"การให้ทานในแบบของพระพุทธศาสนา"
สามารถอ่านได้ที่ด้านล่างเว็บนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การวางอารมณ์ใจในการตัดสักกายทิฎฐิของตนเอง




การวางอารมณ์ใจในการตัดสักกายทิฎฐิ

ถาม : ทีนี้เวลาภาวนาปกติจะใช้ว่า กายนี้ไม่ใช่ของเรา?
ตอบ : จ้ะ ดีเลยจ้ะ คราวนี้มันไม่ใช่ภาวนาเฉย ๆ มันต้องเห็นอย่างนั้นจริง ๆ เห็นอย่างนั้นจริง ๆ แล้ว จิตยอมรับจริง ๆ โยมลองถามตัวเองว่าร่างกายนี้ใช่ของโยมมั้ย? แล้วให้ใจมันตอบออกมาจริง ๆ ว่า ใช่ หรือไม่ใช่ ไม่ใช่ว่า ตอบ เพราะรู้ว่า ต้องตอบว่าไม่ใช่ถึงจะถูก ถ้าอย่างนั้นใช้ไม่ได้ มันต้องเป็นคำตอบที่ออกจากใจจริง ๆ ว่าไม่ใช่ของของเรา เราไม่สามารถทำให้จิตใจมันยอมรับได้

ก็ดูว่าร่างกายนี่มันประกอบจากอะไร มันก็มีธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม คราวนี้ดินน้ำไฟลมนี้ก็ต้องแยกเป็นส่วน ๆ ส่วนที่แข็งเป็นแท่งเป็นก้อนเป็นชิ้นเป็นอันคือ ดิน ประกอบไปด้วยขน ผมเล็บฟัน หนัง กระดูกเส้นเอ็น พวกอวัยวะภายในอย่าง ตับไต ไส้ ปอด กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ เหล่านี้เป็นต้น เป็น ธาตุดิน มันจับได้ต้องได้ มันแค่นมันแข็งเป็นชิ้นเป็นอันเป็นท่อน เราก็แยกเป็นกองไว้ส่วนหนึ่ง ธาตุน้ำคือส่วนที่เหลวไหลไปมาในร่างกายของเรา มีเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมัน ปัสสาวะ อย่างนี้เป็นต้น ไขมันนี้ก็คือไขมันในเลือดน่ะ แล้วก็ธาตุลมก็คือสิ่งที่เคลื่อนไหวไปมา พัดไปมาในร่างกายของเรา ได้แก่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่ค้างอยู่ในท้องในไส้ที่เขาเรียกว่าแก็ส ลมที่พัดไปมาทั่วร่างกายไม่ว่าจะพัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดลงทั่วกายที่เขาเรียกว่า ความดันโลหิต แยกไปไว้อีกส่วนหนึ่ง ส่วนที่เป็นความอบอุ่นของร่างกายเรียกว่าธาตุไฟ มีธาตุไฟที่เผาร่างกายให้เสื่อมโทรมลง ธาตุไฟที่เผาผลาญย่อยอาหาร ธาตุไฟที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโตขึ้น เหล่านี้เป็นธาตุไฟ

พอโยมแยกออกเป็นสี่ส่วน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก ไส้ ปอด เหล่านั้นเป็นกองหนึ่ง เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ เหล่านี้แยกไว้กองหนึ่ง พวกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในท้องในไส้ ลมพัดไปมาในเบื้องสูง เบื้องต่ำทั่วร่างกายไว้กองหนึ่ง ความอบอุ่นในร่างกายก็คือไฟธาตุที่ย่อยอาหาร ที่กระตุ้นร่างกายให้เติบโต ให้เสื่อมโทรมแยกไว้กองหนึ่ง หมดเกลี้ยงพอดีไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา

พอเราจับเจ้าสี่กองนี้มาปั้นเข้าใหม่นะ เป็นหัวเป็นหูเป็นหน้าเป็นตาขึ้นมา เราก็ไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา ความจริงมันเป็นเปลือกที่เราอาศัยอยู่ ร่างกายนี้เหมือนกับรถคันหนึ่ง ตัวเราที่เป็นจิตคือคนขับรถ ถึงเวลาที่มันพังไปตามกาลตามเวลาของมัน เราที่เป็นจิตก็ต้องไปหารถคันใหม่ตามบุญตามกรรมที่เราสร้างเอาไว้

เมื่อถึงวาระนั้นถึงตอนนั้นถึงจะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริง ๆ พยายามแยกแยะอย่างนี้บ่อย ๆ ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะละเอียดได้ จนกระทั่งจิตใจมันยอมรับจริง ๆ ว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ของเรา ร่างกายคนอื่นก็ไม่ใช่ของเขา ทั้งเขาและเรามีสภาพเดียวกันก็คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

พอจิตมันยอมรับแล้วต่อไปเราแค่คิดว่า ร่างกายนี้มันไม่ใช่ของเรา มันยอมรับก็ใช้ได้ ต่อไปก็ไม่ต้องคิดมากตอนแรก ๆ นี่ต้องคิดเหมือนยังกับเหวี่ยงแห จะเอาปลาทั้งทะเล แต่หลังจากที่คัดไปคัดมา ก็เลือกเอาปลาตัวที่ดีที่สุด มันก็เหลือนิดเดียว ตอนแรกของการปฏิบัติต้องกระจายออกกว้างมาก แต่พอรวบเข้าแล้วมันจะเหลือแก่นแค่นิดเดียวเท่านั้นใช่มั้ย? ถ้าทำจนใจยอมรับอย่างนี้ต่อไปแล้วจะสบาย เพราะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา พอโยมเกาะตัวธรรมดาติด หากินได้ตลอดชาตินี้และก็ชาติต่อ ๆ ไปเลย คราวนี้แยกออกแล้วยังจ้ะ

สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนมิถุนายน ๒๕๔๔
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ
ที่มา - http://board.palungjit.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

การให้ทานในแบบของพุทธศาสนา

ในสเตตัสก่อนผมเขียนไว้ไม่ครบ
อาจทำให้หลายท่านเข้าใจผิดบางประเด็น
จึงขอแจกแจงให้ละเอียดขึ้นครับ

เมื่อพูดถึง ‘การให้ทานในแบบของพุทธ’
ต้องเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงการถวายสังฆทาน
แต่มุ่งเอา ‘จิตคิดให้ เพื่อสละความตระหนี่’ เป็นหลัก

แต่เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์แก่ผู้ให้และผู้รับ
นับเอาความสุข ความเจริญ
ที่ผลิดอกออกผลในปัจจุบันกาลและอนาคตกาล
พระพุทธเจ้าก็ตรัสจำแนกแจกแจงไว้ดังนี้

ทานอันดับหนึ่ง ไม่มีอะไรชนะได้ คือธรรมทาน
(สัพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ)
ธรรมทานคือการให้ความรู้ ให้มุมมอง ให้แรงบันดาลใจ
ที่จะนำไปสู่การมีที่พึ่งให้ตนเอง ทั้งในการใช้ชีวิตนี้
และการเวียนว่ายตายเกิดต่อๆไปในชีวิตหน้า
ยกเอาสิ่งที่จะทำให้เห็นชัดว่าทำไมธรรมทานจึงเป็นที่หนึ่ง
ต้องดูจากที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
การตอบแทนพ่อแม่อันสมน้ำสมเนื้อกับที่ท่านให้ชีวิตเรา
คือการทำให้พ่อแม่ (ซึ่งยังไม่เข้าใจธรรม)
ได้เกิดศรัทธาที่ตั้งมั่นในธรรม มีใจตั้งมั่นในทานและศีล
ถ้าทำได้ ก็เรียกว่าเป็นการให้ธรรมเป็นทานอันยิ่งใหญ่ที่สุด
เพราะช่วยผู้ให้กำเนิดชีวิตเรา ปลอดภัยในการเดินทางไกล
ต่อให้ลูกกตัญญู แบกพ่อแม่ไว้บนบ่าให้อึฉี่รดหัวเราตลอดอายุขัย
ก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนได้เท่าการให้ธรรมเป็นทานแก่พวกท่าน

ทานอันดับสอง คือการรักษาศีล
เพราะเมื่อรักษาศีลแล้ว
สัตว์ที่มีสิทธิ์ได้รับความเดือดร้อนจากการเบียดเบียนของเรา
หรือคู่เวรที่จำต้องถูกเราประหัตประหารหรือทำร้ายกัน
ก็จะได้รับการปลดปล่อยจากเขตอันตราย
หรือได้รับการปกป้องให้ปลอดภัยจากศีลของเรา
แม้เขาทำให้เราผูกใจเจ็บ ก็ได้รับอภัยทานจากเรา
ไม่ต้องตีกันไปตีกันให้เจ็บช้ำน้ำใจกันยืดเยื้อต่อไปอีก

ทานอันดับสาม คือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมอง
เมื่อให้สิ่งที่เรามีเป็นทาน ย่อมได้ชื่อว่าสละความหวงแหน
อันเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น
นับเป็นต้นทางหลุดพ้นจากการยึดติดผิดๆ

ประเด็นคือการให้ทรัพย์ ให้แรงงาน ให้กำลังสมองนั้น
ถ้าจะดูว่าให้กับใครจัดว่าให้ผลใหญ่ที่สุด
ก็ต้องมองว่า ‘ผู้มีจิตบริสุทธิ์’ หรือ ‘ผู้พยายามทำจิตให้บริสุทธิ์’
คือผู้ที่ทำให้เรารู้สึกดีที่สุด
ลองเทียบดูระหว่างช่วยพระกับช่วยโจร
อย่างไหนทำให้ปลื้มมากกว่ากัน

การทำทานกับสมณะในพุทธศาสนานั้น ถือว่าเลิศสุด
(ย้ำว่าในมุมมองของพุทธเรา)
ดังเช่นที่ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้หลายแห่งว่า
เป็นเหตุให้มีจิตผูกพันกับพุทธศาสนา
เป็นปัจจัยให้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น การช่วยทุกอย่าง มีผลดีหมด
อย่างเช่น ช่วยกลับใจโจร
ก็ได้ผลเป็นความไม่เดือดร้อนของเราเองในปัจจุบัน
และในกาลข้างหน้าเมื่อเราหลงผิด
ก็ย่อมมีผู้มาช่วยเปลี่ยนความคิดให้เห็นถูกเห็นชอบได้ง่าย เป็นต้น ครับ

ที่มา Dungtrin