสัย ให้ ตั้งใจเลยว่าไม่มีใครที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าคุณพระศรีรัตนตรัยอีกแล้ว ไม่ว่าใครจะมาสิงใคร จะมาแทรกอย่างไรก็ตาม เรายึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แล้วก็ภาวนาของเราไป แค่นั้นแหละ

บุคคลถ้าปฏิบัติไปแล้วเกิดความมั่นคงทางอารมณ์ คนอื่นจะพึ่งพามาก ถ้ามั่นคงมากเดี๋ยวก็มีเรือพ่วงเยอะ สมัยนี้ไม่ค่อยได้เห็นเรือพ่วงกันแล้วใช่ไหม ? เรือลำหนึ่งโยงไปอีกลำหนึ่ง มาก ๆ เข้าเรือลำที่นำก็แทบตายกว่าจะลากไปได้

แต่ในเรื่องของเรือพ่วงนั้นอัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเรือข้าว เรือที่ลากจูงลำนิดเดียว แรกๆ นี่เร่งเครื่องแทบตายก็ไม่ไหว แต่พอเรือเริ่มเคลื่อนที่คราวนี้แรงเฉื่อยมี ก็ไปได้เรื่อยๆ เหมือนอย่างกับมดลากช้าง เด็กรุ่นหลังๆ คงไม่ได้เห็นเรือข้าวแล้ว เป็นเรือไม้หลังคาโค้งๆ มีกระแชงคือแผ่นที่เขาสานคลุมไว้ แต่ละลำสามารถบรรทุกข้าวได้มากพอๆ กับรถสิบล้อ

สรุปว่า นักปฏิบัติต้องพากเพียรพยายามอย่างสูง เพราะต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยชิน แต่การกระทำให้อยู่ในลักษณะผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่ใช่เห็นช้างขี้แล้วก็ไปขี้ตามช้าง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ พอปรับได้มุมที่ตัวเองถนัดแล้วเริ่มดี คราวนี้สิ่งขวางต่างๆ ก็จะเข้ามา ขอให้รู้ว่านั่นเป็นสิ่งปกติ

เขายิ่งขัดขวางเรารุนแรงเท่าไร ก็แปลว่าเราใกล้มรรคผลเท่านั้น ดังนั้น..แทนที่จะถอยให้บุกต่อไปข้างหน้า อีกไม่กี่ก้าวก็จะพ้นแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะโดนเขาหลอก ก็คือถอยมาเสียก่อน เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ค่อยๆ ปฏิบัติไป พอมีประสบการณ์หลายครั้งเข้า เดี๋ยวก็รู้ว่าควรทำอย่างไร

พวกที่เขาขวางแรงๆ ยังรู้ตัวง่าย พวกที่เขาขวางนิ่มๆ ด้วยการดึงให้ไปสนใจเรื่องอื่น อันนั้นนะยาก..ปัจจุบันแม่ชีเถรีโดนอย่างนั้นแหละ ไปอาศัยอยู่ที่วัดทางบ้าน วัดก็มอบหมายงานให้สารพัด กระทั่งเวลาหายใจยังไม่มี แล้วจะไปปฏิบัติอย่างไร ? นั่นก็คือการขวาง แต่เขาขวางอย่างมีชั้นเชิง ขวางแบบคิดว่าเรามีงานทำเต็มที่แล้ว ว่างเมื่อไรค่อยไปภาวนา แต่ปรากฏว่าเช้ายันค่ำไม่มีเวลาภาวนาเลย..!


สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
ณ บ้านวิริยบารมี เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

ที่มา board.palungjit.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

การให้ทานในแบบของพุทธศาสนา

ในสเตตัสก่อนผมเขียนไว้ไม่ครบ
อาจทำให้หลายท่านเข้าใจผิดบางประเด็น
จึงขอแจกแจงให้ละเอียดขึ้นครับ

เมื่อพูดถึง ‘การให้ทานในแบบของพุทธ’
ต้องเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงการถวายสังฆทาน
แต่มุ่งเอา ‘จิตคิดให้ เพื่อสละความตระหนี่’ เป็นหลัก

แต่เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์แก่ผู้ให้และผู้รับ
นับเอาความสุข ความเจริญ
ที่ผลิดอกออกผลในปัจจุบันกาลและอนาคตกาล
พระพุทธเจ้าก็ตรัสจำแนกแจกแจงไว้ดังนี้

ทานอันดับหนึ่ง ไม่มีอะไรชนะได้ คือธรรมทาน
(สัพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ)
ธรรมทานคือการให้ความรู้ ให้มุมมอง ให้แรงบันดาลใจ
ที่จะนำไปสู่การมีที่พึ่งให้ตนเอง ทั้งในการใช้ชีวิตนี้
และการเวียนว่ายตายเกิดต่อๆไปในชีวิตหน้า
ยกเอาสิ่งที่จะทำให้เห็นชัดว่าทำไมธรรมทานจึงเป็นที่หนึ่ง
ต้องดูจากที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
การตอบแทนพ่อแม่อันสมน้ำสมเนื้อกับที่ท่านให้ชีวิตเรา
คือการทำให้พ่อแม่ (ซึ่งยังไม่เข้าใจธรรม)
ได้เกิดศรัทธาที่ตั้งมั่นในธรรม มีใจตั้งมั่นในทานและศีล
ถ้าทำได้ ก็เรียกว่าเป็นการให้ธรรมเป็นทานอันยิ่งใหญ่ที่สุด
เพราะช่วยผู้ให้กำเนิดชีวิตเรา ปลอดภัยในการเดินทางไกล
ต่อให้ลูกกตัญญู แบกพ่อแม่ไว้บนบ่าให้อึฉี่รดหัวเราตลอดอายุขัย
ก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนได้เท่าการให้ธรรมเป็นทานแก่พวกท่าน

ทานอันดับสอง คือการรักษาศีล
เพราะเมื่อรักษาศีลแล้ว
สัตว์ที่มีสิทธิ์ได้รับความเดือดร้อนจากการเบียดเบียนของเรา
หรือคู่เวรที่จำต้องถูกเราประหัตประหารหรือทำร้ายกัน
ก็จะได้รับการปลดปล่อยจากเขตอันตราย
หรือได้รับการปกป้องให้ปลอดภัยจากศีลของเรา
แม้เขาทำให้เราผูกใจเจ็บ ก็ได้รับอภัยทานจากเรา
ไม่ต้องตีกันไปตีกันให้เจ็บช้ำน้ำใจกันยืดเยื้อต่อไปอีก

ทานอันดับสาม คือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมอง
เมื่อให้สิ่งที่เรามีเป็นทาน ย่อมได้ชื่อว่าสละความหวงแหน
อันเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น
นับเป็นต้นทางหลุดพ้นจากการยึดติดผิดๆ

ประเด็นคือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมองนั้น
ถ้าจะดูว่าให้กับใครจัดว่าให้ผลใหญ่ที่สุด
ก็ต้องมองว่า ‘ผู้มีจิตบริสุทธิ์’ หรือ ‘ผู้พยายามทำจิตให้บริสุทธิ์’
คือผู้ที่ทำให้เรารู้สึกดีที่สุด
ลองเทียบดูระหว่างช่วยพระกับช่วยโจร
อย่างไหนทำให้ปลื้มมากกว่ากัน

การทำทานกับสมณะในพุทธศาสนานั้น ถือว่าเลิศสุด
(ย้ำว่าในมุมมองของพุทธเรา)
ดังเช่นที่ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้หลายแห่งว่า
เป็นเหตุให้มีจิตผูกพันกับพุทธศาสนา
เป็นปัจจัยให้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น การช่วยทุกอย่าง มีผลดีหมด
อย่างเช่น ช่วยกลับใจโจร
ก็ได้ผลเป็นความไม่เดือดร้อนของเราเองในปัจจุบัน
และในกาลข้างหน้าเมื่อเราหลงผิด
ก็ย่อมมีผู้มาช่วยเปลี่ยนความคิดให้เห็นถูกเห็นชอบได้ง่าย เป็นต้น ครับ

ที่มา Dungtrin